กพท.คุมเข้ม 38 สนามบินประกาศเขตปลอดภัยแนวร่อน 50 จังหวัด

“การบินพลเรือน” ร่อนหนังสือถึง 50 จังหวัด ขอความเห็นร่างประกาศคุมพื้นที่เขตปลอดภัยแนวร่อนลงสนามบิน 38 แห่งทั่วประเทศ ห้ามสารพัดกิจกรรมก่อกวนทัศนวิสัยการบิน ปล่อยแสงไฟแหยงตานักบิน คลื่นไฟฟ้า จุดพลุ ดอกไม้ไฟ งานมหกรรม มหรสพ บอลลูนล่าม ว่าว บังคับใช้ ต.ค.นี้

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ กพท.อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 50 จังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของสนามบินทั้ง 38 แห่ง ภายใต้การกำกับของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เพื่อให้ความเห็นชอบร่างประกาศ กพท. เรื่อง การดำเนินกิจกรรมภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ พ.ศ. …เป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.เดินอากาศ (ฉบับที่ 14) 2562 คาดว่าจะรวบรวมความเห็นได้เสร็จภายในเดือน ก.ค. และจะสามารถประกาศใช้ประกาศฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ โดย กพท.สามารถลงนามในประกาศได้ทันที ไม่ต้องส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติ

“ประกาศฉบับนี้จะบังคับใช้กับสนามบินทั่วประเทศ เพราะมีการดำเนินการกิจกรรมบางประเภทภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการขึ้นลงของเครื่องบิน ยังไม่มีระเบียบใช้ในการกำกับดูแล ไม่ใช่เกิดจากข้อพิพาทกรณี ทอท.กับเซ็นทรัลวิลเลจ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปีที่แล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศฉบับดังกล่าวจะห้ามกิจกรรมต่าง ๆ 1.การปล่อยแสงไฟภาคพื้นขึ้นสู่อากาศ เพื่อป้องกันอันตรายจากการที่นักบินอาจมองเห็นไฟภาคพื้นที่อยู่ในบริเวณสนามบินหรือแนวร่อนลงสนามบินและเข้าใจผิดว่าเป็นระบบไฟภาคพื้นสำหรับการบิน

2.การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปล่อยคลื่นไฟฟ้าไปรบกวนการใช้คลื่นความถี่วิทยุ เช่น อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ตัดสัญญาณคลื่นวิทยุ โทรศัพท์มือถือ วิทยุสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งการนำมาใช้ในบริเวณเขตปลอดภัยในการเดินอากาศของสนามบินมีโอกาสสูงที่จะรบกวนต่อสัญญาณคลื่นวิทยุที่ใช้ในระบบการเดินอากาศและเป็นอันตรายต่อการบิน

3.กิจกรรมที่ก่อให้เกิดเสียงกระทบหรือเสียงกระแทก หรือเสียงดังต่อเนื่องแบบคงที่ ซึ่งรบกวนการปฏิบัติการบินหรือการให้บริการการเดินอากาศ เช่น การจุดพลุดอกไม้ไฟ งานมหกรรม งานมหรสพ หรือการก่อสร้างในบริเวณใกล้พื้นที่ปฏิบัติงานของหน่วยงานให้บริการการเดินอากาศ เพราะการรับเสียงเกินมาตรฐานเป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อทั้งร่างกาย จิตใจประสิทธิภาพการทำงาน และการสื่อสาร

4.การปล่อยไอน้ำหรือควัน เพื่อป้องกันอันตรายจากควันหรือไอน้ำในบริเวณใกล้สนามบิน อาจรบกวนการมองเห็นของนักบินหรือทำให้เกิดกลิ่นควันหรือกลิ่นสารเคมีในอากาศยาน 5.การปล่อยบอลลูนล่ามและว่าวภายในพื้นที่แนวร่อนหรือพื้นผิวไต่ระดับ เพื่อป้องกันอันตรายโดยเฉพาะเชือกล่ามซึ่งเป็นการยากที่นักบินบนอากาศยานจะสามารถมองเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการบินในสภาพอากาศปิดด้วยความสูงต่ำในบริเวณสนามบิน 6.การปล่อยแสงเลเซอร์ เพื่อป้องกันอันตรายหากส่องเข้าตานักบิน จะมีผลกระทบกับการมองเห็นตามความเข้มและระยะห่างของจุดปล่อยแสงเลเซอร์

7.การปล่อยคลื่นวิทยุหรือคลื่นแฮรตเชียนซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในลักษณะวิทยุกระจายเสียง เพื่อป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ที่ใช้ในการเดินอากาศจากสถานีวิทยุชุมชน ซึ่งที่ผ่านมามีการส่งคลื่นความถี่แปลกปลอมออกมาตรงกับคลื่นความถี่ที่ใช้งานควบคุมการจราจรทางอากาศจำนวนมาก นอกจากรบกวนสถานีภาคพื้นดินของระบบสื่อสารแล้ว ยังรบกวนอากาศยานทำการบินในห้วงอากาศ เนื่องจากคลื่นความถี่สามารถเดินทางได้ตามแนวสายตา รวมถึงรบกวนสัญญาณบอกทิศทางของระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศอีกด้วย โดยประกาศฉบับนี้จะขยายการบังคับใช้ให้ครอบคลุมผู้ปล่อยคลื่นวิทยุทั้งหมด

กิจกรรมดังกล่าวสามารถกระทำได้ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ปล่อยแสงเลเซอร์ จะมี 3 ระดับ คือ เขตปลอดแสงเลเซอร์ ต้องมีความสูงไม่เกิน 600 เมตรจากระดับพื้นดิน และแสงเลเซอร์ต้องมีค่า MPE ไม่เกิน 50 นาโนวัตต์/ตารางเซนติเมตร, ระดับเขตควบคุมอันตราย ต้องมีความสูงไม่เกิน 3,000 เมตร และแสงเลเซอร์ต้องมีค่า MPE ไม่เกิน 5 ไมโครวัตต์/ตารางเซนติเมตร เป็นต้น