ทอท. จ่ายชดเชยค่ามลพิษทางเสียง “สุวรรณภูมิ” หมื่นล้าน

ทอท. ทุ่ม 3.9 แสนล้านเดินหน้าพัฒนา 6 สนามบิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ ทั้งขยายพื้นที่เดิม สร้างแห่งที่ 2 เพิ่มรันเวย์ รถไฟฟ้า เทอร์มินอลหลังใหม่รับผู้โดยสาร 243.7 ล้านคน ไม่สนโควิดทุบคนใช้บริการหดเหลือ 38.81 ล้านคน คาด ต.ค. ปี 2565 ฟื้นตัว เร่งเคลียร์ชดเชยหมื่นล้าน ผู้ได้รับผลกระทบมลพิษเสียงสุวรรณภูมิ ลุยรันเวย์ 3 เตรียมดึงเอกชนพัฒนาที่ดินผุดโปรเจ็กต์แอร์พอร์ตซิตี้ สร้างรายได้ระยะยาว

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังไม่คลี่คลาย แต่ ทอท.ยังคงเดินหน้าการลงทุนให้เป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบิน เตรียมงบประมาณสำหรับขยายสนามบินของ ทอท. จำนวน 6 สนามบิน วงเงิน 388,110 ล้านบาท ให้รองรับผู้โดยสารในอนาคตที่คาดว่าอยู่ที่ 243.7 ล้านคน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ รวมถึงการก่อสร้างสนามบินภูเก็ตและเชียงใหม่แห่งที่ 2

“วางกรอบระยะเวลาพัฒนาในปี 2560-2578 แต่ละสนามบินจะใช้เงินลงทุน 30,000-40,000 ล้านบาท ขณะนี้ใช้จ่ายไปแล้ว 90,000 ล้านบาท เป็นการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่กำลังก่อสร้าง มีอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 คืบหน้าแล้วกว่า 88% อยู่ระหว่างตกแต่งสถาปัตยกรรม ภายใน ภูมิทัศน์ ติดตั้งงานระบบลำเลียงกระเป๋า ไฟฟ้า เครื่องกล รถไฟฟ้า APM แต่ผลจากโควิด ทำให้เลื่อนเปิดบริการเป็นเดือน เม.ย. 2565 จะเป็นช่วงที่คาดว่าเที่ยวบินและผู้โดยสารจะเริ่มฟื้นตัวเป็นปกติ หลังโควิดผู้โดยสารลดจากปี 2562 จำนวน 143 ล้านเที่ยวคน อยู่ที่ 38.81 ล้านคน”

เดินหน้าต่อ – สนามบินเชียงใหม่ 1 ใน 6 สนามบินในความดูแลของ ทอท. ซึ่งมีแผนจะลงทุนอีกกว่า 3.8 แสนล้านขยายพื้นที่ใหม่ เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารรวม 243 ล้านคน

แผนพัฒนาสนามบินทั่วประเทศ

สำหรับการพัฒนาสนามบินอื่น ๆ เช่น สนามบินภูเก็ต จะเพิ่มพื้นที่ air side ทำหลุมจอดเครื่องบินเพิ่ม คาดจะรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านคน/ปี, สนามบินเชียงใหม่จะสร้างอาคารอเนกประสงค์ และขยายอาคารผู้โดยสารไปทางใต้ทำให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านคน/ปี

สนามบินดอนเมืองเฟส 3 ลงทุนประมาณ 37,000 ล้านบาท จะรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 30 ล้านคน/ปี เป็น 40 ล้านคน/ปี อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามแผนจะเสร็จปี 2567-2568 ยังมีเพิ่มระบบรถไฟฟ้า APM เชื่อมต่อพื้นที่ฝั่งเหนือและฝั่งใต้ของสนามบิน และพัฒนาอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เป็นต้น

“แผนงานมีเลื่อนออกไปบ้าง เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก เช่น โครงการยังไม่ผ่าน EIA ขณะที่โควิดไม่ได้ส่งผลกระทบกับการลงทุน”

ทั้งนี้ยอมรับว่าช่วงโควิดรายได้ของบริษัทลดลง ส่งผลให้กระแสเงินสดที่มีทยอยลดลงตามไปด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการบางแห่งไม่สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ตามเดิม ต้องเลื่อนชำระออกไป 6 เดือน อีกด้านหนึ่งกระทรวงการคลังยังไม่ได้ระงับการส่งรายได้เข้าคลัง อาจจะต้องขอเลื่อนนัดจ่ายเงินเข้าคลัง ซึ่งปัจจุบัน ทอท.มีกระแสเงินสดในมือ 50,000 ล้านบาท สามารถทยอยลงทุนได้ ในปี 2564 ตั้งเป้าเบิกจ่ายที่ 30,000 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าโครงการรันเวย์ที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิได้รับอนุมัติผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EHIA) แล้ว แต่มีเงื่อนไข ทอท.ต้องจ่ายค่าชดเชยผู้ได้รับผลกระทบมลพิษทางเสียงยังเหลือ 8-9% ให้เสร็จก่อน ซึ่งโครงการนี้ลงทุน 21,795 ล้านบาท มีชดเชยมลพิษทางเสียง10,000 ล้านบาท ค่าสร้างรันเวย์ 10,474 ล้านบาท ที่มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง

นอกจากนี้ ทอท.ยังเตรียมพัฒนาโครงการที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการบินเพื่อเพิ่มรายได้ที่หายไปจากโควิด จากธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (cargo) จะจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (certify hub) และเร่งแผนพัฒนาโครงการแอร์พอร์ตซิตี้ ที่ดินแปลง 37 อยู่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ และที่ดินแปลง 723 ไร่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ รอปรับสีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ถึงจะคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาได้