“ซีพี” ตั้ง 7 ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมพัฒนารถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

“ซีพี” ตั้ง 7 ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ย้ำขับเคลื่อนธุรกิจคู่ความยั่งยืน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศไทย จึงตั้งใจคิดให้ครบทุกมิติ และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ และต่อคนในพื้นที่

โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา เข้าร่วมเป็น “คณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน” โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ประกอบด้วยผู้ทรงวุฒิ 7 ท่าน

ได้แก่ 1.ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 2.ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง 3.ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

4.ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5.ผศ.ดร.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 6.นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี และ 7.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

นายศุภชัยกล่าวว่า การพัฒนาด้านความยั่งยืนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะมุ่งเน้น 2 ประเด็น คือ 1.การพัฒนาความยั่งยืนด้านสังคม 2.การพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

“โครงการนี้ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานแรกของภูมิภาคอาเซียน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง และส่งเสริมประเทศเพื่อนบ้านในแถบ CLMV ให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน” นายศุภชัยกล่าว

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่คือเส้นทางสายโอกาส และสัญลักษณ์ความภูมิใจของประเทศไทย ตลอดเส้นทาง 220 กิโลเมตรจะสร้างโอกาส สร้างงาน และถือเป็นอีกหนึ่งโครงการระดับชาติที่จะทำให้การเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศไทย เหมือนโครงการระดับโลกในอดีต เช่น เขื่อนฮูเวอร์ในสหรัฐอเมริกา หรือรถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่น

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นความภูมิใจของประเทศไทยหรือ Pride of Thailand และในด้านความยั่งยืนต้องคำนึง 4 ด้าน ได้แก่ 1.Environmental friendly  2.Circular economy 3.Inclusive economy 4.Glass roots development
และมั่นใจว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะเป็นเครื่องมือสร้างความเจริญให้แก่คนในพื้นที่และทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า

ขณะที่ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นของคนไทยทุกคน จะต้องสร้างให้เกิดพฤติกรรมการเดินทางรถไฟ  ด้วยการส่งเสริมแนวคิด เดินทางโดยรถไฟช่วยลดมลพิษ และเป็นการลดใช้พลังงาน นอกจากนี้ต้องพัฒนาคนและพัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้แข็งแรง รักษาวัฒนธรรมและอาชีพของท้องถิ่นไว้ให้ได้ตลอดจนรักษาเงื่อนไขระดับนิเวศของสังคมและสิ่งแวดล้อมไว้ให้ได้

สำหรับ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยดำเนินการในรูปแบบ “แพลตฟอร์มแห่งปัญญา” ด้วยการจัดทำผังภูมิศาสตร์เชื่อมโยง 5 จังหวัดที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินผ่าน คือ  กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา,  ชลบุรี และ ระยอง

โดยวางรูปแบบการพัฒนา 3 ด้าน คือ 1.การพัฒนาอย่างชาญฉลาด โดยใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นนวัตกรรมหรือเครื่องมือในการเชื่อมต่อพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อกระจายความเจริญ 2.การพัฒนาคุณภาพชีวิต คือการคิดให้ครบทุกด้าน ให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม และ 3.สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ต้องคำนึงถึงการปกป้องธรรมชาติ รักษาสมดุลของระบบนิเวศน์

ขณะที่มุมมองนักวิชาการในพื้นที่ภาคตะวันออก ผศ.ดร.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องเน้นการน้อมนำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตอบโจทย์ 4 ประเด็นคือ ประโยชน์จากรถไฟฟ้า ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงการเตรียมการเพื่อลดผลกระทบ   ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาใน 4 มิติ คือ พัฒนาโครงการ พัฒนาบุคลากร พัฒนาชุมชน และพัฒนาประเทศ

นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า โครงการรถจะต้องเชื่อมโยงกับชุมชน ส่งเสริมสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อสร้างความภาคภูมิใจทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ ทั้งยังสนับสนุนเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs เพื่อกระจายรายได้อย่างทั่วถึงไม่เพียงแค่พื้นที่ตามสถานี แต่ขยายไปยังพื้นที่รอบจังหวัดด้วย

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้ ต้องตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ เข้าใจทุกการใช้ชีวิต และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมระยะยาวได้ แต่ต้องวางกรอบแนวคิดใหม่เพื่อให้เกิด “For Living Together” เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายคือรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะต้องสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีขึ้นกับทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ