เปิดสัมปทาน 15 ปี “สถานีขนส่งสินค้าเชียงของ” เอกชนหวั่นร้าง-รายได้ไม่คุ้ม

สถานีขนส่งสินค้าเชียงของ

ตอกเสาเข็มไปเมื่อปี 2561 โครงการ Truck Terminal หรือศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าเชียงของ เนื้อที่ 335 ไร่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ ต.เวียง อ.เชียงของ มี “ขบ.-กรมการขนส่งทางบก” เป็นผู้รับผิดชอบการลงทุน 2,193 ล้านบาท

เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การขนส่งสินค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ด่านเชียงของ มีสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย เป็นจุดเชื่อมต่อการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ ใน 3 ประเทศ จากไทย ทะลุลาว และจีนตอนใต้

เฟสแรกเปิดบริการสิ้นปีนี้

ความคืบหน้าล่าสุด “จิรุตม์ วิศาลจิตร” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ปัจจุบันการก่อสร้างระยะที่ 1 ใช้เงินลงทุน 2,193 ล้านบาท มีค่าเวนคืน 779 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 1,360 ล้านบาท คืบหน้าแล้ว 90.728% จะเสร็จเปิดบริการภายในปี 2563 นี้ จะรองรับปริมาณสินค้าได้ 270,000 TEU

ประกอบด้วย 1.อาคารคลังสินค้าศุลกากร 2.อาคารหอพัก 3.อาคารคลังสินค้าทัณฑ์บน 4.อาคารบริหารงานส่วนกลาง 5.ลานจอดรถและเปลี่ยนหัวลาก-หางลาก 6.ลานจอดรถ 7.โรงอาหารส่วนบริหารงานกลาง 8.อาคารซ่อมบำรุงส่วนบริหารงานกลาง และ 9.อาคาร CFS หลังที่ 1

ขณะที่การลงทุนในเฟสที่ 2 จะเริ่มในปี 2568 หลังรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สร้างแล้วเสร็จ โดยกรมจะใช้งบฯก่อสร้างอีก 660.43 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.อาคารคลังสินค้าขาออก 2.อาคาร CFS หลังที่ 2 3.อาคารสำนักงานฝ่ายปฏิบัติการ 4.อาคารคลังสินค้าขาเข้า 5.ลานกองตู้คอนเทนเนอร์ 6.โรงอาหารส่วนปฏิบัติงาน 7.อาคารซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล 8.อาคาร CCA และ 9.อาคาร X-ray เมื่อสร้างเสร็จจะทำให้ศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 440,000 TEU

“เฟส 1 สร้างเสร็จแล้ว ในช่วงแรกกรมจะเข้าไปบริหารงานก่อน 1 ปี ระหว่างรอประมูลหาเอกชนร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน 2562 ในการบริหารศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี คาดว่าจะได้เอกชนมาดำเนินการปลายปี 2564 และเข้าบริหารในช่วงปี 2565”

ดึงเอกชน PPP 787 ล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการนี้เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 15 ปี โดยเอกชนต้องเข้ามารับผิดชอบการบริหารการเดินระบบและซ่อมบำรุง (O&M) ทั้งหมด และต้องส่งมอบกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ของโครงการที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนกลับมาให้กรมการขนส่งทางบก เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ

“รัฐจะลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ เอกชนจะลงทุน 787 ล้านบาท ในระยะแรก 29 ล้านบาท ค่าดำเนินการ 410 ล้านบาท และค่าซ่อมบำรุง 348 ล้านบาท”

หลังจากนี้ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ จะเร่งร่างกำหนดขอบเขตงาน (TOR) ให้เสร็จต้นปี 2564 คาดว่าได้เอกชนปลายปีและเซ็นสัญญาไตรมาส 1 ปี 2565 ตลอดอายุสัญญา รัฐจะได้รับผลตอบแทน 147 ล้านบาท จากค่าสัมปทานปีที่ 1-5 จ่าย 8 ล้านบาท/ปี

ปีที่ 6-10 จ่าย 9.2 ล้านบาท/ปี และปีที่ 11-15 จ่าย 10.58 ล้านบาท/ปี ยังไม่รวมส่วนแบ่งรายได้ที่เอกชนต้องให้รัฐอีก

เปิดสเป็กเอกชน

สำหรับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอมีทั้งนิติบุคคลรายเดียวและกิจการร่วมค้า โดยเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันมากกว่า 50% ส่วนกิจการร่วมค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ หากได้รับการคัดเลือกต้องจดทะเบียนให้เสร็จใน 30 วัน นับจากวันที่ ครม.เห็นชอบ และมีทุนจดทะเบียนชำระเต็มมากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป

ส่วนประสบการณ์และผลงานต้องเคยบริหารใน 9 กิจการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ได้แก่ ศูนย์ขนส่งหรือศูนย์กระจายสินค้า, สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง, สถานีขนส่ง, คลังสินค้า, ลานวางกองสินค้า, บริการขนถ่ายสินค้า, บริการขนส่งบริการรับจัดการขนส่ง, ย่านกองเก็บตู้สินค้า ลานวางกองตู้สินค้า โรงพักสินค้าเพื่อตรวจปล่อยของขาเข้า

และบรรจุของขาออกที่ขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์นอกเขตทำเนียบท่าเรือและการพัฒนาพื้นที่ให้บริการศูนย์โลจิสติกส์ มีวงเงินไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท หรือมีรายรับไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท

หวั่นลงทุนไม่คุ้ม

อย่างไรก็ตาม ในเวทีรับฟังความคิดเห็นของเอกชนเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา มีเอกชนมาร่วมรับฟังและแสดงความเห็นประมาณ 20 ราย อาทิ บจ.ไทยแสง จันทบุรี โลจิสติกส์, บจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ โลจิสติก ในเครือ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี, บจ.ดอนเมืองพัฒนา ผู้บริหารตลาดสี่มุมเมือง, บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) และ บจ.อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล เป็นต้น

เอกชนกังวล 3 เรื่อง คือ 1.ทุนจดทะเบียนนิติบุคคลที่สูงเกินไป ซึ่งตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า กำหนดทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท จะได้เฉพาะเอกชนที่มีขนาดธุรกิจในระดับกลางและใหญ่ เอกชนรายย่อยเข้าไม่ถึงประกอบกับบริเวณที่ตั้งของศูนย์เปลี่ยนถ่ายไม่มีดีมานด์มากพอ มีแค่โครงการถนน R3A เชื่อมประเทศจีน และ สปป.ลาว ทำให้ความน่าสนใจไม่มากพอ เมื่อเทียบกับศูนย์เปลี่ยนขนส่งสินค้า จ.นครพนม ที่มีรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวมาเชื่อมปี 2564

2.การก่อสร้างรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดความน่าสนใจการลงทุน โดยตัวแทนจากเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กล่าวว่า แม้ว่าตามแผนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุจะเปิดให้บริการในปี 2568 แต่มีความเป็นไปได้สูงที่แผนจะเลื่อนอีก ส่งผลต่อเอกชนที่จะเข้ามาบริหารเพราะอาจจะต้องรอมากกว่า 3 ปี กว่ารถไฟทางคู่จะมา เป็นความเสี่ยงชนิดหนึ่งจึงควรมีมาตรการบางอย่างเพื่อลดความเสี่ยง

และ 3.ควรให้มี exit cost (ค่าบอกเลิกสัญญา) เป็นเงื่อนไขไว้ในสัญญา โดยสภาพการณ์ธุรกิจโลจิสติกส์ผันผวนสูง ระยะเวลาบริหาร 15 ปี จึงนานไปจะทำให้เอกชนมีความเสี่ยงสูง หากเอกชนรับภาระของโครงการไม่ไหว จึงควรให้มีการระบุถึงการจ่ายค่า exit cost เมื่อยกเลิกสัญญาก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทาน