ช.การช่าง รายได้-กำไรปี’62 วูบพันล้าน ลุยประมูลรถไฟฟ้า-ทางคู่

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ช.การช่าง (CK) เปิดเผยว่า ปี 2563 ช.การช่างยังคงมุ่งไปที่การพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ตามโมเดลธุรกิจแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ซึ่งสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว คล่องตัว และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ โดยอาศัยความแข็งแกร่งของกลุ่ม CK ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของบริษัทต่าง ๆในเครือทั้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ. ทีทีดับบลิว (TTW) และ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP)

โดยการดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานมาต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้บริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ไม่มากนัก และยังสามารถสร้างกระแสรายได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง มั่นใจในความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลงานโครงการสาธารณูปโภคใหม่ต่าง ๆ ของภาครัฐทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่คาดว่าจะกลับมาเดินหน้าตามแผนในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยสู่ New Normal

นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2562 บริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) มูลค่า 38,515 ล้านบาท มีผลงานความสำเร็จที่สำคัญและเป็นความภาคภูมิใจของบริษัทคือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีซึ่งก่อสร้างเสร็จสิ้น ส่งมอบ และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนต.ค. 2562

และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายระยะที่ 2 ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ซึ่งได้ทยอยเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ ก.ย. 2562 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ครบทั้งสายในเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความท้าทายด้านวิศวกรรม แต่บริษัทสามารถส่งมอบงานคุณภาพได้ตามแผนงานและภายใต้งบประมาณ

“ปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 24,797 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 จำนวน 6,378.57 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 1,778 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 จำนวน 716.31 ล้านบาท”

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 บริษัทไม่ได้รับผลกระทบทางตรงใด ๆ ต่อรายได้ก่อสร้าง และได้รับผลกระทบทางอ้อมเล็กน้อยจากการลงทุนเท่านั้น เนื่องจากเรามีแผนบริหารความเสี่ยงและแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ Business Continuity Plan (BCP) ที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินธุรกิจทั้งในโครงการก่อสร้างและสำนักงานใหญ่ พร้อมแนวปฏิบัติในการดูแลความปลอดภัย สุขอนามัยอย่างเต็มที่ กลยุทธ์การมุ่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานหลากหลาย ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบด้านรายได้น้อย เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น

ส่วนการดำเนินธุรกิจในอนาคตและแผนการประมูลงานของเราก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 นี้ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นกลจักรหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะมีการทยอยเปิดประมูลออกมาตามแผน จึงพร้อมเดินหน้าสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐเพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยไปสู่ New Normal

โดยโครงการที่เราให้ความสำคัญ คือ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์ มูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 77,000 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ที่ผ่าน EIA แล้ว 3 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท

สำหรับในต่างประเทศ ขณะนี้ CKP อยู่ระหว่างเจรจาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ในลาว มูลค่าใกล้เคียงกับ ไซยะบุรี มั่นใจว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2563 ไว้ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินการ มีความคืบหน้าตามแผนที่วางไว้ โดย ณ เดือนธันวาคม 2563 มีรายละเอียด ดังนี้ 1.โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา สัญญาที่ 3 ความคืบหน้าร้อยละ 84

2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สัญญาที่ 1 ความคืบหน้าร้อยละ 44.80, สัญญาที่ 2 ความคืบหน้าร้อยละ 36.70 และสัญญาที่ 5 ความคืบหน้าร้อยละ 48.20

และ 3.โครงการทางพิเศษพระรามม 3-ดาวคะนอง สัญญาที่ 4 สะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ความคืบหน้าร้อยละ 0.1