“เอสซีจี-ดาว” MOU 2 กรมถนนคมนาคมผุด “ถนนจากพลาสติกรีไซเคิล”

5 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนชั้นนำ MOU ศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลาสติกเหลือใช้
เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2563 กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมทางหลวง (ทล.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานทาง” (MOU SIGNING EVENT PROPOSAL)

โดยมี นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG และนายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัทดาวฯ ร่วมในพิธี

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือด้านวิชาการ ทรัพยากร และการบริหารจัดการที่ภาคเอกชน โดย SCG และกลุ่มบริษัท ดาว จะนำประสบการณ์และองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาการทำถนนพลาสติกรีไซเคิลที่ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ผ่านกระบวนการทดสอบตามมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ และใช้งานจริงในพื้นที่ของภาคเอกชนต่าง ๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นต้น มาใช้ศึกษาและพัฒนาโครงการนี้

โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมศึกษางานวิชาการ รวมถึงผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้เข้ามาร่วมศึกษาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานการนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต

หากโครงการฯ สำเร็จ จะสามารถขยายผลไปสู่การทำถนนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยได้จริง ช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ โดยเฉพาะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ถนนจากพลาสติกรีไซเคิลความยาว 1 กม.ที่มีหน้ากว้างถนน 6 เมตร จะสามารถนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ได้ถึงประมาณ 3 ตัน หรือเท่ากับถุงพลาสติกเกือบ 900,000 ใบ ปัจจุบัน SCG และกลุ่มบริษัท ดาว ได้ร่วมกับภาคเอกชนทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตต้นแบบที่มีพลาสติกเหลือใช้เป็นส่วนผสม รวมความยาวถนน 7.7 ก,” สามารถนำพลาสติกเหลือใช้หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าได้ รวม 23 ตัน

นายสราวุธกล่าวว่า กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานที่ก่อสร้าง และบำรุงรักษาทางหลวงทั่วประเทศกว่า 70,000 กม. ต่อ 2 ช่องจราจร ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และหนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ของกรมคือ การพัฒนาและส่งเสริมการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม การใช้เทคโนโลยี การสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการผสานเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการพัฒนาระบบทางหลวง

“กรมมีองค์ความรู้ทั้งด้านงานวิจัย งานวิเคราะห์และตรวจสอบ และมีมาตรฐานต่าง ๆ ด้านงานทางมามากกว่า 108 ปี การที่ได้ร่วมมือกับกรมทางหลวงชนบท เอสซีจี กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการร่วมกันวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมาตรฐานทางใหม่ ๆ ในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในอนาคต จะนำพลาสติกเหลือใช้มาใช้ในงานก่อสร้าง และบำรุงรักษาเส้นทาง จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มความแข็งแรงของถนนและลดมลพิษสิ่งแวดล้อม สามารถยืดอายุการใช้งานจาก 7 ปี เป็น 9 ปี”

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการศึกษาและพัฒนาการนำพลาสติกเหลือใช้ มาใช้ประโยชน์ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ได้มีการทำแล้วเห็นผล

สำหรับการนำมาใช้ส่วนผสมจะสามารถลดปริมาณยางมะตอยลงได้ถึง 6-10% ซึ่งยืนยันความปลอดภัย ร่วมถึงจะสามารถลดงบประมาณการซ่อมบำรุงถนนได้กว่าปีละ 5% หรือ 1,500 ล้านบาทต่อปี

ตามแผนดำเนินการคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2564 จะเป็นการทดลองในระยะทาง 1 กม. โดยจะดำเนินเป็นลักษณะถนนพลาสติก และถนนยางมะตอยปกติ ในเส้นทางเดียวกันแต่คนละทาง ทั้งนี้ เพื่อจะนำข้อมูลการใช้งานจริงในเส้นทางเดียวกัน กับการใช้ผิวทาง 2 แบบ มาวิเคราะห์และเปรียบเทียบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เส้นทางนำร่องคาดว่าจะเป็นถนนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง

นายปฐมกล่าวว่า กรมได้ทำการทดลองนำขยะประเภทพลาสติกที่ใช้แล้วมาผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตในอัตราส่วนเหมาะสม 8% และ 10% ของน้ำหนักแอสฟัลต์ซีเมนต์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีผลเป็นที่น่าพอใจ จึงได้นำร่องทดลองปูผิวถนนพลาสติกแอสฟัลต์ ในพื้นที่จริงบนถนนทางหลวงชนบทสาย สบ.1004 อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

เพื่อศึกษาคุณสมบัติในการต้านทานต่อการเกิดร่องล้อหรือการต้านทานต่อการยุบตัวของผิวถนนพลาสติกแอสฟัลต์ ภายใต้สภาวะแวดล้อมจริงที่มีน้ำหนักรถบรรทุกหรือแรงกระทำซ้ำๆ กันของปริมาณการจราจรการใช้งานจริงของรถยนต์ขนาดต่างๆ โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ และมีการติดตามผลเป็นระยะๆ

“ผลทดสอบในเบื้องต้น พบว่าผิวถนนพลาสติกแอสฟัลต์มีความแข็งแรง ทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ดีและเป็นไปตามมาตรฐานสากล”

นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า เอสซีจีมุ่งนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มาประยุกต์ใช้ทั้งในองค์กรและสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนมากว่า 2 ปี ด้วยเห็นถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ

โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกที่ยังขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เพื่อทำต้นแบบถนนที่มีส่วนผสมของพลาสติกที่เหมาะสมต่อการใช้งานถนนในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นได้อีกด้วย

“เอสซีจี จึงยินดีที่กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เห็นถึงประโยชน์ในการนำประสบการณ์และองค์ความรู้จากการทำถนนจากพลาสติกรีไซเคิลของเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว มาต่อยอดพัฒนาโครงการนี้ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “

โดยเอสซีจีจะให้คำปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการจัดหาเศษพลาสติกเหลือใช้ อาทิ ชนิดและคุณภาพ รวมทั้งวิธีการแปรรูป อาทิ การล้าง บดย่อย และบรรจุ เพื่อให้พร้อมต่อการใช้งาน และยังจะเดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี

เพื่อให้สามารถนำขยะพลาสติกจากองค์กรและชุมชนมาใช้ประโยชน์ในโครงนี้ได้ โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถผลักดันโครงการดังกล่าวไปสู่การเป็นมาตรฐานการทำถนนของภาครัฐ เพื่อใช้งานจริงในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศได้ต่อไป

นายฉัตรชัยกล่าวว่า กลุ่มบริษัทดาว ได้ริเริ่มโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลมาแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางออกให้กับขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ยาก ให้เกิดการนำกลับมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งยังสร้างความตระหนักในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยลดขยะเทียบเท่ากับบรรจุภัณฑ์พลาสติกกว่า 50 ล้านถุงแล้ว

“โครงการถนนพลาสติกนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการก่อสร้างถนน ซึ่งช่วยให้มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้นกว่าการใช้ยางมะตอยตามปกติ และยังเป็นประโยชน์ต่อการจัดการขยะ เพราะช่วยนำพลาสติกเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่า ช่วยลดปริมาณพลาสติกที่จะต้องถูกทิ้งเป็นขยะ เป้าการทำงานด้านความยั่งยืนของ ดาว คือ หยุดขยะพลาสติก”