ทอท.เหลือเงินสด 4 หมื่นล้าน ใช้ถึงกลางปีหน้า จ่อกู้ต่อลมหายใจ

สนามบินสุวรรณภูมิ

ทอท.เผยเหลือเงินประคององค์กร 4 หมื่นล้าน หวังวัคซีนโควิดสำเร็จกลางปี’64 แย้มหากวัคซีนไม่มาอาจต้องกู้ระยะสั้นต่อชีวิต รับบัญชา”ศักดิ์สยาม”เร่งงานซ่อม Taxi Way เร็วขึ้นเหลือ 2 ปี ส่วน “ดอนเมืองเฟส 3” ดิ้นงัดข้อ กพท. ขอไม่ทำ EIA ใหม่

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยว่า สถานะทางการเงินปัจจุบันของ ทอท.มีกระแสเงินสดอยู่ประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายด้านลงทุน

จ่อกู้ระยะสั้นพยุงตัวปีหน้า

โดยคาดว่าเงินจำนวนนี้จะสามารถพยุงองค์กรไปได้ถึงกลางปี 2564 ทั้งนี้ หากวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 คิดค้นได้ไม่ทันกลางปี 2564 ทอท.อาจจะต้องกู้เงินระยะสั้น เพื่อช่วยในการบริหารองค์กร โดยวงเงินและระยะกู้เงินต้องดูสถานการณ์ ณ ขณะนั้นก่อน

“ปัจจุบัน ทอท. ยังสามารถดำเนินการได้ตามแผน โดยในช่วงต้นปีงบประมาณ 2563 นั้น ทอท.มีรายได้ 4 เดือน และสามารถครอบคลุมรายจ่ายได้ตลอด 8 เดือนที่เหลือที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในเบื้องต้น ประเมินว่า ช่วงตรุษจีน 2564 สถานการณ์อาจจะยังไม่ฟื้นตัว” นายนิตินัยกล่าว

รายได้เหลือ 8-9 ล้าน/วัน

สำหรับแผนการดำเนินการในปี 2564 นั้น ทอท. มีแผนลงทุนวงเงินประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการเก็บจากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge : PSC) นั้น ปัจจุบัน ทอท.มีผู้โดยสารภายในประเทศรวมทั้งหมดประมาณ 80,000-90,000 คน/วัน โดยรายได้จาก PSC อยู่ที่เฉลี่ย 100บาท ต่อคน รวมรายได้ประมาณ 8-9 ล้านบาท/วัน หรือ 240-270 ล้านบาท/เดือน

นายนิตินัย กล่าวว่าา เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ยังได้มีการรายงานกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงการเตรียมความพร้อมในการลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้างานโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ และห้องปฏิบัติการคัดกรองตรวจเชื้อโควิด-19

จี้ลดเวลาซ่อม taxi way

นอกจากนั้น นายศักดิ์สยามยังเร่งรัดให้ ทอท. ดำเนินโครงการซ่อมแซมพื้นผิวทางอากาศยานที่เป็นชนิดแอสฟัลต์ (ยางมะตอย) เป็นพื้นผิวทางซีเมนต์คอนกรีต บริเวณทางขับ (Taxi Way) และหลุมจอด (Taxi Lane) เป็นหลัก รวมพื้นที่ประมาณ 7.7 แสน ตร.ม. โดยให้ปรับกรอบดำเนินงานจากเดิมมี 4 ระยะ ดำเนินการ 6 ปี เหลือ 2 ระยะ ดำเนินการใน 2 ปี (2564-2566) วงเงินประมาณ 4,700 ล้านบาท

โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงทีโออาร์งานเฟสแรก พื้นที่ประมาณ 30% เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการพัสดุ ทอท. และเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.อนุมัติในเดือน พ.ย. เปิดประมูลในเดือน ธ.ค. 2563 ได้ตัวผู้รับจ้างเริ่มงานในเดือน พ.ค. 2564 แล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 2565 ส่วนเฟส 2 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 70% จะประมูลในปี 2564 และเริ่มงานในช่วง มี.ค. 2565 แล้วเสร็จ มิ.ย. 2566

งัดข้อ กพท. ขอไม่ทำ EIA  ดอนเมืองเฟส 3

ส่วนความคืบหน้าโครงการสนามบินดอนเมืองเฟส 3 หลังจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้ ทอท.ทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.)

ทาง ทอท.เห็นว่า เป็นการมองคนละมุม ในประเด็นการคำนวณตามสูตรของ Design Capacity โดย ทอท.เห็นว่าเป็นการฟื้นฟูสภาพการให้บริการของสนามบิน ซึ่ง EIA เดิมมีการออกแบบการรองรับผู้โดยสารที่ 40 ล้านคน/ปี ที่ผ่านมามีการออกแบบและใช้งานที่ 30 ล้านคน/ปี การพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 จะมีการออกแบบปรับปรุงเพื่อให้บริการได้ที่ 40 ล้านคน/ปี ซึ่งไม่เกินจาก EIA เดิม โดยถือเป็นการฟื้นฟูสภาพ จึงไม่ต้องศึกษา EIA ใหม่


“ดังนั้น ทอท.จะทำหนังสือชี้แจงไปยัง กพท.อีกครั้ง ก็อยู่ที่ กพท.จะพิจารณา หากสรุปให้ ทอท.ต้องเสนอ EIA การศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ ก็จะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยประมาณ 2 ปี” นายนิตินัยกล่าว