“ไฮสปีดเทรน” เพิ่มทุน 4 พันล้าน ไตรมาส 4 ยกเครื่องแอร์พอร์ตลิงก์

Airport rail link-CP

กลุ่ม ซี.พี.เพิ่มทุนอีก 4,000 ล้าน เดินหน้า “ไฮสปีด” เชื่อม 3 สนามบินลุยรีแบรนดิ้งแอร์พอร์ตลิงก์ เปิดหวูดโฉมใหม่ 25 ต.ค.นี้ ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเฟสแรก “สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ปรับแผน “พญาไท-บางซื่อ” เร็วขึ้น 1 ปี คมนาคมเร่งเคลียร์ปมทับซ้อนรถไฟไทย-จีน EEC คิกออฟเมืองการบินอู่ตะเภาปลายปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับจากวันที่ 24 ต.ค. 2562 บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด นิติบุคคลเฉพาะกิจที่กลุ่ม ซี.พี.จัดตั้งขึ้นเซ็นสัญญาร่วมทุนสัมปทาน 50 ปี โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. และแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท

ตามสัดส่วนการถือหุ้น ได้แก่ บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง 70% บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) 10% บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 15% และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 5% ซึ่งตามสัญญา กลุ่ม ซี.พี.จะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท ก่อนเริ่มการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยกับรถไฟ

กลุ่ม ซี.พี.เพิ่มทุนอีก 4 พันล้าน

ล่าสุด นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซี.พี.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะเพิ่มทุนจดทะเบียนในบริษัทอีก 4,000 ล้านบาท รวมกับทุนเดิม 4,000 ล้านบาท เป็นวงเงิน 8,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งรัฐจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ภายในเดือน ต.ค. 2564 ตามกรอบเวลา 2 ปีที่กำหนดไว้ในสัญญา

“เราต้องทำตามสัญญา ทันทีที่รัฐส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างตามสัญญา เราพร้อมดำเนินการทันที จริง ๆ ตอนนี้เตรียมการลงทุนไปมากกว่า 2,000 ล้านบาท ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง การทำงานทุกอย่างต้องเซฟ ซึ่งการเพิ่มทุนเป็นคนละส่วนกับแหล่งเงินทุนของโครงการ เราต้องมาจัดการอีกที ถ้าภาครัฐสนับสนุนแหล่งทุนก็เป็นเรื่องดี เพราะยังไงเราก็ต้องจัดหาแหล่งเงินทุนอยู่แล้ว”

รีแบรนด์ “แอร์พอร์ต ลิงก์”

นายศุภชัยกล่าวอีกว่า สำหรับการรับโอนสิทธิเดินรถแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ยังเป็นไปตามไทม์ไลน์คือจะรับโอนภายในวันที่ 24 ต.ค. และเปิดเดินรถวันแรกวันที่ 25 ต.ค. 2564 โดยบริษัทจะจ่ายค่าใช้สิทธิ์เดินรถให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 10,671 ล้านบาท เป็นการจ่ายงวดเดียว

ส่วนการดำเนินการโครงการอยู่ระหว่างวางแผนร่วมกันและเตรียมการลงทุนในทันทีที่เข้าบริหารโครงการ แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องมีความปลอดภัยและการโอเปอเรตการเดินรถจะต้องไม่สะดุด

“อาจรีแบรนดิ้งแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ใหม่ทั้งหมด อยู่ระหว่างสรุปรูปแบบและแบรนด์ร่วมกันอยู่ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงการไปสู่ภาพลักษณ์ใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะกว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะก่อสร้างแล้วเสร็จก็อีก 5 ปี ยังมีเวลาเปลี่ยนผ่าน การจะเปลี่ยนแปลงอะไรในทันที ประชาชนอาจจะสับสนได้”

รัฐอัดค่าเวนคืน 2.1 พันล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 30 มี.ค. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติขยายกรอบวงเงินค่าเวนคืนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อีก 2,170 ล้านบาท ทำให้ค่าเวนคืนเพิ่มขึ้นจากเดิม 3,570 ล้านบาท เป็น 5,740 ล้านบาท โดยจะใช้งบฯกลางปี 2564 จำนวน 607 ล้านบาท จ่ายเวนคืนเร่งด่วนช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้ทันส่งมอบพื้นที่ให้ ซี.พี.ในเดือน ก.ย.นี้ และช่วงพญาไท-ดอนเมือง ในเดือน ต.ค. 2566

“ทราบว่าทาง ซี.พี.พร้อมมอบพื้นที่ตามสัญญาและมีการนำคนของแอร์พอร์ตลิงก์ไปบางส่วนบ้างแล้ว ส่วนแหลมฉบังเฟส 3 ยังไม่มีการเสนอ ครม.”

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า พร้อมส่งมอบพื้นที่เฟสแรก ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้ ซี.พี. วันที่ 24 ต.ค.นี้ ได้เคลียร์ผู้บุกรุก 302 หลัง ออกจากพื้นที่และล้อมรั้วเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง จะเร่งรัดส่งมอบในเดือน ธ.ค. 2565 เร็วขึ้นจากเดิมในเดือน ต.ค. 2566

เคลียร์จุดทับซ้อนไม่ลง

ส่วนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่ประชุมคณะทำงานมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีมติเร่งการส่งมอบพื้นที่ส่วนนี้ให้ได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ จากเดิมจะส่งมอบในเดือน ต.ค. 2565 โดยให้กลุ่ม ซี.พี.เป็นผู้ก่อสร้างช่วงนี้เพราะมีความพร้อมมากกว่ารถไฟไทย-จีน

“ยังมีปัญหาต้องแก้ไข เรื่องโครงสร้างเดิมที่ออกแบบไว้โดยจีน มีขนาดใหญ่มาก เพราะรองรับความเร็วสูงสุดของรถไฟความเร็วสูงที่ 250 กม./ชม. และไปกระทบกับระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ มีค่าใช้จ่ายเฉพาะงานโครงสร้างส่วนนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.ยินดีจะก่อสร้างให้ แต่ต้องลดขนาดโครงสร้าง เพราะใช้รถแอร์พอร์ตลิงก์วิ่งผ่านบริเวณนี้ ซึ่งใช้ความเร็วสูงสุดแค่ 160 กม./ชม. จะประหยัดค่าก่อสร้างลงไปอีก แต่จีนไม่ยอม ทำให้ยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้”

สิ้นปีคิกออฟอู่ตะเภา

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ปลายปี 2564 จะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการเมืองการบินอู่ตะเภา เนื้อที่ 6,500 ไร่ ให้กับ บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) ประกอบกับ บมจ.การบินกรุงเทพ, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง และ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ผู้รับสัมปทานโครงการ

การพัฒนาโครงการแบ่งเป็น 4 ระยะ ใช้เงินก่อสร้าง 2 แสนล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 1.3 แสนล้านบาท ค่ารีโนเวต-ซ่อมบำรุงตามวงรอบอีก 7 หมื่นล้านบาท โดยระยะที่ 1 ใช้เงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้าน ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พื้นที่ 157,000 ตร.ม. และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเป็น 15.9 ล้านคน/ปี จะแล้วเสร็จในปี 2567

“ต.ค.นี้กองทัพเรือจะประมูลรันเวย์ 2 สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท หลังได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA”

นายโชคชัยกล่าวอีกว่า ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา วงเงิน 10,000 ล้านบาท ของ บมจ.การบินไทย ยังคงกันพื้นที่ไว้ให้ รอการบินไทยสรุปขนาดของโครงการเพราะมีการศึกษาใหม่เพื่อลดต้นทุน ซึ่งโครงการนี้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ปัจจุบันกองทัพเรือกำลังถมที่เพิ่มเพื่อพัฒนาเป็น MRO ในอนาคตทั้งของการบินไทยและสายการบินอื่น ๆ