ชง “ประยุทธ์” เคาะสร้าง-ไม่สร้าง สะพานเกียกกาย

สร้างสะพานเกียกกาย

คณะทำงานสร้างสะพานเกียกกายที่มี “ประวิตร” เป็นประธานเห็นชอบให้ก่อสร้าง จ่อชง “ประยุทธ์” เคาะไฟเขียวตามลำดับ

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ครั้งที่ 1/2564

เห็นชอบสะพานเกียกกาย

โดยที่ประชุมได้รับทราบ ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ซึ่งกทม.ได้ดำเนินโครงการ โดยทำการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียด พร้อมรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน และจากประชาชนแล้ว

เนื่องจากปัจจุบัน กทม.มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 10 สะพาน มีผู้ใช้ยวดยาน วันละประมาณ 800,000 คันในชั่วโมงเร่งด่วนเวลาเช้า มีความต้องการเดินทางมากถึง 36,000 คัน/ชั่วโมง แต่ความจุสะพานรองรับได้เพียง 30,000 คัน/ชั่วโมง ทำให้ปริมาณการจราจรที่ต้องการสัญจร เกินความจุของสะพานที่จะรองรับได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็น ที่จะต้องสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มเติม

ซึ่งสะพานดังกล่าว นับเป็น 1 ใน 8 โครงการของการพิจารณาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพการจราจร และรองรับการเข้า-ออก อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยจะสามารถช่วยให้การจราจรในภาพรวมมีความคล่องตัว มากยิ่งขึ้น

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณา เห็นชอบการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ซึ่ง กทม.ได้เสนอรูปแบบการก่อสร้าง(ทางเลือกที่ 1) โดยคำนึงถึงความพยายามหลีกเลี่ยงการบดบังความสง่างาม และส่งเสริมภูมิทัศน์ ของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมปฏิบัติตามผลการศึกษาในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเคร่งครัด ต่อไป

พล.อ.ประวิตร กล่าวย้ำว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่สำคัญเร่งด่วน ลำดับแรก ของรัฐบาล เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการจราจร/การขนส่ง ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จึงกำชับให้ กทม.เร่งนำเสนอนายกรัฐมนตรีทราบ เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เป็นไปตามแผนงาน ต่อไป

ชง”ประยุทธ์”เคาะสร้าง-ไม่สร้าง

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากนี้จะต้องนำการประชุมเสนอต่อให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพิจารณาด้วยว่า จะให้ กทม. ทำต่อหรือไม่ เพราะตอนนี้ได้งบก่อสร้างในช่วงที่ 2 คือช่วงสะพานข้ามแม่น้ำ จาก ซ.จรัญสนิทวงศ์ 93-วัดแก้วฟ้าจุฬามณี 480 เมตร วงเงิน 1,350 ล้านบาทซึ่งได้รับงบจากรัฐปี 2563 เป็นค่าก่อสร้างบางส่วนแล้ว หากนายกฯเห็นชอบให้สร้าง กทม.ก็พร้อมจะทำต่อ

เวนคืนแล้ว 40%

ส่วนความคืบหน้าตอนนี้ กทม.ได้ทยอยจ่ายค่าเวนคืนจากรัฐมาแล้วประมาณ 3,000 ล้านบาทให้กับประชาชนโซนฝั่งธนบุรีและฝั่งเกียกกายเรียบร้อยแล้ว จากค่าเวนคืนทั้งหมด 7,490 ล้านบาท ถือว่าเวนคืนไปได้แล้วประมาณ 40%

ย้อนปูมชวน-ประยุทธ์ ตั้งคณะทำงานพิจารณา

แหล่งข่าวจากกทม. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ต่อว่า ที่ผ่านมาสะพานเกียกกายติดข้อจำกัดที่สภาเป็นหลัก โดยมีความเห็นว่าสะพานดังกล่าวไม่ส่งเสริมความสวยงามของรัฐสภาแห่งใหม่เท่าไหร่นัก นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาจึงเสนอพลเอกประยุทธ์ให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อหารือร่วมกัน และในท้ายที่สุดก็มีมติให้สร้างในวันนี้

“โครงการนี้ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของผังเมือง กทม.มานานแล้ว และผ่านมติที่ประชุมมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2547 ด้วยซ้ำ และที่สุดคือ ครม.เห็นชอบให้ก่อสร้างแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องทำ เราเตรียมความพร้อมเวนคืนพื้นที่จากชาวบ้านจ่ายชดเชยไปเรียบร้อยแล้ว แถมได้รับอนุเคราะห์ที่ดินบางส่วนจากวัดแก้วฟ้าจุฬามณี เพื่อทำทางขึ้น-ลงมานานแล้ว ดังนั้น จึงขอให้มีการพิจารณาก่อสร้างโดยเร็ว” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย และถนนต่อเชื่อม ใช้เงินก่อสร้างประมาณ 12,717.4 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 5,225 ล้านบาท และค่าเวนคืน 7,490 ล้านบาท

มีทั้งสิ้น 5 ตอน ประกอบด้วย
1.ทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรี จาก ถ.เลียบทางรถไฟสายใต้-ถ.จรัญสนิทวงศ์ 1.05 กม. วงเงิน 4,015 ล้านบาท

2.สะพานข้ามแม่น้ำ จาก ซ.จรัญสนิทวงศ์ 93-วัดแก้วฟ้าจุฬามณี 480 เมตร วงเงิน 1,350 ล้านบาท กำลังจัดทำราคากลาง ซึ่งได้รับงบฯจากรัฐปี 2563 เป็นค่าก่อสร้าง 135 ล้านบาท

3.ทางยกระดับและ ถ.ฝั่งพระนครจากแม่น้ำเจ้าพระยา-สะพานแดง 1.350 กม. วงเงิน 980 ล้านบาท

4.ทางยกระดับและ ถ.ฝั่งพระนคร จากแยกสะพานแดง-ถ.กำแพงเพชร 1.4 กม. วงเงิน 1,100 ล้านบาท

และ 5.ทางยกระดับและ ถ.ฝั่งพระนคร จาก ถ.กำแพงเพชร-ถ.พหลโยธิน 1.6 กม. วงเงิน 1,025 ล้านบาท