เศรษฐา ทวีสิน Call out กู้วิกฤตประเทศ ยิ่งช้าสถานการณ์ยิ่งแย่

เศรษฐา ทวีสิน

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน

ด้วยแนวทาง No One Left Behind เชิญชวนภาคเอกชนและองค์กรต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือต่อสังคม เพื่อก้าวข้ามวิกฤต

เมื่อสถานการณ์โดยรวมดูย่ำแย่ “เศรษฐา ทวีสิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ไม่รอช้าที่จะออกมา call out ถึงรัฐบาล ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วยหวังว่าจะเป็นเสียงหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

Q : ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ตัดสินใจเชิงธุรกิจยากมั้ย

ตัดสินใจยาก แต่ที่ทำให้ง่ายขึ้นเพราะเรามี cash flow ในมือ อย่างวันนี้ผมบอกให้สร้างบ้านเตรียมไว้เลย ลุยให้เต็มที่ เพราะกว่าจะสร้างเสร็จต้องใช้เวลา 8 เดือน ถึงวันนั้นคนน่าจะฉีดวัคซีนครบ ผมมีบ้านที่สร้างไว้เสร็จรอการขายเพียบ วันนี้คนอยากซื้อแต่บ้านยังสร้างไม่เสร็จ ไม่มีของขาย ผมเดือดร้อนมั้ย ไม่เดือดร้อนเพราะมีเงินทุนสะสม นี่คือพูดตรงไปตรงมา

แต่ถ้าย้อนไปเมื่อ 18 เดือนที่แล้ว ตอนโควิดรอบแรก เราลดราคาเพื่อปิดการขาย จนได้เงินสดมาก้อนใหญ่ วันนั้นผมไม่คิดว่าแย่ยังไงไม่น่าจะถึงขนาดนี้ คิดแค่ว่ากอดเงินสดไว้ก่อน อย่างน้อยให้อยู่ให้ได้ 2 ปี เป็นสิ่งที่เรียนรู้มาจากวิกฤตปี’40 ต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ไว้ก่อน

Q : หนักกว่าปี 2540

คนละเรื่องเลย ปี 2540 หนัก แต่วันนี้เป็นเรื่องโกลบอลไลเซชั่น เกิดขึ้นทั่วโลก

Q : เปิดประเทศ 120 วัน ไม่น่าจะเป็นไปได้แล้ว

ผมมองในแง่ดีตลอดเวลานะ ตอนนายกฯพูดผมก็ออกมาเชียร์ คิดว่าท่านคงมีข้อมูลที่เราเองไม่รู้ เช่น วัคซีนกำลังจะมา แต่ผ่านไป 2 อาทิตย์เป๋ละ วันนี้ความเป็นไปได้ที่จะเปิดประเทศใน 120 วันมันต่ำมากนะ ยกเว้นแต่ระดมฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 6 แสน แต่วัคซีนมามั้ย มีมั้ยก็ไม่รู้

Q : จะสร้างความมั่นใจกลับมาได้อย่างไร

วันนี้เรื่องสำคัญที่สุด คือ วัคซีน ยกตัวอย่างแค่ให้ความชัดเจนว่า 17 ล้านโดสมาวันที่เท่านี้นะ อีก 25 ล้านมาวันนี้ ตลาดหุ้นก็ขึ้นแล้ว คนวางแผนได้แล้ว

เหมือนถ้าผมบอกพนักงานว่า วันนี้ผมลดเงินเดือนคุณ 3 เดือน แล้วจะกลับมาให้เท่าเดิม บอกแบบนี้พนักงานก็เข้าใจ การมีแผนงานที่ชัดเจนทำให้คนมีความหวัง

คนเราอยู่ได้ด้วย hope แต่ท่านนายกฯไม่ให้ hope เลย deliver ไม่ได้ ร้อยยี่สิบวันแล้วไง

มีหลายเรื่องที่ตอนนี้เราทำได้ แต่นายกฯเองไม่เด็ดขาด เช่น นโยบายด้านดอกเบี้ย เรื่องพักหนี้ เยียวยาภาคธุรกิจท่องเที่ยว เอสเอ็มอี ที่ล้มหายตายจาก อันนี้ผมเป็นห่วงจริง ๆ เพราะดอกเบี้ยเป็นรายจ่ายที่มากที่สุดของครัวเรือนไทย

ถามคำเดียว โควิดเกิดขึ้นมาจากความผิดของประชาชนคนไทย ของเอสเอ็มอีรึเปล่า ไม่ใช่นะ เช่นเดียวกับการเตรียมเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเทศไทยถ้าออกบอนด์ 30 หรือ 50 ปี ดอกเบี้ยต่ำมากแค่ 2% หรือ 2.5-2.8% ต่ำมาก ๆ ถ้าเอาเงินมาใช้ได้ถูกทางจะเป็นประโยชน์

วันนี้ส่งออกดีเพราะบาทอ่อน แต่ต้องยอมรับว่าขีดความสามารถในการแข่งขันเราไม่มี มีเรื่องราคาอย่างเดียว วันนี้เรามีคู่แข่งเยอะ สมัยปี 2540 เวียดนามอยู่ตรงไหนในการค้าโลก มองไปยังไม่เห็น ตอนนี้ขึ้นมาแล้ว เรื่องความก้าวหน้าทางธุรกิจ เรื่องคู่แข่งทางด้านภูมิศาสตร์เอย เรามีคู่แข่งเยอะ อินโดนีเซีย จีน อินเดีย เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

Q : สถานการณ์แบบนี้รัฐควรลดดอกเบี้ยลง

ใช่ เพราะได้แน่นอน เป็นการลดค่าใช้จ่าย คุณกู้ รายจ่ายคุณก็ลด

เรื่องรายรับ รัฐบาลพยายามเอาเงินใส่กระเป๋า ชิมช้อปใช้ คนละครึ่ง ก็ว่ากันไป แต่อีกอันที่ช่วยได้คือ ลดรายจ่าย และรายจ่ายที่ใหญ่ที่สุดคือ ดอกเบี้ย ถ้าลดไป .5% เดือนละ 200-300 บาทก็ยังลด และคนทำธุรกิจกู้หมด

ที่ต้องคิดต่อ ถ้าเราฉีดวัคซีนได้ครบตามเป้า การเตรียมการเพื่อกลับมาของประเทศ มีใครเคยถามไหมว่า เสน่ห์ของการท่องเที่ยวไทยยังเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า สายการบินอะไรที่จะบินเข้ามา การฟื้นฟูการบินไทยไปถึงไหนแล้ว เงินเยียวยาสายการบินต่างๆ

Q : ทั่วโลกแย่งกันสต๊อกวัคซีนล่วงหน้า

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ต้องเตรียมวัคซีนสำหรับปีหน้า 2-3 เท่าของประชากร คือ 200 ล้านโดส เป็นกระสุนที่เตรียมไว้ วัคซีนโดสหนึ่งอย่างมาก 1,000 บาท รวมแล้ว 2 แสนล้าน เป็นตัวเลขที่เยอะ แต่เมื่อนำไปเทียบกับ 3 ล้านล้านที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไปก่อนหน้านี้แค่ 6.7% เองนะ

ตามหลักเศรษฐศาสตร์การเยียวยาทีละ 2 พัน ไม่เกิด economic snowball อะไร ที่อังกฤษตอนที่สั่งปิดโรงแรม รัฐบาลจ่ายให้เลย 70% คนก็สบายใจ พอวันนี้สถานการณ์ดีขึ้น ก็ขึ้นภาษี คนเขาก็ยอมรับ อย่าไปแคร์คะแนนเสียง

รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชน ผู้บริหารสูงสุดต้องลงมาเล่นเอง ท่านนายกฯต้องยกหูถึงโจ ไบเดน เอง หรือว่าประธาธิบดีจีนเอง วันนี้คุณให้กระทรวงสาธารณสุขไปติดต่อไฟเซอร์ คุณให้กระทรวงต่างประเทศไปติดต่อสหรัฐ วันนี้มันไม่ใช่แล้ว

การเตรียมการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเมกะโปรเจ็กต์แบบที่สหรัฐหรือยุโรปทำก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งเราสามารถนำมาเป็นข้อแลกเปลี่ยนในเรื่องวัคซีนกับการเปิดกว้างด้านการลงทุนของต่างชาติได้

Q : ไม่ช้าไป

ไม่มีคำว่าช้าไปหรอกครับ ต้องอาศัยภาวะผู้นำ เวิร์กฟรอมโฮมไม่ได้แล้ว ถ้ายิ่งช้าสถานการณ์ก็จะยิ่งแย่ เรายิ่งห่างไกลจากคู่แข่งของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ
ท่านบอกอาสามาทำ ท่านก็ต้องทำมันให้ได้

Q : มองเศรษฐกิจปีหน้าอย่างไร

บอกตรง ๆ เลยนะ ผมคิดว่ายังมีความหวัง เป็นความหวังที่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนด้วยนะ ผมคิดว่าปีหน้าจะดีกว่าปีนี้แน่นอน ถึงการเปิดประเทศ 120 วันมีโอกาสเลื่อนออกไป ประกอบกับปีนี้ฐานการเติบโตของเราต่ำมาก ปีหน้าเผลอ ๆ การเติบโตอาจดับเบิลดิจิต ถ้าฉีดวัคซีนได้ครบภายในไตรมาสแรก

แต่เป็นแค่ระยะสั้น ถ้าคุณไม่แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจอาจดีแต่ปัญหาสังคม ปัญหาต่าง ๆ ก็จะวนกลับมา

ความเหลื่อมล้ำมันเริ่มตั้งแต่กฎ กติกา ของการอยู่ร่วมกันคือ รัฐธรรมนูญที่พิกลพิการ วันนี้เห็นอยู่ว่าไปไกลมากขนาดไหน คนที่ได้ฉีดวัคซีนบางคนไม่ควรจะได้รับการฉีดเป็นกลุ่มแรก ๆ แต่ก็ได้ ได้แล้วยังโพสต์ลงโซเชียลโชว์อีก

เรื่องนี้เรื่องใหญ่ เป็นเบสิกของการอยู่ร่วมกัน เป็นเรื่องอะไรที่ไม่ว่าจะทั้งเศรษฐกิจและการเมืองก็ต้องการความเสมอภาค และภาษีเป็นเครื่องมือที่นำมาเรื่องความเสมอภาค

ผมใช้ทรัพยากรเยอะก็ต้องจ่ายภาษีเยอะ หรือภาษีมรดก เมื่อคุณได้รับมาก็ต้องจ่ายภาษี รัฐบาลจะได้เอาภาษีไปใช้เรื่องสร้างถนน สนับสนุนเรื่องการรักษาพยาบาล ประกันราคาพืชผล เรื่องของการศึกษา เพื่อให้คนที่อยู่ข้างล่างขึ้นมาได้บ้าง

ที่ผมว่าน่าเศร้า วันนี้ถ้าผมเกิดไม่สบาย ผมไปเข้า รพ.เอกชน ได้ตรวจรักษาแน่นอน แต่กับคนทั่วไปแค่โรงพยาบาลสนามยังเป็นเรื่องยากเลย ต้องนอนกอดศพแม่ โอ้โห มันเศร้ามาก

นี่คือความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค การเข้าถึงวัคซีนแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ยิ่งถ่างออกไป คนที่ไม่ได้คือไม่ได้ คนที่ได้ก็ไปเข็มสามแล้ว

หรือการเลือกตั้ง ทุกคนควรมีสิทธิ 1 เสียงเท่ากัน หรือ 250 ส.ว. ผมไม่ได้ว่า ส.ว.เป็นคนไม่ดี แต่มีที่มาไม่ถูกต้อง ซึ่งสมควรต้องแก้ ถ้าไม่แก้จะเป็นปัญหา

เศรษฐกิจและการเมืองต้องไปด้วยกัน ถ้าปีหน้าเกิดเศรษฐกิจดี แต่จะไปไม่สุด จะถูกฉุดจากการเมืองอยู่ดี

Q : มองอนาคตประเทศไทยอย่างไร

ถ้าไม่ทำอะไร เราจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีไปหมด คุณจะเสียไปหลายอย่างมาก วันนี้เราช้ากว่าคนอื่นในเรื่องวัคซีน วันนี้ใครทำอะไรได้ก็ทำไป แสนสิริเป็นฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่ง เราก็พยายามทำ แบกใครได้ก็แบกไปก่อน

ผมแบกส่วนหนึ่ง คุณแบกส่วนหนึ่ง อย่าไปคิดว่าถ้าเป็นวัคซีนต้องเป็นเรื่องของรัฐบาล ทำไมต้องซื้อมาฉีดให้พนักงาน ทำไมต้องช่วยเอสเอ็มอี ไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดตอนนี้ เพราะมันคือสงคราม

อย่างแสนสิริ ผมจัดหาวัคซีนมาเยียวยาคู่ค้า ช่วยคนที่ตัวเล็กกว่า ที่อ่อนแอกว่า ฉีดให้แรงงาน กะหล่ำปลี แตงโม ราคาตกต่ำมาก ก็ไปช่วยซื้อ ช้างที่เชียงใหม่ ไม่มีนักท่องเที่ยวก็ลำบาก

บังเอิญมีที่เหลืออยู่ เลยปลูกหญ้าให้ช้างกิน รอการท่องเที่ยวกลับมาหรือการฉีดวัคซีนให้เอสเอ็มอี วินมอเตอร์ไซค์ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับธุรกิจอสังหาฯที่เราทำ แต่ถ้าทุกคนอยู่ได้เราเองก็อยู่ได้