ถอดบทเรียน ปิด-เปิดแคมป์ก่อสร้าง ระเบิดเวลา คนงานไทยขาดแคลน-ผู้ติดเชื้อซ้ำ

เปิดแคมป์ก่อสร้างหมาด ๆ ได้เวลาถอดบทเรียนจากบิ๊กธุรกิจ

ล่าสุด สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย จัดสัมมนาออนไลน์ “กรณีศึกษาการทำ Bubble and Seal และการจัดการ Camp & Site ก่อสร้างในช่วง COVID-19” เมื่อเร็ว ๆ นี้

โต้โผใหญ่ “ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข” กรรมการหอการค้าไทย กับ “อธิป พีชานนท์” รองประธานกรรมการ สภาหอฯ ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ประสบการณ์ตรงแคมป์ ITD

วิทยากรรับเชิญคนแรก “ประคิน อรุโณทอง” รองประธานบริหาร สายงานธุรกิจก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD กล่าวว่า โควิดแพร่ระบาดโดยไม่มีวันหยุด เราก็คงต้องทำงานหนักเช่นกันเพื่อแก้ปัญหา

หลายคนอาจสงสัยว่าการทำงานในพื้นที่เปิดของรถไฟฟ้า เนื่องจากไซต์ก่อสร้างอยู่ตามถนนสาธารณะ จะทำ bubble and seal ได้อย่างไร และจะคอนโทรลแคมป์ได้อย่างไร

หนังตัวอย่างจากไซต์ก่อสร้าง “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า” สัญญาก่อสร้าง 66 เดือน เริ่มทำปี 2560 กำหนดแล้วเสร็จตุลาคม 2565 ณ 31 กรกฎาคม 2564 ก่อสร้างคืบหน้า 82.29%

มีไซต์ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน คนงาน 1,300-1,500 คน พักอยู่ในแคมป์ซอยรามคำแหง 127 จุดกึ่งกลางของพื้นที่ก่อสร้าง บนพื้นที่ 11 ไร่ แบ่งแคมป์โซนที่พักคนงานก่อสร้าง วิศวกร โฟร์แมนควบคุมงาน มีการแยกโซนแรงงานต่างด้าวกับแรงงานไทย โดยมีอาคาร 26 หลัง ห้องพัก 831 ห้อง รับได้สูงสุด 1,200 คน

ทั้งนี้ เนื่องจากงานก่อสร้างคืบหน้าไปมาก ก่อนมาตรการปิดแคมป์ในเดือนกรกฎาคม 2564 เหลือคนงาน 1,066 คน ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 1 สัดส่วน 77% 821 คน อัพเดตล่าสุด ณ 19 สิงหาคม 2564 ฉีดแล้ว 97%

นิวนอร์มอลแคมป์คนงาน

ในการบริหารจัดการแคมป์ที่ผ่านมา มีหลายฝ่ายที่มาตรวจแคมป์คนงานแนะนำว่า กรณีพบผู้ป่วยควรหาทางแยกออกจากพื้นที่แคมป์ จึงได้สร้างแคมป์ควอรันทีนสำหรับผู้ป่วยพักคอยเพิ่มเติม (ดูกราฟิกประกอบ)

การวางผังมีการจัดการพื้นที่แยก “กรีนโซน-เยลโลว์โซน” เมื่อพบมีผู้ป่วยจะสอบถามว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยง จากนั้นเราให้เข้าพักในเยลโลว์โซน

“ในช่วงวิกฤตปัญหาคือมีคนที่ต้องกักตัวเยอะ ก็สร้างโซนกักตัวโดยสร้างสมมุติฐานว่าคนในกลุ่มนี้ต้องไม่ออกไปเดินที่จุดอื่น แต่เราก็ต้องคำนึงว่าเขาไม่ใช่นักโทษ การที่เราขังเขาไว้โดยไม่ให้ออกไปไหนเขาก็มีความอึดอัดเหมือนกัน เราก็ล้อมรั้วเพื่อไม่ให้ดูทึบมากนัก ให้มีอากาศระบายได้ดี”

คนงานป่วยโควิดในภาพรวมส่วนใหญ่ไม่ได้ป่วยหนัก สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งการเข้าห้องน้ำ การทิ้งขยะ การจัดการอาหาร จำกัดการติดต่อกับบุคคลภายนอกให้ได้มากที่สุด

มาตรฐานทั่วไปที่หลาย ๆ แคมป์กำลังดำเนินการอยู่คือ มีล็อกเกอร์ไว้ใส่อาหารให้ผู้ป่วยแล้วให้เขาออกมารับเอง จัดที่วัดอุณหภูมิและเจลล้างมือ ผู้ป่วยเทเศษอาหารใส่ถุงนำไปวางไว้และให้คนไปเก็บ

เน้นไม่ให้มีการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง จัดจุดล้างมือ ตรวจการเข้า-ออก พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลโควิด ถือเป็นมาตรฐานทั่วไปที่เป็น new normal ไปแล้ว

“โรงครัว” ตั้งนอกแคมป์

“ประคิน” ฉายภาพว่า พอถูกสั่งล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้าง บริษัทไม่อนุญาตให้พนักงานเดินทางออกต่างจังหวัด มี รปภ.ควบคุมการเข้า-ออก สิ่งแรกที่ทำคือแจกหน้ากากอนามัย เพราะโดยธรรมชาติคนพอมีเวลาว่างจะจับกลุ่มคุยกัน

2.ภาระหนักมีคน 1,066 คน ต้องบริหารจัดการอาหาร 3 มื้อทุกวัน ตอนแรกหน่วยงานรัฐสนับสนุนในระดับหนึ่ง หลัก ๆ บริษัทต้องช่วยเหลือตัวเอง พฤติกรรมคนงานจะหุงข้าวเองแล้วออกไปซื้อกับข้าวข้างนอก บริษัทแจกข้าวสาร โจทย์อยู่ที่กับข้าวจะทำยังไง

ข้อแนะนำคือ การตั้งโรงครัวข้างในจะยุ่งยากในแง่ของวัตถุดิบที่ต้องมีการนำเข้า-นำออกเยอะ ทำให้มีโอกาสรวมตัวของคนและมีการแพร่เชื้อได้ ควรตั้งโรงครัวไว้ข้างนอก ให้พนักงานเข้าไปช่วยจัดเป็นแกงถุงแล้วแจก โดยคำนึงเรื่อง social distancing

ปิดแคมป์-ยอดติดเชื้อพุ่ง

“ก่อนเราจะถูกสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างมีผู้ติดเชื้อไม่มากนัก แต่พอปิดแคมป์พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ช่วงนั้นเราก็คิดหนักว่าได้ทำอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า พฤติกรรมคนงานกรณีพบผู้ป่วย 1 คนอาจทำงานกับทีม 7-8 คน กลุ่มเสี่ยงเท่ากับ 1 : 7 พอปิดแคมป์อาจเหลือแค่ 1 : 1 หมายถึงผู้ป่วย 1 คน ผู้พักร่วมกันอีก 1 คน น่าจะแค่ 1 : 2 แต่ไม่ใช่ เพราะผู้ติดเชื้อสูงขึ้น เราก็มาวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไรบ้าง ก็พบว่ามีหลายคนที่ไม่แสดงอาการแล้วป่วย”

วิธีการแบบเดิมแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ทำอย่างไรให้พบผู้ป่วยได้เร็วที่สุด ผู้ป่วยกว่าจะแสดงอาการใช้เวลา 7 วัน ก็ดูว่าผู้ป่วยพักอยู่ในโซนไหนบ้าง ซึ่งแรงงานต่างด้าวบริหารจัดการได้ยากพอสมควร

เขาไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ เราต้องประสานงานกับโรงพยาบาลใกล้ชิด เมื่อไหร่ที่เราพบผู้ป่วยจะได้ส่งตัวเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

มีการยกระดับเต็มรูปแบบทีมซัพพอร์ตที่คอยแจกอาหารด้านใน+ทีมทำความสะอาด เพราะมี 10-15 คนติดเชื้อ แต่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงให้ใส่ชุด PPE แต่เจอปัญหาชุดขาดแคลน มีเงินก็หาซื้อไม่ได้ ต้องซื้อจาก จ.ระยอง รถทุกคันที่ส่งอาหารหรือรับผู้ป่วยทำความสะอาดทุกครั้ง

รู้ลึก Bubble and Seal

ทั้งนี้ การปิดแคมป์คนงานมองว่าสามารถตรวจเชิงรุกได้ดีกว่า จึงตัดสินใจทำการตรวจ rapid antigen test 7 ครั้งตั้งแต่มีการปิดแคมป์ จากครั้งแรกช่วงต้นเดือนกรกฎาคมตรวจ 72 คน มีผู้ติดเชื้อ 16 คน หรือ 22.22% ครั้งที่ 5-7 ก่อนเปิดแคมป์คนงาน 969 คน มีผลเป็นลบทั้งหมด (ไม่ติดเชื้อ)

จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมพบว่า ถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วต้องเรียนตรง ๆ ว่าไม่ได้ช่วยให้ไม่ติดเชื้อ โดย 70% ที่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อ แต่ที่ช่วยได้ดีคืออาการไม่รุนแรงและหายป่วยเร็วขึ้นเฉลี่ย 10-11 วัน

ไฮไลต์อยู่ที่ Lessons Learned เกี่ยวกับ Bubble and Seal

“ตอนแรกผมเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำ bubble and seal นึกภาพเราเป็นแคมป์ใหญ่ ก็ทำเป็น bubble ใหญ่แล้วก็ seal ไว้ พอเราศึกษาลึก ๆ แล้วการจะทำ bubble and seal ต้องพยายามแตกให้เป็น bubble ให้มากที่สุดในการทำงาน”

โดยไซต์ก่อสร้างนั้น 1.สภาพหน้างานแบ่ง bubble ออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามลักษณะงาน 65 bubble 2.ในแคมป์ทำยังไงหาทางไม่ให้คนมา cross function ด้วยการจัดคนในแคมป์ให้พักตาม bubble ของการทำงาน ให้อยู่ด้วยกัน

3.ที่สำคัญต้องมีการตรวจสอบภูมิคุ้มกันโรคในแต่ละ bubble โดยดูว่าแต่ละกลุ่มมีอัตราส่วนผู้ได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อแล้วหายต่อจำนวนพนักงานทั้งหมด ถ้ามีอัตราส่วนสูง 70% ขึ้นไป

เท่ากับกลุ่มนี้แข็งแรงแล้ว ให้ไปทำงานสัมพันธ์กับคนอื่นได้บ้าง ส่วนกลุ่มไหนที่ไม่มีคนฉีดวัคซีนเลยเท่ากับเสี่ยงสูงแล้ว ต้องจัดไม่ให้ไปทำงานเกี่ยวพันกับคนอื่นมากนัก

ในกลุ่มมีการสื่อสารระหว่างหัวหน้ากลุ่ม bubble กับลูกน้องว่าเรามีมาตรการอะไรเพิ่มเติมบ้าง ใครละเมิดกฎระเบียบมีบทลงโทษอย่างไร

รวมถึงประชาสัมพันธ์ข้อมูลโควิดที่มีประโยชน์ และลูกทีมก็ถือโอกาสรายงานหัวหน้าว่าตอนนี้รู้สึกไม่สบาย จะเข้าไปแก้ไขได้ทันท่วงที

“คนงานก่อสร้าง” จำเลยสังคม

คำฮิต “seal route” เรื่องการเดินทางมีการจัดระเบียบใหม่เป็น bubble ใคร bubble มัน แถวใครแถวมัน แต่ละ bubble ไม่นั่งรถปะปนกัน อาจยุ่งยากเรื่องการจัดการรถเล็กน้อย อาจต้องวิ่งหลายรอบ ซึ่งของเราทำได้เพราะอยู่ในพื้นที่ไม่ไกลกันมากนัก

หรือมีการเพิ่มรถเข้ามา จัดคนไม่ให้แน่น ที่นั่งก็มีฉากกั้นป้องกันไม่ให้คนงานคุยกันระหว่างเดินทาง มีส่วนหนึ่งที่ต้องเดินเท้าเพราะอยู่ไม่ไกลมาก จะมีคนกำกับดูแลไม่ให้ไปแวะตามข้างทาง

ในไซต์งานก็สวมหน้ากากอนามัย 100% การตรวจวัดอุณหภูมิสำหรับโควิดสายพันธุ์เดลต้าอาจไม่มีประโยชน์นักกับการป้องกัน แต่เป็นสัญลักษณ์ในการคัดกรอง

ที่สำคัญเน้นการตรวจ rapid antigen test ก่อนเริ่มงาน แต่ก็มีข้อถกเถียงว่าจะตรวจซ้ำอีกเมื่อไหร่ ถ้าให้ตรวจทุกสัปดาห์คนงานอาจรับไม่ไหว

ส่วนที่เหลือมีการจัดมอร์นิ่งทอล์กสอดแทรกข้อมูลโควิดเข้าไปด้วย การรับประทานอาหารต้องมีฉากกั้น แยกกันทานอาหารไม่รวมกลุ่ม ทำ bubble and seal 1 เดือนยังไม่พบผู้ติดเชื้อ

การแพร่กระจายเชื้อตอนนี้ในแคมป์เราควบคุมได้ แต่นอกแคมป์จะทำยังไงไม่ให้แพร่กลับเข้ามา

“ฉะนั้นคนงานก่อสร้างที่เป็นจำเลยสังคมมานาน ผมว่าในแง่ของการแก้ปัญหาก็คงต้องร่วมมือกัน การฉีดวัคซีนน่าจะเป็นทางออกที่ดีของทุกฝ่าย หวังว่ารัฐบาลจะเร่งฉีดวัคซีน การตรวจ rapid test ถือเป็นมาตรการเสริม”

ไม่ถนัดงานหมอ-ขอคำแนะนำ

“นายช่างนพดล โค้วบุญญะราศี” ผู้จัดการโครงการก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาลและฟื้นฟูข้าราชการตำรวจ โรงพยาบาลตำรวจ (ดูกราฟิกประกอบ) กล่าวว่า พื้นที่ก่อสร้างอยู่บนถนนราชดำริใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชดำริ แคมป์คนงานห่างออกไป 5 กิโลเมตร อยู่หลังห้าง Show DC พระราม 9

ในแคมป์มีอาคาร 9 หลังรองรับ 900 คน ช่วงก่อนล็อกดาวน์มีคนงานพัก 550 คน เป็นคนงานไทยของ ITD 280 คน กับคนงานต่างด้าว 270 คนของผู้รับเหมาช่วง ตรวจรอบแรกมีคนงานติดเชื้อ 185 คน หรือ 33%

ในช่วงเดือนเมษายนที่เริ่มโควิดระบาดเข้ามาในแคมป์คนงานก่อสร้าง เรากำหนดมาตรการ 5 ข้อ ได้แก่ 1.ตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ 100% 2.ลดการสัมผัส 3.การสื่อสารกับพนักงานในมาตรการต่าง ๆ ต้องรวดเร็ว

4.การรักษา ขณะนั้นเตียงรักษาพยาบาลเริ่มไม่พอ มีปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งจะไม่ได้รับการรักษาตามระบบสาธารณสุข เราก็ต้องรักษาพยาบาล การจัดยา ดูแล

5.ขอคำแนะนำ เนื่องจาก ITD เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ส่วนใหญ่มีวิศวกร สถาปนิก พนักงานบัญชี พนักงานสายช่าง ไม่มีความรู้โรคระบาด ต้องขอคำแนะนำจากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง การรักษาเราก็ขอคำแนะนำจากแพทย์ที่โรงพยาบาลตำรวจหรือโรงพยาบาลภูมิพลซึ่งเราเคยทำงานร่วมกันมา

สารพัดปัญหาขออนุญาตรัฐ

เดือนพฤษภาคมมีการตรวจเชิงรุกครบ 100% แต่การฉีดวัคซีนทำได้ 50% ตามระบบประกันสังคม อีก 50% คนงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ขณะนั้นรัฐบาลยังไม่มีนโยบายฉีดวัคซีนกับแรงงานต่างด้าว มีการเตรียมพื้นที่กักตัวเป็น 3 หลัง

ก่อนปิดแคมป์ 1.อาคารสำหรับกักตัวผู้ติดเชื้อที่รอเตียงเข้ารับการรักษา 2.สีเหลืองเป็นพื้นที่ผู้เสี่ยงสูง ในช่วงแรกยังไม่พบผู้ติดเชื้อ มีแต่ผู้มีความเสี่ยงสูง เราก็ให้พักในโซนสีเหลือง ถ้าตรวจไม่พบเชื้อจะให้เข้าพักในโซนสีเขียวต่อไป

ในช่วงปิดแคมป์ การตรวจคัดกรองในสัปดาห์แรกการเข้า-ออกแคมป์ต้องขออนุญาต ติดต่อ กทม.-สำนักงานเขต ได้รับคำตอบว่า กทม.ไม่มีนโยบายเข้ามาตรวจเชิงรุกในแคมป์ก่อสร้าง ถ้าจะตรวจต้องไปที่ 25 จุดตรวจที่รัฐบาลจัดไว้ให้ประชาชน เราต้องพาคนงานเข้าไปตรวจใน 25 จุดนี้ แต่ก็ตรวจได้เพียงคนงานในระบบประกันสังคมเท่านั้น

การตรวจมีความล่าช้าเนื่องจากต้องขออนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงานทุกครั้ง ต้องไปจองคิวตามจุดต่าง ๆ มีปัญหา เช่น การอนุมัติเคลื่อนย้ายบางครั้งก็ไม่ทัน และไม่ได้รับการตรวจ เพราะการเคลื่อนย้ายไม่ถูกต้อง บางจุดจัดคนเข้าไปตรวจ 30-40 คน ได้ตรวจ 5-10 คน ต้องใช้เวลานานเป็นเดือนซึ่งจะล่าช้าเกินไป

ส่วนคนงานในระบบประกันสังคม พบผู้ติดเชื้อ 1 รายตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ส่งกักตัวในโซนสีแดง ตรวจกลุ่มเสี่ยง 23 คน พบเชื้อ 6 คน ต้องหาวิธีการคัดกรองให้รวดเร็ว

ระเบิดเวลาหลังเปิดแคมป์

“นายช่างนพดล” พูดถึงหลังจากเปิดแคมป์ก่อสร้างมีพนักงานใหม่หรือผู้รับเหมาช่วงภายนอก การเข้ามาในแคมป์ทุกครั้งต้องตรวจ rapid test ก่อน ตรวจซ้ำทุก 14 วัน เป็นมาตรการที่วางไว้จนกว่าจะได้รับวัคซีน

“จากประสบการณ์ตั้งแต่ช่วงแพร่ระบาดในแคมป์ก่อสร้างจนถึงช่วงเปิดแคมป์ พบว่าการล็อกดาวน์แคมป์ทำให้มีการระบาดของเชื้อได้เร็วขึ้น เนื่องจากพนักงานอยู่หนาแน่นในแคมป์ ในส่วนแรงงานต่างด้าว

เนื่องจากเป็นผู้รับเหมาช่วงไม่ยอมเข้าระบบประกันสังคม ต้องตรวจเองด้วยวิธี rapid test และคนงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมก็จะไม่ได้รับการฉีดวัคซีน”

โดยผู้ติดเชื้อคนไทยที่ส่งกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาเดิมไม่กลับมาทำงานหรือกลับมาน้อยมาก แรงงานทยอยลาออกเพราะกลัวโควิด ส่วนแรงงานต่างด้าวไม่มีขาดแคลน ยังคงทำงานครบ

แต่มีข้อกังวลใจในคนที่ฉีดวัคซีน หรือคนหายป่วย ยังไม่มีข้อมูลจะกลับมาติดเชื้ออีกเมื่อไหร่

ถือเป็นระเบิดเวลาที่เป็นปัญหาหลักของไซต์ก่อสร้างในช่วงครึ่งปีหลัง 2564