
จากการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า 9,282 เมกะวัตต์ มีแนวโน้มหน่วยจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่ม 0.2% การไฟฟ้านครหลวงประกาศความพร้อมรับมือการใช้ไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีและระบบศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA แนะ ‘ปิด – ปรับ – ปลด – เปลี่ยน’ ช่วยประหยัดไฟฟ้าช่วงฤดูร้อน
- เปิดภาพโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดถนนวิภาวดีรังสิต
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
- ป.ป.ช.เปิดบัญชีทรัพย์สินอนุทิน-คู่สมรส รวย 4,411 ล้าน จ่ายค่าหย่า 50 ล้าน
วันที่ 31 มีนาคม 2566 นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เผยถึงสถิติการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของ MEA ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ ว่า ช่วงฤดูร้อนจะมีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในรอบปี สำหรับปีนี้คาดการณ์ค่า Peak ในระบบจำหน่ายที่ 9,282 เมกะวัตต์ หรือลดลง 1.7% จากปีที่ผ่านมา โดยจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ขณะที่หน่วยจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ทั้งหมดของปีนี้คาดว่าจะมีจำนวน 51,651 ล้านหน่วย
“MEA มีความพร้อมรับมือกับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้สนับสนุนระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จากสถิติค่าดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า SAIFI (System Average Interruption Frequency Index) หรือค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้องในปี 2565 มีค่าเท่ากับ 0.632 ครั้ง/ราย/ปี และ SAIDI (System Average Interruption Duration Index) หรือค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้องในปี 2565 มีค่าเท่ากับ 20.194 นาที/ราย/ปี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำหนด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสำคัญอย่างศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล สำหรับใช้ในการตรวจสอบสถานะ ตลอดจนวิเคราะห์การทำงานของระบบควบคุมตรวจจับข้อมูล แล้วส่งสัญญาณแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ทราบอย่างรวดเร็วแบบเรียลไทม์ โดยมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้การบริหารจัดการควบคุมแรงดันและการจ่ายกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย รองรับการปรับระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าของ MEA ในโครงการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Metro Grid”
ผู้ว่าการ MEA ยังกล่าวถึงแผนการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมช่วยการเตรียมความพร้อมในด้านระบบไฟฟ้าด้วยระบบ AI ในการบริหารงานซ่อมบำรุงอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่ 18 เขต มีการจัดตั้งทีมปฏิบัติการทางน้ำ Marine MEA เพื่อรองรับการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีพื้นที่ติดริมน้ำและชายฝั่งทะเล ใช้เทคโนโลยี Thermovision สแกนตรวจจับความร้อนของอุปกรณ์ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีการใช้โดรนตรวจสอบระบบสายส่งไฟฟ้าโดยเชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการ Field Force Management และระบบแผนที่ GIS อีกทั้งยังให้ประชาชนแจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้องผ่านแอปพลิเคชั่น MEA Smart Life ตลอด 24 ชั่วโมง
“ในช่วงหน้าร้อนที่มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานมากขึ้นนั้น ขอแนะนำวิธี ‘ปิด – ปรับ – ปลด – เปลี่ยน’ ได้แก่ ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศอยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมควบคู่ ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง และล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยๆ เปลี่ยนมาพกกระติกน้ำแข็งสำหรับดื่ม ตรวจขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้งหากไม่ได้ใช้งาน หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ถ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที รวมทั้งติดตั้งสายดิน พร้อมเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า”
ผู้ว่าการ MEA ย้ำถึงหากเกิดพายุฤดูร้อน มีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดจากพายุ ป้ายโฆษณากลางแจ้งต้องตรวจสอบโครงสร้างให้มีสภาพแข็งแรงมั่นคงปลอดภัย ตรวจสอบระยะห่างของป้ายโฆษณากับสายไฟฟ้า เพราะอาจส่งผลกระทบทำให้ไฟฟ้าดับ ควรอยู่ห่างจากป้ายโฆษณา ต้นไม้ใหญ่ และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงใกล้แนวสายไฟฟ้า เพราะกิ่งไม้อาจหักโค่นจากลมกระโชกแรงและพาดลงมาทำให้เสาไฟฟ้าล้มหรือสายไฟฟ้าขาด สำรวจต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณบ้าน ให้กิ่งไม้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่ระสายไฟฟ้า เพราะอาจทำให้ไฟฟ้าดับ รวมถึงอาจทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วมาตามกิ่งไม้ที่เปียกน้ำจากฝนฟ้าคะนองได้
สำหรับผู้พบเห็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดหรือไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งได้ที่เฟซบุ๊กการไฟฟ้านครหลวง MEA, ไลน์ MEA Connect, ทวิตเตอร์ @mea_news, และศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง 1130 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่น MEA Smart Life ได้ตลอด 24 ชั่วโมง