สดช.แถลงผลสำเร็จ Digital Cultural Heritage ระยะที่ 2

สดช.แถลงผลสำเร็จ Digital Cultural Heritage ระยะที่ 2

สดช.แถลงผลสำเร็จ Digital Cultural Heritage ระยะที่ 2 โชว์แผนดันเมืองไทยสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัล 

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้เศรษฐกิจดิจิทัล เป็น 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลประเทศไทย หวังผลสำเร็จ Digital Cultural Heritage ระยะที่ 2 ช่วยพัฒนากำลังคน เพิ่มทักษะความสามารถ เป็นเครื่องมือสร้างให้ไทยมีรายได้ใหม่จากเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่าน Soft Power มรดกวัฒนธรรมแฟชั่นไทย ในรูปแบบ Digital Content  คาดว่า ปี 2570 ไทยจะมี GDP ด้านดิจิทัลร้อยละ 30 ติด Top 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)  เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นงานแถลงผลสำเร็จ โครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 ที่มุ่งเน้นสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content เผยประสบผลสำเร็จทั้งการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab และกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) ภายใต้หัวข้อ “Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล”

“โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อน Soft Power ของไทย และจุดประกายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างสรรค์และผลักดันอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรมต่อไปในอนาคต ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามรดกวัฒนธรรมของไทยมีความสำคัญมาก แต่จะทำอย่างไรให้สืบทอดไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เทคโนโลยี Digital คือ เครื่องมือสำคัญในการจัดเก็บและรวบรวมวัฒนธรรมมรดกของไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และสามารถต่อยอดไปสู่ทางการขับเคลื่อนให้กลายเป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ นั่นก็คือ เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งถือว่าเป็น 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 (ฉบับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ว่าด้วยเรื่องทิศทางการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลและระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคมดิจิทัล” นายภุชพงค์ โนดไธสง กล่าว

สำหรับโครงการ Digital Cultural Heritage ระยะที่ 2  สดช. ได้มุ่งเน้น 1 ใน 5 F คือ Fashion แฟชั่น เพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะความรู้ สามารถนำเทคโนโลยี Digital มาส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมของไทยที่เป็น Soft Power ให้แปรเปลี่ยนกลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ตามแผนพัฒนาระบบดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเป็นนโยบายที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว จนมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน “นายเศรษฐา ทวีสิน” ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย

“สดช. ตั้งเป้า ปี 2570 ประเทศไทยจะต้องมีมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ GDP ด้านดิจิทัล ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากอันดับ 1 คือประเทศสิงคโปร์ โดยปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์มีข้อได้เปรียบกว่าประเทศไทยในด้านขนาดพื้นที่ของประเทศที่เล็กกว่า ทำให้คล่องตัวมากกว่า ประเทศไทยจึงต้องมุ่งด้านการพัฒนากำลังคนให้เกิดการเชื่อมโยงสู่ Digital Content และค้าขายผ่านแพลตฟอร์ม Digital  ให้มากยิ่งขึ้น” นายภุชพงค์ โนดไธสง ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม

ด้านนางสุวิชา บุญช่วยรอด ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวถึง รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ Digital Cultural Heritage ระยะที่ 2 ว่าได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ไปทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งได้ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์มากมาย 

และได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) สร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content หัวข้อ “Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล” ทั้งสาขาเทคโนโลยี และสาขาสื่อมัลติมีเดีย แบ่งออกเป็น  2 ประเภท ได้แก่ ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประเภทประชาชนทั่วไป ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันจากทั่วประเทศกว่า 60 ทีม จำนวนรวมทั้งสิ้น 287 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจำนวน 40 ทีม ได้เรียนรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การสร้างสรรค์ผลงาน การถ่ายทอดเรื่องราว และฝึกปฏิบัติการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content โดยจัดแข่งขันนำเสนอผลงานรอบสุดท้ายและมอบรางวัลไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ 

ทีมที่คว้ารางวัลสูงสุดจากการแข่งขันครั้งนี้ ได้แก่ ทีม Fash.Design รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยส่งผลงานเข้าแข่งขันในสาขาเทคโนโลยี ประเภทประชาชนทั่วไป นำเสนอแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยเหลือผู้ประกอบการชุดไทยท้องถิ่นและชุดไทยดั้งเดิม ที่ขาดทักษะด้านออนไลน์และภาษาต่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยี AI สร้าง Virtual Model และดิสเพลย์ที่สวยงาม แปลได้ 70 ภาษา และเชื่อมต่อ e-commerce กว่า 30 แพลตฟอร์มทั่วโลก เพื่อปลุกพลัง Soft Power แฟชั่นไทย ก้าวไกลสู่ตลาดสากล

อีกทั้งภายในงานแถลงข่าวผลสำเร็จ Digital Cultural Heritage ระยะที่ 2 ยังมีกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “การพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ” โดยตัวแทนจากภาครัฐ อาทิ  สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในมุมมองการใช้ Soft Power เพื่อต่อยอดสร้างผลประโยชน์เชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น จุดแข็งและจุดอ่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content เพื่อส่งเสริม Soft Power รวมไปถึงตัวแทนจากภาคเอกชนกับการใช้ Soft Power ในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ

สุดท้าย ทางสดช.ยังกล่าวอีกว่า ได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ ในการส่งเสริมการนำเข้าข้อมูลวัฒนธรรมไทยสู่ระบบดิจิทัล ได้แก่ ระบบสารสนเทศด้านวัฒนธรรมและแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Map Thailand) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ Platform คลังข้อมูล “วัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ” (นวนุรักษ์) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) อีกด้วย และหวังว่าการดำเนินโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ในระยะที่ 2 นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อน Soft Power ของไทย และจุดประกายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างสรรค์และผลักดันอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรมต่อไปในอนาคต ติดตามรายละเอียดของโครงการดังกล่าว ได้ที่ www.hackulture.com