อันตรายจากการนอนไม่หลับ

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย ศ.พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์

คนเราเมื่อได้เวลานอน หัวถึงหมอน ภายใน 30 นาที เราจะเข้าสู่ภวังค์ของการนอนหลับ แต่ถ้าใครต้องใช้เวลากว่าจะหลับบนเตียงนอนมากกว่า 30 นาทีขึ้นไปบ่อยครั้ง ถี่เกินกว่า 3 คืนต่อสัปดาห์ จะถือว่าผิดปกติ เข้าข่ายที่หมอจะวินิจฉัยได้ว่าเป็น โรคนอนไม่หลับ หรือ insomnia

จากการรวบรวมสถิติโดย รศ.นพ.จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าคนไทยมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับถึง 1 ใน 3 โดยผู้สูงอายุจะมีปัญหานี้

เพิ่มขึ้นตามวัยที่มากขึ้น บางคนใช้เวลานานกว่าจะหลับ บางคนตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วไม่สามารถหลับต่ออีกได้ บางคนตื่นเช้าเกินไป ตื่นมาตั้งแต่ตี 3 ตี 4 แล้วไม่กลับไปนอนต่อ

คนที่นอนไม่หลับแล้วหลับไม่พอเหล่านี้ ตื่นขึ้นมาจะไม่สดใส รู้สึกอ่อนเพลีย ง่วง หมดเรี่ยวแรง ไม่มีพละกำลัง เวลาคิดอะไร มักจะคิดไม่ออก ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ฉุนเฉียว หาเรื่องทะเลาะกับคนรอบข้าง ทำงานผิดพลาดบ่อย ๆ ตัดสินปัญหาเฉพาะหน้าไม่เหมาะสม สร้างปัญหาให้กับครอบครัว คนรอบข้าง และที่ทำงาน บางคนพอถึงเวลานอนก็จะกังวลมาก กลัวว่าเข้านอน หัวถึงหมอนแล้ว แต่ตาค้าง นอนไม่หลับ อิจฉาคนข้างเคียงว่าหลับสบาย แต่ตัวเองกลับไม่หลับ กลายเป็นโรควิตกจริต ไม่กล้าเข้านอนไปเลยก็มี

ถ้าโชคดี มีปัญหานอนไม่หลับในระยะเวลาสั้น ๆ คือ น้อยกว่า 3 เดือน มักจะเกิดจากความตื่นเต้น ความเครียด เช่น เปลี่ยนงาน เครียดเตรียมตัวสอบ เป็นต้น เมื่อสถานการณ์นั้น ๆ ลดความตึงเครียดลง

ก็มักจะกลับมานอนได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นมานาน (ทางแพทย์ให้มากกว่า 3 เดือน) ถือว่าเป็นโรคนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง อาจเกิดจากโรคทางกาย เช่น เป็นหวัดภูมิแพ้ กรดไหลย้อน ข้ออักเสบ พาร์กินสัน ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดกระดูก ขากระตุก ภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เป็นต้น และอาจเกิดจากโรคทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ยิ่งทำให้โรคนอนไม่หลับรุนแรงมากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ช่วงแรก ๆ จะทำให้รู้สึกว่าหลับง่ายขึ้น แต่พอหลับไปกลางดึกสมองกลับตื่นตัวมากขึ้น อาจตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วไม่หลับต่อ การดื่มน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน จะไปกระตุ้นสมองทำให้นอนไม่หลับเช่นเดียวกัน

อีกอย่างคือการกินอาหารจนแน่นท้อง โดยเฉพาะมื้อเย็น หรือมื้อค่ำ ทำให้อึดอัด มีกรดไหลย้อน ยิ่งเป็นอาหารรสจัดด้วย จะทำให้รู้สึกแสบท้อง แล้วนอนไม่หลับ

โดยทั่วไป ถ้าเรามีอาการเข้าข่ายของโรคนอนไม่หลับ ให้มองรอบ ๆ ตัวเอง แล้วคิดวิเคราะห์ก่อนว่าสาเหตุของโรคนอนไม่หลับของเรานั้นเกิดจากอะไร ให้แก้ที่สาเหตุที่เกี่ยวข้องก่อน พร้อมกันนี้

ให้ปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดีของการนอนหลับ (sleep hygiene) 5 ข้อ ที่สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รวบรวมไว้ โดยดัดแปลงจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเรื่องการหลับในสหรัฐอเมริกา ดังนี้

1.เข้านอน-ตื่นเช้า ให้เป็นเวลา

2.ออกกำลังกายเป็นประจำ ห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

3.ห้องนอนควรมืด เงียบ อุณหภูมิพอเหมาะ และมีการถ่ายเทอากาศได้ดี

4.งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนเข้านอน

5.ไม่ควรดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือใช้อุปกรณ์สื่อสารในห้องนอน

เพียง 5 ข้อแค่นี้ ถ้าทำได้ ท่านจะนอนหลับได้สนิท เพื่อชีวิตเป็นสุข และเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

หมายเหตุ : ศ.พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ นายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย และศูนย์โรคการนอนหลับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล