เนสท์เล่ เปิดตลาดนัดขยะ สร้างรายได้ชุมชน-รักษาแหล่งน้ำ

เนสท์เล่

การดูแลรักษาแหล่งน้ำเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ “เนสท์เล่” และตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ล่าสุด จับมือกับ “วงษ์พาณิชย์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะ พร้อมด้วยชุมชนตำบลบ้านวังหลวง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อจัดตั้ง “ตลาดนัดขยะชุมชน” เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

“นาริฐา วิบูลยเสข” ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจน้ำดื่ม ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำดื่มเนสท์เล่เพียวไลฟ์และน้ำแร่มิเนเร่ ภายใต้บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า น้ำเป็นทรัพยากรสำคัญของธุรกิจเนสท์เล่ และบริษัทมีพันธกิจด้านความยั่งยืนไปสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 จึงมีแผนงานที่เป็นรูปธรรมในการดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อปกป้องและฟื้นฟูแหล่งน้ำให้กับคนรุ่นต่อไป

หากย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน เนสท์เล่ได้จับมือกับ WWF ประเทศไทย ริเริ่มโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ (Youth Water Guardian) เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำในคลองขนมจีน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และปลูกจิตสำนึกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดให้รู้จักการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรน้ำบริเวณโรงเรียนและชุมชนของตนเอง และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชน

โดยร่วมมือกับโรงเรียน ชุมชน และองค์กร ภาคประชาสังคม ทำกิจกรรม ให้ความรู้ รวมถึงพายเรือเก็บขยะคลองขนมจีน ซึ่งเป็นคลองที่อยู่ใกล้กับโรงงานของเนสท์เล่

“จนพบว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสียคือขยะที่หลุดลอยลงสู่แหล่งน้ำ และส่วนใหญ่เป็นขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เราจึงได้ต่อยอดจากโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำมาสู่การจัดตั้งตลาดนัดขยะชุมชน ที่บริเวณโรงเรียนจรัสวิทยาคาร ต.บ้านหลวง อ.เสนา เป็นพื้นที่นำร่อง

จัดอบรมให้ชาวบ้านได้รับความรู้ว่าขยะมีค่า และได้รับประสบการณ์จริงด้วยการจัดตลาดนัดขยะให้เกิดการซื้อขายจริง ผ่านความร่วมมือกับวงษ์พาณิชย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะและเป็นผู้รับซื้อขยะมาช่วยเรา”

ด้าน “ดร.สมไทย วงษ์เจริญ” ประธาน วงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป กล่าวว่า สาเหตุที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะทางเนสท์เล่ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของตนเอง อีกทั้งเนสท์เล่ยังเป็นบริษัทต้นแบบที่ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% สามารถนำไปทำประโยชน์ได้

ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดว่าอยากให้สายน้ำทั่วไทยเป็นสายน้ำที่สะอาดและสวยงาม ด้วยการทำให้คนไม่ทิ้งขยะลงไป ฉะนั้นจึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปรับความคิดต่อคนไทยทุกคนว่า เศษขยะทุกชิ้นนั้นเป็นสิ่งที่มีค่า สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นเงินตราได้

“สำหรับคลองขนมจีนเป็นสายน้ำที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตชุมชนมาเป็นเวลานาน แต่ได้กลายเป็นแหล่งน้ำเน่าเสีย ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะมีขยะลอยน้ำเต็มไปหมด นี่เป็นเพราะขยะไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ทำให้ขยะเป็นสิ่งไร้ค่า ซึ่งการทิ้งขยะลงแม่น้ำ ลำคลอง ก็เหมือนทิ้งเงิน เราควรส่งเสริมให้เกิดการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ในระดับครัวเรือนและชุมชน เพื่อไม่ให้ขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศในน้ำและมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม”

เนสท์เล่

“ดร.สมไทย” กล่าวต่อว่า การที่เข้ามาร่วมโครงการก็เพื่อช่วยให้ชุมชนเรียนรู้การจัดเก็บและดูแลขยะอย่างถูกวิธี ทำให้ทรัพยากรที่อยู่ผิดที่ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น เรียนรู้ถึงความต่างของกระป๋องอะลูมิเนียมที่สามารถทำให้แบนและนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด ซึ่งต่างจากกระป๋องดีบุกที่ทำให้แบนไม่ได้ ขวด PET ใสที่บิดและปิดฝาก่อนทิ้งโดยไม่ต้องแยกฉลากให้ราคาดีกว่าขวดหลากสี

ขวดน้ำปลาและซีอิ๊วต่าง ๆ ที่เป็นแก้วสามารถขายได้เลยโดยไม่ต้องถอดฝาออก สมุดจดที่ใช้หมดแล้วแค่ดึงปกออกก็สามารถขายได้ราคาดีกว่า เพราะปกต้องแยกขายเป็นกระดาษย่อย รวมถึงน้ำมันพืชที่ใช้แล้วไม่สามารถนำไปใช้ได้อีก ก็นำมาขายได้เช่นเดียวกัน หรือแม้แต่ถุงแกงเลอะคราบมันก็สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน หรือ RDF ได้ เพราะจะให้พลังงานความร้อนได้ดี

“ขยะแต่ละชนิดมีราคา ในตลาดนัดขยะชุมชนจะมีการขึ้นป้ายอัพเดตราคาทุกครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับชาวบ้านที่นำขยะมาขาย วงษ์พาณิชย์จะรับซื้อและนำไปรีไซเคิล โดยให้ราคากลางซึ่งอ้างอิงจากราคาจริงในตลาด สามารถติดตามราคากลางแบบรายวันได้บนเว็บไซต์ของ wongpanit และหลังจากที่รับซื้อไปแล้ว วงษ์พาณิชย์จะแยกการรีไซเคิลตามประเภทวัสดุ

เช่น กระดาษจะเอาไปผลิตเป็นเยื่อกระดาษใหม่ ไม่ต้องใช้ทรัพยากรใหม่ กระป๋องอะลูมิเนียมจะนำไปผลิตเป็นอะลูมิเนียมใหม่ได้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง ส่วนขวด PET สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ทำเป็นเส้นใยเพื่อมาทำเสื้อผ้าหรือกระเป๋า หรือแก้วก็จะเอาไปผลิตเป็นแก้วใหม่ได้”

“อรัณยา กิจฉัย” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลบ้านหลวง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่รู้จักการคัดแยกขยะมักจะทิ้งขว้าง ในส่วนที่นำไปขายได้ก็นำไปขายแบบเหมารวม ไม่มีการคัดแยกทำให้ได้ราคาที่ต่ำ ซึ่งก็หวังว่าการที่เรามีตลาดนัดขยะชุมชน จะช่วยให้ชุมชนรู้จักการคัดแยกขยะมากขึ้น และเห็นคุณค่าของขยะแต่ละชิ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น

คาดว่าในระยะต่อไปเราก็จะมีการจัดเก็บข้อมูล พัฒนาให้ตลาดนัดขยะแห่งนี้ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน และนำความรู้ส่งต่อไปยังหมู่บ้าน ตำบลใกล้เคียง