ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ ภูมิปัญญาอาหารชุมชนแก่นมะกรูด

ครัวกะเหรี่ยง

กล่าวกันว่า เมื่อ “ความเจริญ” มาเยือนในสถานที่ใดก็ตาม มักจะเกิด “ความเสื่อม” ตามมาด้วยเช่นกัน ซึ่งคล้าย ๆ กับชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วของตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ที่ปัจจุบันงูใหญ่ (ถนน), ม้ามีเขา (มอเตอร์ไซค์) เสาออกดอกกลางบ้าน (เสาไฟฟ้า) และคนเสียงดังมาเรียกข้างบ้าน (รถกับข้าว) ตามภาษาเรียกของชาวบ้านในชุมชน กลับทำให้วิถีชีวิตที่เคยพึ่งพา และผูกพันแนบแน่นอยู่กับธรรมชาติ กำลังถูกกระแสของโลกทุนนิยมสมัยใหม่กลืนกิน

ยิ่งเฉพาะพืชเชิงเดี่ยวกำลังเข้ามาทดแทนข้าวไร่ ขณะที่พืชพันธุ์ต่าง ๆ ตามธรรมชาติกำลังล้มหายตายจากไปด้วยผลกระทบของปุ๋ย และยา ส่วนอาหารพื้นบ้านกำลังถูกแทนที่ด้วยแกงถุงสำเร็จรูปของคนเมือง จนทำให้การพึ่งพาตนเองหายไป ทุกอย่างในชีวิตต้องแลกมาด้วยการซื้อ ภูมิปัญญาดั้งเดิมอันทรงคุณค่าของบรรพบุรุษกำลังจะเลือนหาย

“รุ่งฤดี สุทรหลวง” หรือ “อ้อย” คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จึงรวมพลังผองเพื่อนลุกขึ้นมาหยุดยั้งในสิ่งที่คนโบราณทำนายไว้ว่าจะเป็น “หายนะ” สำหรับชุมชนของพวกเขา ด้วยการเปิด “ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ” นำภูมิปัญญาอาหารพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์มาสร้างจุดขาย พร้อมยกระดับให้พื้นที่แห่งนี้เป็นหมุดหมายใหม่ให้กับนักเดินทาง ที่ต้องการเข้าให้ “ถึงแก่น” มากกว่าแค่มาถึงยังแก่นมะกรูด ดินแดนที่ถูกขนานนามว่ามีอากาศหนาวที่สุดของภาคกลาง

รุ่งฤดี สุทรหลวง “อ้อย”

สำหรับ “ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ” เกิดขึ้นจาก “อ้อย” และเพื่อน ๆ ตั้งคำถามว่า อาหารต่าง ๆ ที่พวกเขาเคยกินในวัยเด็กนั้นหายไปไหน จนนำมาสู่การสืบค้น และรวบรวมเมนูอาหารต่าง ๆ และค้นหาผู้ที่ยังทำอาหารเหล่านั้นได้ จากนั้นก็ชักชวนเพื่อน ๆ เข้าไปเรียนรู้ขั้นตอน และวิธีการทำอาหารแต่ละชนิด เพื่อให้ทั้งคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่กลับมาทานอาหารพื้นบ้านอีกครั้ง

“วัตถุดิบในอาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยงแต่ละชนิดจะเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตในแต่ละฤดูกาล ถ้าเราไม่ปลูกข้าวไร่ เราจะไม่ได้กินเมนูข้าวใหม่ ถ้าเราปลูกข้าวโพด และใช้ยาฆ่าหญ้า เราจะปลูกพริกกะเหรี่ยงไม่ได้ เมื่อครัวกะเหรี่ยงฯเป็นที่รู้จักของนักเดินทางมากขึ้น ชาวบ้านจะมีรายได้จากการขายวัตถุดิบต่าง ๆ ให้กับครัวของเรา ซึ่งพอถึงจุดนั้นเชื่อมั่นว่าคนในชุมชนจะเห็นคุณค่าของภูมิปัญญา และวัฒนธรรมอาหารของตนเองว่า อาหารกะเหรี่ยงเป็นจุดขายได้ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับวิธีการทำการเกษตร ลดการใช้ปุ๋ยยา และหันมาปลูกพืชผักไว้ทานเองเหมือนในอดีต”

Advertisment

หากย้อนไปในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 คนในชุมชนแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อไม่มีของเข้ามาขาย พวกเขาจึงเริ่มตระหนักถึงภูมิปัญญา และการพึ่งพาตนเองแบบวิถีดั้งเดิม ซึ่ง “อ้อย” และเพื่อน ๆ ได้ใช้ “วิกฤต” ที่เกิดขึ้นเป็น “โอกาส” ในการชักชวนชาวบ้านให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อน และฟื้นฟูวิถีชีวิตความเป็นกะเหรี่ยงโผล่ว ให้กลับคืนสู่ชุมชน โดยการเปิดครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อ ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว อันเป็นจุดเริ่มต้นในการทำภาพฝันของพวกเขาให้เป็นจริง

Advertisment

“อาหารพื้นบ้านของเราจะเน้นกินอาหารเป็นยา โดยเมนูที่ภูมิใจนำเสนอ ได้แก่ เชอยิเก่อ หรือแกงปลาสับใส่ข้าวคั่ว, แกงข้าวเบือใส่หมู, แกงข้าวคั่วไก่, ต้มปลาใส่มะตาดและมะกรูด, น้ำพริกปู, น้ำพริกมะเขือส้ม, น้ำพริกปลาดุก, แกงหยวกกล้วยใส่ไก่, แกงยอดมะระขี้นกใส่หมู ซึ่งเป็นเมนูอาหารที่เราอยากจะสื่อสารกับคนภายนอกว่า แก่นมะกรูดของเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่ดีมากมาย เพราะฉะนั้น ทุกวันเสาร์จะมีอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาลมาให้ได้ชิม ทั้งยังมีสินค้า และผลิตภัณฑ์จากชุมชนต่าง ๆ และมีกิจกรรมดี ๆ มากมาย ทั้งการสุม (อบ) ยาสมุนไพร หรือการพอกตาด้วยสมุนไพรพื้นบ้านต่าง ๆ”

“สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์” หรือ “ป้าโก้” หัวแรงหลักสำคัญของ “บ้านไร่อุทัยยิ้ม” หนึ่งในภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้ หรือ learning space ของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเสริมว่า ดิฉันนำต้นทุนด้านต่าง ๆ ของชาวอำเภอบ้านไร่ มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็ก และเยาวชนในพื้นที่มานานกว่า 15 ปี

สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ “ป้าโก้”

“เริ่มจากการทำบ้านดิน เพื่อเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กและเยาวชน มีพื้นที่ปลอดภัยเป็นของตนเองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ จนได้รับการยอมรับจากชุมชน รวมถึงการฟื้นตำนานป่าหมากล้านต้นที่เด็ก ๆ ช่วยกันสืบค้น และฟื้นฟู สร้างกระบวนการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับชุมชน จนพัฒนาไปเป็นต้นไม้ยักษ์ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่ผูกโยงอยู่กับธรรมชาติ พร้อมหยิบยกวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลายของ 3 เชื้อชาติในพื้นที่ ทั้งลาว, ขมุ และกะเหรี่ยง มาจัดกิจกรรมอาหารแห่งชาติพันธุ์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน จนได้รับรางวัลระดับประเทศ”

“ครัวกะเหรี่ยงเชอยิเก่อเป็นเครือข่ายของคนในชุมชน โดยใช้วัตถุดิบจากชุมชนเป็นหลัก ที่สำคัญ ตรงนี้ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ ในชุมชน โดยทุกวันเสาร์จะมีกิจกรรมให้ชาวบ้านนำผลผลิต ผลิตภัณฑ์ สินค้าต่าง ๆ หรือขนมพื้นบ้านมาวางขาย ส่วนคำว่า เชอยิเก่อ มาจากอาหารโบราณของชาวกะเหรี่ยง ที่เรียกว่าแกงสับรวมปลากับสมุนไพร ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ครัวกะเหรี่ยงจึงเป็นพื้นที่เล่าเรื่องของชุมชนโดยคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง”

“สิริวรรณ” กล่าวต่อว่า เป้าหมาย และผลลัพธ์ของการทำงานครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้ในการพัฒนาเด็ก และเยาวชนของบ้านไร่อุทัยยิ้ม เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งฟังดูแล้วอาจเป็นนามธรรม แต่คำว่า อยู่เย็นเป็นสุข คือภาพฝันที่เราอยากเห็น อยากเห็นผู้คนในชุมชนยิ้มให้กันอย่างมีความสุข มีวิถีชีวิตที่เกื้อกูลกัน แต่โจทย์ที่ยากกว่านั้นคือ ทำอย่างไรให้เด็ก ๆ ยังคงความเป็นวิถีชีวิตแบบนั้นได้ ทำอย่างไรที่จะให้เด็ก ๆ นำความรู้ที่ได้รับจากโลกภายนอกกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง โดยพวกเขาต้องอยู่รอดได้ อยู่ร่วมได้ และต้องอยู่อย่างมีเป้าหมายในชีวิต

“วันนี้ เชอยิเก่อ จึงไม่ได้เป็นแค่ชื่อสำรับอาหารภายในบ้าน แต่เป็นการนำพาวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาวกะเหรี่ยงโผล่ว ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและธรรมชาติออกไปสู่ภายนอก พร้อมกับปักหมุดหมายใหม่ เปลี่ยนกระแสของการท่องเที่ยวแบบมาเช็ก-แชะและจากไป แต่ให้แก่นมะกรูดกลายเป็นพื้นที่ที่มีความรุ่มรวยทางด้านวัฒนธรรม โดยนำอาหารมาเป็นเครื่องมือในการเปิดประตูเข้าไปสู่การเรียนรู้ในมิติอื่น ๆ ของพื้นที่แห่งนี้อย่างลงตัว”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว