อาสาสมัคร JICA นำเรื่องโภชนาการช่วยผู้สูงอายุไทย

องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (The Japan International Cooperation Agency : JICA) หรือไจก้า เป็นหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ดำเนินโครงการความร่วมมือตลอดจนความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา ครอบคลุมหลายด้าน เช่น การพัฒนาชุมชน, การขนส่ง, พลังงาน, การเกษตร, สุขภาพ, การศึกษา, การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิจิทัล เป็นต้น

นอกจากนั้น JICA ยังมุ่งส่งเสริมการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศไทย โดยเล็งเห็นว่าโครงการอาสาสมัคร เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ชุมชน เศรฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน จึงนำเสนอผ่าน 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการอาสาสมัคร JICA Japan Overseas Cooperation Volunteers (JOCV) และโครงการ Friends From Thailand (FFT) หรือโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย

คาซึยะ ซูซุกิ
คาซึยะ ซูซุกิ

“คาซึยะ ซูซุกิ” Chief Representative องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) กล่าวว่า จุดแข็งของ JICA มี 3 ด้าน คือ

หนึ่ง global presence การมีตัวตนระดับโลก โดยไจก้ามีสำนักงานกว่า 100 แห่งทั่วโลก และมีสำนักงาน 15 แห่งในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้น JICA ยังขยายความร่วมมือต่อเนื่องไปทั่วทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา ทวีปตะวันออกกลาง ทวีปอเมริกากลางและใต้ และส่วนอื่น ๆ ของโลก

สอง human resource มีทรัพยากรบุคคลที่เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ และมีความน่าเชื่อถือ เพราะสั่งสมมาจากความร่วมมือหลายปีกับประเทศพันธมิตร โดย JICA ดำเนินโครงการฝึกอบรมผู้คนมากมายในหลากหลายตำแหน่ง ทั้งเจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าของบริษัท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ จากประเทศพันธมิตร

โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมกว่า 17,000 คน ในปีงบประมาณ 2560 ที่สำคัญ JICA มุ่งเน้นการร่วมมือในระยะยาว จึงให้ความสำคัญกับการรักษาสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากประเทศพันธมิตร

สาม information มีข้อมูลเชิงลึกที่อัพเดตอยู่เสมอเกี่ยวกับท้องถิ่นต่าง ๆ เพราะ JICA มีพนักงานที่เป็นคนท้องถิ่นอยู่ทั่วโลก ตลอดจนมีผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่ที่สำนักงานของไจก้าในประเทศต่าง ๆ โดยในปี 2560 ไจก้าจัดส่งผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นกว่า 10,000 คน และอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นกว่า 1,000 คน ไปร่วมทำงานด้านต่าง ๆ ในชุมชนในต่างประเทศ

นอกจากนั้น เว็บไซต์ของ JICA ยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์และครอบคลุมสำหรับผู้กำลังมองหาอาชีพในประเทศที่ JICA มีความร่วมมือ โดยในปี 2560 มีคนลงทะเบียนหางานในต่างประเทศกว่า 12,000 คน

“คาซึยะ ซูซุกิ” กล่าวต่อว่า ความช่วยเหลือของญี่ปุ่นต่อไทยเริ่มจากการรับผู้ฝึกงานชาวไทยจำนวน 21 คนไปทำงานในญี่ปุ่น ในปี 2497 จากนั้นปี 2517 ไจก้าตัดสินใจจัดตั้งสำนักงานในประเทศไทย และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

สำหรับโครงการความช่วยเหลือของ JICA ในประเทศไทย มี 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.ความร่วมมือทางวิชาการ (technical cooperation) 2.ความร่วมมือแบบเงินกู้เพื่อการพัฒนา (loan) และความร่วมมือแบบให้เปล่า (grant) 3.ความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชน (public-private partnership) ซึ่งเป็นความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคี ไปจนถึงระดับภูมิภาค และ 4.โครงการอาสาสมัคร

โดยโครงการสำคัญของไจก้าในประเทศไทยที่ผ่านมา เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปี 2547, สะพานภูมิพล 1 และ 2 ปี 2549, โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program) ปี 2523, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปี 2549

“ทาง JICA ย้ำจุดยืนความเป็นพันธมิตรด้านการพัฒนา โดยมุ่งเน้นโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการแลกเปลี่ยน การถ่ายทอดประสบการณ์ และองค์ความรู้ ผ่านโครงการอาสาสมัคร JICA Japan Overseas Cooperation Volunteers (JOCV)

ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่น และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มมีการส่งอาสาสมัครมายังประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2524 ปัจจุบันมีอาสาสมัครถูกส่งมามากกว่า 1,000 คนแล้ว”

อีกหนึ่งโครงการคือ โครงการ Friends From Thailand (FFT) หรือโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งอาสาสมัครชาวไทยไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทย และให้อาสาสมัครเพื่อนไทยได้มีความเข้าใจในท้องถิ่นที่ได้เดินทางไปมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ มีการส่งอาสาสมัครเพื่อนไทยไปปฎิบัติงาน ณ เมืองคุชิโระ จังหวัดฮอกไกโด และเมืองคุมาโมโตะ จังหวัดคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2565 คือ “กรวรรณ โฆษกิจจาเลิศ” หนึ่งในอาสาสมัครไทยที่มาพร้อมภารกิจการส่งเสริมการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองคุชิโระ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่คนไทยมากยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเป็นการริเริ่มความร่วมมือแบบใหม่ระหว่าง JICA และ TICA

นาโอะ คาริโน
นาโอะ คาริโน

“นาโอะ คาริโน” อาสาสมัครชาวญี่ปุ่น ในโครงการ JICA Japan Overseas Cooperation Volunteers (JOCV) ปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ บ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 1 จ.นนทบุรี กล่าวว่า สนใจสมัครโครงการ JOCV เพราะมีประสบการณ์ด้านโภชนาการที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมา 11 ปี และเห็นประกาศบนเว็บไซต์ JICA ในตำแหน่งดูแลผู้สูงอายุในไทย ระยะเวลา 4 ปี จึงสนใจอยากหาประสบการณ์นอกประเทศ จะได้ใช้ความสามารถที่สั่งสมมาช่วยผู้อื่นด้วย

“ส่วนการทำงานที่ไทยจะเน้นด้านส่งเสริมสุขภาพในชุมชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึงการจัดสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพภายในชุมชนให้แก่อาสาสมัครที่สนใจ และชาวไทยผู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชน ความแตกต่างระหว่างการทำงานดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่น และไทย

คือที่ญี่ปุ่น คนดูแลผู้สูงอายุจะเป็นพนักงานที่ไม่ได้รู้จักกับผู้สูงอายุเป็นการส่วนตัว ไม่มีความเป็นครอบครัว แต่ที่ไทย ชุมชนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุมาก เช่น เพื่อนบ้านมีส่วนช่วยเหลือพาผู้สูงอายุมาที่ศูนย์ดูแลฯ จึงรู้สึกว่าชุมชนที่ไทยมีความเข้มแข็ง”

“แต่จุดที่อยากให้มีการพัฒนาคือความร่วมมือกับร้านค้าในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องโภชนาการ เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในปัจจุบันรับประทานอาหารที่ซื้อมาจากร้านค้าต่าง ๆ ในชุมชน แต่ร้านค้ายังไม่เข้าใจเรื่องโภชนาการเพียงพอ จึงปรุงรสชาติที่ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ เช่น เค็มไป หวานไป”

“มิกิ โทคุกะวะ” อาสาสมัครชาวญี่ปุ่นในโครงการ JICA Japan Overseas Cooperation Volunteers (JOCV) ปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ บ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 1 จ.นนทบุรี กล่าวว่า ตอนอยู่ที่ญี่ปุ่น ตนเองทำงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุมากว่า 20 ปี และเปิดบ้านรับชาวต่างชาติในลักษณะครอบครัวอุปถัมภ์ (host family) ด้วย

ทำให้ได้เจอชาวต่างชาติจำนวนมาก และรู้สึกชอบการเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายจากชาวต่างชาติ บวกกับลูก ๆ ของตนโตเป็นผู้ใหญ่ และเลี้ยงดูตัวเองได้แล้ว จึงตัดสินใจสมัครโครงการ JOCV เพื่อมาทำงานที่ไทย

“ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่กำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ จึงมีความต้องการแรงงานที่ดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก แต่ว่าขาดแคลน เพราะเด็กรุ่นใหม่สนใจทำงานด้านอื่นมากกว่า และวัฒนธรรมของทางญี่ปุ่นนั้น ลูกหลานมักไม่ได้อยู่ดูแลพ่อแม่ แต่จะแยกย้ายออกไปมีครอบครัวของตัวเอง ทำให้ญี่ปุ่นต้องการแรงงานจากต่างประเทศมาทำงานด้านนี้เป็นจำนวนมาก”

นับว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการแลกเปลี่ยน และการถ่ายทอดประสบการณ์องค์ความรู้ในระดับฐานราก เป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งทาง JICA พร้อมให้การสนับสนุนโครงการความร่วมมือระดับประเทศกับไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต