งานวิจัยแนะ 3 แนวทางช่วยประเทศไทยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขยะ
ภาพจาก The Circulate Initiative

The Circulate Initiative เปิดงานวิจัย แนะ 3 แนวทาง ประเทศไทยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รีไซเคิลขยะพลาสติกที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2573 จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 27.9 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการลดจำนวนรถยนต์กว่า 6.2 ล้านคันจากท้องถนนใน 1 ปี

วันที่ 10 สิงหาคม 2566 งานวิจัยโดย The Circulate Initiative ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติกในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ได้เผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างการกำจัดขยะพลาสติก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ผ่านรายงานเรื่อง “ประโยชน์ในด้านสภาพภูมิอากาศจากการกำจัดขยะในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” 

รายงานถึงศักยภาพของการลงทุนเพื่อกำจัดและรีไซเคิลขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพใน 6 ประเทศของภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

ซึ่งอ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากเครื่องมือคำนวณวงจรชีวิตพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (PLACES) ฉบับล่าสุดที่จัดทำโดย The Circulate Initiative ซึ่งเป็นการคำนวณเพื่อติดตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนปริมาณพลังงานและน้ำที่ใช้สำหรับการจัดการและรีไซเคิลขยะพลาสติกทั่วภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเครื่องมือคำนวณซึ่งเป็นเครื่องมือแรกที่เปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

การที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาด้านมลพิษพลาสติกมากที่สุดนั้น เป็นผลมาจากการขาดโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการขยะ ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการกำจัดขยะพลาสติกอย่างถูกต้องจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการกับปัญหามลพิษพลาสติก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นสำคัญ ประกอบไปด้วย

  1. หากสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องในประเทศไทยได้ทั้งหมดภายในปี 2573 จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 27.9 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการลดจำนวนรถยนต์กว่า 6.2 ล้านคันจากท้องถนนใน 1 ปี
  2. 85% ของคาร์บอนฟุตพรินต์ในประเทศไทยเกิดจากการเผาขยะในที่โล่งและในโรงเผาขยะ หากเปลี่ยนการกำจัดขยะจำนวน 1 ตันจากการเผาในที่โล่ง ไปสู่การคัดแยกขยะและรีไซเคิลอย่างถูกต้องและเหมาะสม อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 3 ตัน
  3. หากประเทศไทยยังคงกำจัดขยะพลาสติกด้วยการเผาขยะและการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน จะทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 3.3 ล้านตันภายในปี 2573 ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้โดยการใช้โซลูชั่นการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล

นอกจากนี้ รายงานยังเปิดเผยว่า การรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องในอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมกันจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 229 ล้านตันภายในปี 2573 ซึ่งเทียบเท่ากับการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 61 แห่งเป็นเวลา 1 ปี

เครื่องมือ PLACES ได้รับความร่วมมือในการพัฒนากับหน่วยงาน Agency for Science, Technology and Research (A*STAR) ในสิงคโปร์ เพื่อดำเนินโครงการในอีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม อีกทั้งยังมีข้อมูลที่อัพเดตสำหรับการดำเนินงานในอินเดียและอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีการผลิตแห่งสิงคโปร์ (SIMTech) ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ A*STAR ได้ให้การสนับสนุนการวิจัยด้านการศึกษาและประเมินปริมาณของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ขั้นตอนการเดินทางของขยะพลาสติกที่สิ้นอายุการใช้งานแล้ว

นับตั้งแต่เปิดใช้งานในปี 2564 เครื่องมือ PLACES ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทต่าง ๆ นักลงทุน นักรีไซเคิล ผู้ให้บริการกำจัดขยะ และนักวางผังเมือง ในการผลิตข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงเชิงลึกเพื่อนำไปใช้ในการวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกำจัดและรีไซเคิลขยะ

นายอุเมช มาดาวาน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ The Circulate Initiative กล่าวว่า การเจรจาเพื่อบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับมลพิษจากพลาสติกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น โดยผลการวิจัยของเราสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของการลงทุนในการกำจัดและรีไซเคิลขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหามลพิษพลาสติกและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ไปพร้อม ๆ กัน

“การนำเครื่องมือ PLACES มาใช้ให้ครอบคลุมจำนวนประเทศเพิ่มขึ้น จะช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนหลากหลายประเภท รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่น และองค์กรธุรกิจในภูมิภาคสามารถประเมินโอกาสด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกที่ขึ้นอยู่กับปริมาณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”