ESG Tracker ระบบวัดความยั่งยืนในธุรกิจ

ปัจจุบัน ESG (environment, social, governance) กำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ใช้ประกอบการพิจารณาการลงทุน โดยจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (environment) , สังคม (social) และธรรมาภิบาล (governance) ทำให้องค์กรธุรกิจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และนำเรื่อง ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาธุรกิจ

สำหรับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ในฐานะเป็นสถาบันทางด้านธุรกิจก็ให้ความสำคัญกับประเด็นที่กล่าวมา ปัจจุบันมีหลักสูตรปริญญาโท สาขา Managing For Sustainability (MFS) และหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน (Ph.D. in Sustainable Leadership) เพื่อสร้างนักบริหารรุ่นใหม่ ในศาสตร์แห่งอนาคตเพื่อการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน

รวมถึงพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการ ผู้บริหารให้มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนสู่การนำองค์ความรู้ไปพัฒนาธุรกิจ ทั้งในด้านการผลิตและขายสินค้า การระดมทุน และการพัฒนาธุรกิจ

นอกจากนั้น ยังมีการทำวิจัย รวมถึงการบริการวิชาการ โดยล่าสุดเพิ่งเปิดตัวระบบ “ESG Tracker” ที่พัฒนาร่วมกับศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue : ACSDSD) และมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

โดยระบบนี้พัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานด้าน ESG ของแต่ละบริษัทในประเทศไทย โดยผ่านรายงานที่มีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ หรือข้อมูลที่เป็นสาธารณะ

รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม
รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม

“รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม” คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดเผยว่า ระบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือวิเคราะห์เรื่อง ESG ขององค์กรในไทย ช่วยเปรียบเทียบประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยให้ความสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมาภิบาล หัวใจหลักที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการ เพื่อทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับองค์กรในระยะยาว รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการเข้ามาแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลก ด้านพลังงาน และด้านความหลากหลายในการทำงาน

หลักการทำงานของ ESG Tracker จะเป็นการวิเคราะห์ภายใต้เกณฑ์ 2 ข้อ คือ

หนึ่ง ESG Disclosure คือ องค์กรจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลในระดับสูง โปร่งใส ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อการประเมินการทำงาน มีกระบวนการสืบเสาะประเด็นสำคัญจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีการประเมินความสำคัญและผลกระทบ

สอง ESG Data Quality องค์กรจะต้องมีข้อมูลที่มีคุณภาพ ถูกต้อง และตรงประเด็นตามแนวทางการรายงานด้านความยั่งยืน รวมถึงมีความสามารถในการตรวจทานได้ในกรณีต่าง ๆ มีความเหมาะสมกับกลยุทธ์ และกิจกรรมทางธุรกิจขององค์กร ซึ่งเป็นการใช้หลักเกณฑ์เดียวกับที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใช้ในการอนุมัติให้บริษัทจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัด

ดังนั้น จากการใช้ระบบ ESG Tracker เป็นครั้งแรก ระบบเริ่มต้นทำการคัดเลือกจาก 20 องค์กรที่มีทุนจดทะเบียนสูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เหลือเพียง 7 องค์กรที่จะเป็นต้นแบบด้านความยั่งยืนให้กับองค์กรภาคธุรกิจอื่น ๆ ในประเทศไทย ซึ่ง CMMU ได้มอบรางวัล CMMU-ESG AWARD ประจำปี 2566 ให้กับทั้ง 7 องค์กรไปเมื่อไม่นานผ่านมา โดยแบ่งแยกตามประเภทของอุตสาหกรรม ดังนี้

หนึ่ง กลุ่มเกษตรกรรม ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งไทยเบฟฯเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG มานานมากแล้ว ตั้งแต่ปี 2014-2015 ต่อยอดมาจากหลักการ CSR โดยการเริ่มต้นใช้หลัก ESG ในองค์กร มีเกณฑ์และรูปแบบการทำงานมากกว่า 10-15 ด้าน ส่วนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้จัดกลุ่มออกมาประมาณ 8 กลุ่ม เพื่อนำรูปแบบการดำเนินงานไปใช้ จนขยายไปถึงธุรกิจในซัพพลายเชนและไปถึงลูกค้าผ่านความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ

สอง กลุ่มบริการทางการเงินและการธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทยระบุว่าธนาคารมีบทบาทหลัก คือ การเป็นสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน ต้องยึดหลักการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมร่วมด้วย คือการดำเนินงานของธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารจะต้องไม่สร้างผลกระทบในเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งยังประกาศจุดยืนการเป็นผู้นำด้านธุรกิจ ESG ของธุรกิจธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยมี 12 นโยบายเพื่อผลักดันหลักการ ESG อย่างเช่น ด้านสิ่งแวดล้อม มีการประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งเชื่อว่าจะสำเร็จในปี 2030 ส่วนเรื่องการให้สินเชื่อ ปัจจุบันให้การสนับสนุนเงินทุนเพื่อความยั่งยืน 1-2 แสนล้านบาท และหลักการ ESG ไปพิจารณาเรื่องการให้สินเชื่อโดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่”

สาม กลุ่มก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ซึ่งมีหลักการ ESG 4+ กับการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ Net Zero, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ สำหรับภายใต้หลักการ Net Zero SCG ตั้งเป้าว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050

โดยจะวางแนวทางนำพลังงานสะอาดมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างการใช้พลังงานชีวมวล (biomass) การใช้ระบบโซลาร์ขนาดใหญ่ การนำลมร้อนที่เหลือใช้จากการผลิตปูนกลับมาเป็นพลังงานอีกครั้ง ปัจจุบัน SCG ลดการใช้พลังงานฟอสซิลลงได้ถึง 40% จากการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด

ส่วน Go Green บริษัทผลักดันสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับตั้งเป้าว่าจะผลิตให้ได้ 67% ของสินค้าทั้งหมด

ส่วน Lean เหลื่อมล้ำ คือการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เน้น 3 ด้านใหญ่ที่เป็นพื้นฐานอย่าง การศึกษา การสร้างอาชีพ และสาธารณสุข และย้ำร่วมมือ หมายถึงการอาศัยความร่วมมือทั้งจากรัฐบาลและเอกชน

สี่ กลุ่มพลังงาน ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยมุ่งความท้าทายมากทั้งจากการลงทุน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม

เพราะสิ่งที่ให้ความสำคัญมากขึ้นเพื่อผลักดันหลักการเรื่องความยั่งยืน คือศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เป็นความท้าทาย เริ่มจากการควบคุมการดำเนินงานของซัพพลายเชน สร้างการแข่งขันของตัวเอง โดยร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ

ห้า กลุ่มค้าปลีก ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เซ็นทรัลในทุกวันจะมีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ของเครือมากกว่า 1 ล้านคน ทำให้เซ็นทรัลมุ่งมั่นพัฒนาใน 3 ประเด็น อย่างแรก คือ การทำให้พื้นที่เป็นที่สาธารณะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี เป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างคุณภาพชีวิตในพื้นที่ของเซ็นทรัล เช่น การใช้พื้นที่เป็นจุดฉีดวัคซีน

นอกจากนี้ ยังผลักดันความภาคภูมิใจของท้องถิ่น ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชน พร้อมกับให้โอกาสผู้ค้า และเกษตรกรเข้ามาใช้พื้นที่ในการค้าขายไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์เอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย ส่วนด้านสุดท้าย คือ ด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มจากองค์กรที่ผลักดันให้การทำงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน ส่งเสริมให้คู่ค้าดำเนินการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

หก กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากอินทัช ดำเนินการด้านการลงทุน ไม่ใช่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจทั่วไป จึงได้ควบรวมหลักการเข้าไปในการลงทุน แบ่งเป็นขั้นตอนทั้งก่อนและหลังการลงทุน

สำหรับขั้นตอนก่อนการลงทุน ในอดีตบริษัทจะเน้นเรื่องการคืนทุนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันไม่ใช่การตัดสินใจหลัก เพราะมีการพิจารณาเรื่องความยั่งยืนตามหลัก ESG เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนขั้นตอนภายหลังการลงทุนจะมีการประเมินบริษัทที่เข้าไปลงทุนเพื่อการปรับปรุงให้ดำเนินการตามหลัก ESG มากขึ้นในอนาคต

เจ็ด รางวัล Best Disclosure บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นรางวัลที่มอบให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้วยการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย โปร่งใส ถูกต้อง และตรวจสอบได้

“รศ.ดร.วิชิตา” กล่าวต่อว่า ตรงนี้ถือเป็นการเริ่มต้นในการนำ ESG Tracking มาใช้ ทั้ง 7 บริษัทถือเป็น good example ที่คัดเลือกโดยระบบเท่านั้น และดูข้อมูลผ่านการเผยแพร่บนเว็บไซต์ และต่อไปเราจะมีการพัฒนาอีกหลายโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องกับ ESG ทั้งยังมีการจัดงานมอบรางวัลทุกปี รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มองค์ความรู้สู่เอสเอ็มอี

“ดิฉันมองว่า ESG ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ทุกคนควรตระหนัก และเริ่มลงมือทำได้เพียงแต่หลายคนไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ดังนั้นเราก็จะพยายามสร้างองค์ความรู้สู่เอสเอ็มอี รวมถึงบุคคลทั่วไปด้วย ตามแนวคิด ESG for All”