เยอรมนีผนึกไทย ร่วมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ถึงวันนี้มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้คงประจักษ์ชัดแล้วว่า เรื่องของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งนั้นเพราะการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การพัฒนาเมือง และการขยายการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ล้วนทำให้โลกใบนี้ตกอยู่ในท่ามกลางวิกฤต

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ทั้งยังมองเป็นหมุดหมายสำคัญในการเร่งแก้ปัญหาให้กับโลกอย่างโดยเร็วที่สุด เพราะวันนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน

หากขืนปล่อยให้ชักช้าต่อไปเห็นทีมนุษย์บนโลกใบนี้จะต้องผจญกับหายนะอย่างไม่อาจแก้ไขได้

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) เปิดตัวโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมนีด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate : TGC EMC) เมื่อเร็ว ๆ นี้

กล่าวกันว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนประเทศไทยในการก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่งานเปิดตัวโครงการ TGC EMC อย่างเป็นทางการ จึงมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 200 ท่าน ทั้งตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ที่สำคัญยังจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตรของโครงการ ทั้งภาครัฐและทีมผู้เชี่ยวชาญโครงการต่าง ๆ

เพราะความร่วมมือไทย-เยอรมนีด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเศรษฐกิจ และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI)

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนองค์กรและหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในประเทศไทย ในการวางแผนและดำเนินกิจกรรมที่มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม และชีวมวล อันสอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 ของรัฐบาลไทย

นอกจากนี้ โครงการยังให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) โดยกองทุน ThaiCI (Thai Climate Initiative Fund) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ TGC EMC ที่จะให้เงินทุนแก่โครงการในท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพ

ดร.แอ็นสท์ ไรเชิล

ถึงตรงนี้ “ดร.แอ็นสท์ ไรเชิล” เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวถึงวิธีการดำเนินการของโครงการที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน และมีความสหวิทยาการ ว่าการบูรณาการระหว่างภาคพลังงานหมุนเวียน ขนส่ง อุตสาหกรรม และชีวมวล เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องทำให้สำเร็จก่อนการประเมิน และสำรวจทางแก้ปัญหาเชิงเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมแบบนำร่อง จนนำไปสู่การปฏิบัติ

“นอกจากนี้ ด้วยกองทุน ThaiCI โครงการ TGC EMC จะสร้างเครื่องมือทางการเงินระยะยาวที่จะรักษาและเพิ่มพูนผลของโครงการ โดยการสนับสนุนโครงการเพื่อการลดปัญหา และเพื่อการปรับตัวในขอบเขตต่าง ๆ ที่ต้องการการดำเนินการอย่างมาก”

ดร.ฟิลิปป์ เบห์เรนส์
ดร.ฟิลิปป์ เบห์เรนส์

ส่วน “ดร.ฟิลิปป์ เบห์เรนส์” หัวหน้าแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) กล่าวย้ำถึงความสำคัญของโครงการ TGC EMC หนึ่งในโครงการหลักความร่วมมือทวิภาคีของ IKI ว่าโครงการ TGC EMC เป็นมากกว่าโครงการเพื่อการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับการร่วมมือในการวิเคราะห์ พัฒนาเพิ่มเติม ทดลองใช้ และขยายเส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้วย

ขณะที่ “ปวิช เกศววงศ์” รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงวิธีการดำเนินงานของโครงการ TGC EMC ที่มุ่งไปที่การสนับสนุนภาคส่วน โดยการสร้างพื้นฐานความรู้ที่แข็งแรง และคาดว่างานเปิดตัวโครงการจะเป็นการสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิด และการผสมผสานของทุกภาคส่วนที่มากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

“นที สิทธิประศาสน์” รองประธานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการบูรณาการในระดับภาคส่วน สู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ค.ศ. 2050” ถึงบทบาทของหน่วยงานพันธมิตรในภาครัฐ ในการสร้างการบูรณาการระหว่างภาคส่วน และแนวทางที่การบูรณาการระหว่างภาคส่วนสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศ และช่วยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ “ห้องทดลองเมือง (City Lab)-การบูรณาการภาคส่วนเพื่อคำตอบที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน” โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน โดยอภิปรายถึงสิ่งที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทย และปัจจัยสำคัญที่ไทยต้องคำนึงถึงเพื่อที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิผล

ไรน์โฮลด์ เอลเกส
ไรน์โฮลด์ เอลเกส

สำหรับในช่วงสุดท้ายของการปิดงาน “ไรน์โฮลด์ เอลเกส” ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวขอบคุณองค์กรพันธมิตรผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้ประสบความสำเร็จ พร้อมกล่าวย้ำถึงความร่วมมือที่ยาวนานระหว่างไทยและเยอรมนี ผ่านโครงการความร่วมมือจำนวนมากที่มี GIZ เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกันต่อการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อที่จะสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนต่อไป

เพราะโลกใบนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของมนุษย์ทุกคนบนโลกอย่างแท้จริง