ผู้ประกันตนควรใช้สิทธิเลือกตั้ง หาตัวแทนเข้าบอร์ดประกันสังคม เป็นปากเป็นเสียงให้ลูกจ้าง-นายจ้าง กระทรวงแรงงานขยายเวลาลงทะเบียนใช้สิทธิ ได้ถึง 10 พ.ย. 2566 ลงทะเบียนออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานประกันสังคม เชิญชวนผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา (มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40) ที่มีสัญชาติไทย มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ชุดใหม่ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งที่ผ่านมาบอร์ด สปส. มาจากการเลือกตั้งจากระบบของผู้แทนของสหภาพแรงงานเลือก แต่พอมีรัฐประหารปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งยุบบอร์ดเดิม แล้วแต่งตั้งบอร์ดใหม่มาแทน จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีเลือกตั้งมาราว 9 ปี
ผู้ประกันตนสามารถมีส่วนร่วมได้ 2 ส่วนคือ หนึ่ง ผู้ประกันตนใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการประกันสังคม สอง สมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งแบ่งเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน โดยจัดให้มีการเลือกตั้งในคูหา วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา 08.00-16.00 น.
ความสำคัญของบอร์ด สปส.
คณะกรรมการประกันสังคม จะเข้ามาจัดการและดูแล “กองทุนประกันสังคม” ซึ่งมีผลต่อสิทธิประโยชน์ที่ทุกคนพึงได้รับ โดยมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ดังนี้
1. เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคมพิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ
2. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการรับเงินการจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน
3. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน
4. พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน และรายงานผลการปฏิบัติงานประจําปีของสํานักงาน ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสังคม
5. ให้คําปรึกษาและแนะนําแก่คณะกรรมการอื่นหรือสํานักงาน
6. ปฎิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมาย หรือตามที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมอบหมาย
ขยายเวลาลงทะเบียนเลือกตั้ง-สมัครผู้แทน
ผู้ประกันตนที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องลงทะเบียนก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้งในคูหา โดยได้ขยายวัน และเวลาลงทะเบียนถึง 10 พฤศจิกายน 2566 (จากเดิม 12-31 ตุลาคม 2566) ส่วนการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ขยายวันลงทะเบียนถึง 10 พฤศจิกายน 2566 เช่นกัน (จากเดิม 25-31 ตุลาคม 2566) และจะมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขผู้สมัครในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 (จากเดิม 21 พฤศจิกายน 2566)
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การประชุมครั้งที่ 4/2566 คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง และขยายเวลาเปิดรับสมัครผู้แทนฝ่ายนายจ้างผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมออกไปจากเดิมอีก 10 วัน
“เพื่อให้นายจ้างและผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยสามารถเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนจากจำนวนผู้สมัครที่เพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่นายจ้างและผู้ประกันตน”
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดระบบให้นายจ้างและผู้ประกันคนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง บนหน้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 จนกระทั่งถึงวันนี้มีนายจ้าง ผู้ประกันตน ให้ความสนใจ มียอดรวมมากกว่า 700,000 ราย
คุณสมบัติผู้มีสิทธิไปเลือกตั้ง
ประกันตน
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีสถานะเป็นผู้ประกันตนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มีนาคม-สิงหาคม 2566)
(3) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนประกาศเลือกตั้ง)
(4) ลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านช่องทาง www.sso.go.th เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนด
นายจ้าง
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีสถานะเป็นนายจ้างติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนเดือน ที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มีนาคม-สิงหาคม 2566)
(3) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนประกาศเลือกตั้ง)
(4) ลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านช่องทาง www.sso.go.th เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนด
(5) กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคลผู้จะใช้สิทธิต้องอยู่ในฐานะผู้มีอํานาจ/กรณีเป็นผู้มีอํานาจในนิติบุคคลมากกว่า 1 นิติบุคคลต้องเลือกใช้สิทธิแห่งเดียว
วิธีการลงทะเบียนก่อนไปเลือกตั้ง
นายจ้าง และผู้ประกันตน สามารถลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งผ่านช่องทาง ดังนี้
1. ฝ่ายนายจ้างสามารถเข้ามาในช่องทาง e-service ที่ใช้งานส่งข้อมูลติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
2. ส่วนผู้ประกันตนสามารถเข้ามาที่ www.sso.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพียงกรอก ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด เลขที่บัตรประชาชนและเลขหลังบัตรประชาชน พร้อมเบอร์โทรศัพท์
3. สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 สำนักงานประกันสังคมจังหวัด ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ)
กรณีมีคำถามว่าจะสามารถไว้วางใจได้หรือไม่ในการให้เลขหลังบัตรประชาชน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมยืนยันว่าสำนักงานประกันสังคมไม่ได้เก็บเลขหลังบัตรประชาชนเอาไว้ในระบบแต่อย่างใด
“การกรอกเลขหลังบัตรประชาชนหรือ Laser Code ซึ่งเป็นรหัสกำกับบัตร สำนักงานประกันสังคมเพียงเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมการปกครองในการนำไปตรวจสอบสถานะของบัตร ผ่านทางออนไลน์ของกรมการปกครอง เพื่อให้แน่ใจว่าบัตรยังไม่หมดอายุ และเจ้าของบัตรที่แท้จริงยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นจึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจถึงความปลอดภัยของข้อมูลว่าสำนักงานประกันสังคมมิได้เก็บข้อมูลของท่านเอาไว้ในระบบแต่อย่างใด” นายบุญสงค์กล่าว
คุณสมบัติผู้สมัครเข้าบอร์ดประกันสังคม
สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ดังนี้
- มีสัญชาติไทย
- อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดสมัครรับเลือกตั้ง
- ส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 36 เดือน นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
- ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
- ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกหรือเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐ หรือสถานประกอบกิจการของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่
- ไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีประโยชน์ได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญาหรือมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงานไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม
- ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
วิธีสมัครเป็นผู้แทน
สำหรับผู้สนใจสมัครรับเลือกตั้งสามารถยื่นใบสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ) พร้อมประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหมายเลขผู้สมัครในวันที่ 1 ธันวาคม 2566
เพื่อได้ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของนายจ้าง ผู้ประกันตน
สามารถสอบถามรายละเอียด และคำแนะนำในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) โทร. 02-956-2222 ในวันและเวลาราชการ