เอสซีจีขยายผลจัดงาน ESG Symposium 2023 ที่อินโดนีเซียครั้งแรก 

Vivi Yulaswati

เอสซีจีขยายผลความร่วมมือเพื่อความยั่งยืนในอาเซียน จัด ESG Symposium 2023 ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก 

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เอสซีจีจัดงาน ESG Symposium 2023 ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก เป็นการต่อยอดความร่วมมือด้านความยั่งยืนสู่ภูมิภาค จากเวที ESG Symposium ในประเทศไทย โดยงาน ESG Symposium 2023 Indonesia จัดภายใต้แนวคิด “ความร่วมมือเพื่ออินโดนีเซียที่ยั่งยืน” (Collaboration for Sustainable Indonesia)

เพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เร่งการบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ตามกลยุทธ์ ESG 4 Plus และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ตามเป้าหมาย Nationally Determined Contributions (NDC) ของอินโดนีเซีย

ทั้งนี้งานดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และคนรุ่นใหม่กว่า 500 คน รวมพลังนำอินโดนีเซียสู่ความยั่งยืน ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์ นโยบาย และนวัตกรรมเทคโนโลยี อาทิ โครงการด้านพลังงานสะอาด เชื้อเพลิงทดแทนจากขยะมูลฝอย โซลูชั่นพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ นวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสีย และแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการจัดการป่าไม้และการวัดปริมาณคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากวิกฤตการณ์โลก เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับปัญหาระดับชาติ เช่น มลพิษทางอากาศ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การจัดการขยะ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

“ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนจึงเป็นภารกิจที่จำเป็นต้องทำไม่ใช่ทางเลือก อินโดนีเซียมีเป้าหมาย NDC การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 องค์กรธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว”

ESG symposium

นางวีวี ยูลาสวาตี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนในธุรกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เช่น กระทรวงวางแผนการพัฒนาแห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาการอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ ESG จะพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ในการช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มคุณค่าให้ธุรกิจ

นางลักษมี เทวันติ อธิบดีฝ่ายควบคุมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ เน้นย้ำถึงสามความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและมลพิษ โดยกลยุทธ์ ESG เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการสร้างโลกที่ยั่งยืน และมีความสมดุลยิ่งขึ้น

“การร่วมมือกันคือกุญแจสำคัญในการเอาชนะความท้าทายดังกล่าว โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย มุ่งมั่นร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมพัฒนาวิธีที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเอสซีจี ย้ำว่า การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเอสซีจีพร้อมร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ สนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย NDC ของประเทศอินโดนีเซีย เช่น ร่วมกับอำเภอซูกาบูมี จังหวัดชวาตะวันตก พันธมิตรทางธุรกิจ และชุมชน จัดตั้งโรงผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ (Refuse-Derived Fuel) แห่งแรกในซูกาบูมี เพื่อแก้ปัญหาขยะให้เป็นพลังงานทางเลือก ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

และร่วมมือกับจังหวัดชวาตะวันตกและชุมชน แก้ปัญหาน้ำเสียและส่งเสริมสุขอนามัย ในโครงการ Reinvented Toilet หรือห้องน้ำพร้อมระบบบำบัดของเสียที่สามารถฆ่าเชื้อโรคแบบครบวงจร ตลอดจนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความเป็นอยู่

โดยมอบทุนการศึกษา SCG Sharing the Dream ให้แก่เยาวชนต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 กว่า 4,000 ทุน เพื่อให้มีศักยภาพพร้อมพัฒนาประเทศต่อไป รวมทั้งพัฒนาอาชีพชุมชน 70 แห่งในซูกาบูมี ให้มีรายได้ยั่งยืน

“เราคนเดียวไม่อาจสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้ ต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานจากหลากหลายมุมมองและความเชี่ยวชาญ ผมขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อสร้างอินโดนีเซียให้เป็นสังคมที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อไป”

ESG SYMPOSIUM 2023