เปิดเงินเดือนปี’67 คนย้ายงานอัพเงิน สายไอทีเพิ่ม 40% ตามด้วยกฎหมายและตลาด

คนทำงาน
Photo: Priscilla Du Preez/unsplash

บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก “โรเบิร์ต วอลเตอร์ส” จัดทำสํารวจเงินเดือนประจำปี 2567 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 570 คน ประกอบด้วยพนักงานและนายจ้างบริษัทต่าง ๆ ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ และในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของประเทศไทย

โดยรายงานเผยภาพรวมเงินเดือนและแนวโน้มการสรรหาบุคลากร รวมถึงข้อมูลเชิงลึกในการรักษาบุคลากร ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อนายจ้างและพนักงาน ในการเปรียบเทียบระดับเงินเดือนในอุตสาหกรรม

ภาพรวมปี 2567 คนย้ายงานจะได้เงินเดือนเพิ่มสูงสุด 40% ส่วนคนอยู่ที่เก่าเงินเดือนขึ้นเพียง 1-4% เกินกว่าอัตราเงินเฟ้อเล็กน้อย

ย้ายงานเงินเดือนพุ่ง อยู่ที่เดิมเพิ่มแค่ 1-4%

“ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา” ผู้จัดการประจําประเทศไทยของบริษัท โรเบิร์ต วอลเตอร์ส กล่าวว่า ผู้ตอบแบบสำรวจคาดหวังจะได้รับเงินเดือนเพิ่ม 6-10% จากบริษัทเดิม ซึ่งสวนทางกับฝั่งนายจ้างที่มีแนวโน้มขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเก่าทุกตำแหน่งงานเพียง 1-4% ต่ำกว่าผลสำรวจปีที่ผ่านมาที่นายจ้างมีแนวโน้มปรับขึ้น 2-5% ขณะที่โบนัสปีนี้คาดการณ์นายจ้างจ่ายสูงถึง 13% ในทุกระดับงาน

ในปี 2567 คนย้ายงานมีโอกาสเรียกเงินเดือนเพิ่มได้มากหากมีทักษะที่ต้องการ และมีความพร้อมทำงาน โดยจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยทุกอุตสาหกรรม 15-25% แต่สำหรับผู้ที่ต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมจะได้เงินเดือนเพิ่มประมาณ 15%

หากแบ่งตามอุตสาหกรรม คนย้ายงานที่มีทักษะจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นดังนี้

  • ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) 10-40%
  • ธุรกิจด้านกฎหมาย 20-35%
  • ธุรกิจการขายและการตลาด 20-35%
  • ธุรกิจวิศวกรรมและการผลิต 25-30%
  • ธุรกิจซัพพลายเชนการจัดซื้อและจัดจ้าง 25-30%
  • ธุรกิจการเงินและการธนาคาร 20-30%
  • ธุรกิจทรัพยากรบุคคล 20-30%
  • ธุรกิจการบัญชีและการเงิน 20-25%

สายงาน/ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด

ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT)

  • หัวหน้าฝ่ายไอที/ผู้จัดการฝ่ายไอที
  • ผู้จัดการโครงการ/PMO (ทรานส์ฟอร์เมชั่น)
  • ความปลอดภัยด้านไอที/ความปลอดภัยทางไซเบอร์

ธุรกิจด้านกฎหมาย

  • รองอาวุโส (คดี, ภาษี, การจ้างงาน)
  • หน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงาน (PDPA, เลขานุการบริษัท)

ธุรกิจการขายและการตลาด

  • ผู้จัดการแบรนด์/ผู้จัดการฝ่ายการตลาด
  • ผู้จัดการช่องทาง/ผู้จัดการธุรกิจ
  • หัวหน้าฝ่ายการตลาดดิจิทัล

วิศวกรรมและการผลิต

  • ผู้จัดการโรงงาน
  • ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม
  • HSE และความยั่งยืน

ธุรกิจซัพพลายเชนการจัดซื้อและจัดจ้าง

  • หัวหน้าฝ่ายซัพพลายเชน
  • หัวหน้าฝ่ายจัดซื้อ
  • หัวหน้าฝ่าย S&OP (การวางแผนอุปสงค์และอุปทาน)

ธุรกิจการเงินและการธนาคาร

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน-การลงทุนอย่างยั่งยืน (ESG)
  • ความเสี่ยงด้านเครดิตและผู้จัดการการจัดจำหน่ายสินเชื่อ
  • การตรวจสอบภายในและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ

ธุรกิจทรัพยากรบุคคล

  • ผู้อำนวยการ/ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลประจำภูมิภาค
  • หุ้นส่วนธุรกิจทรัพยากรบุคคล/ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล
  • ผู้จัดการฝ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการ

ธุรกิจการบัญชีและการเงิน

  • CFO ฝ่ายการเงินภูมิภาค
  • การเงินด้านซัพพลายเชน
  • FP&A
  • การเงินเชิงพาณิชย์
  • ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ

คนอยากย้ายงานเกินครึ่ง

ผลการสำรวจระบุว่า พนักงาน 3 ใน 4 คนมีความตั้งใจที่จะหางานใหม่ภายใน 12 เดือนข้างหน้า โดยปัจจัยที่พิจารณาโยกย้ายงาน ได้แก่ บริษัทใหม่มีแผนการจ่ายโบนัสที่ชัดเจน (89%), มีประกันสุขภาพเอกชนสำหรับผู้ป่วยใน/ผู้ป่วยนอก (74%), มีการทํางานที่ยืดหยุ่น ทำงานโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ (59%), จำนวนสิทธิวันหยุดและวันลา (41%), และทำประกันความคุ้มครองชีวิต/โรคร้ายแรง (30%)

ทั้งนี้ 78% ของพนักงานที่ต้องการการทำงานแบบยืดหยุ่น อยากเข้าออฟฟิศเพียง 2-3 วัน/สัปดาห์เท่านั้น ในขณะที่นายจ้างส่วนใหญ่คาดหวังให้พนักงานเข้าออฟฟิศอย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์

“ผู้หางานกว่า 70% รู้สึกมั่นใจเกี่ยวกับโอกาสได้งานใหม่ในสาขาของตน เพราะมีประสบการณ์และทักษะที่เป็นที่ต้องการ ขณะเดียวกัน ตลาดแรงงานอยู่ในสภาวะที่ demand มากกว่า supply จะยิ่งทำให้มีโอกาสได้งานสูง” ปุณยนุชกล่าว

ย้ายงานได้ขึ้นเงินเดือนสูงสุด 25% เทรนด์จ้าง CEO ระยะสั้นมาแรง