ความเสี่ยงด้านอากาศ ตัวแปร ESG ช่วยรายงานความยั่งยืน

กล่าวกันว่า พัฒนาการของ “ESG” ตลอดช่วง 20 ปีผ่านมา ตั้งแต่การจัดการทำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ โดยการสนับสนุนของสหประชาชาติในปี ค.ศ. 2006 มาจนถึงมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนฉบับล่าสุดที่ประกาศใช้โดยคณะกรรมาธิการยุโรป หรือ “ESRS” (European Sustainability Reporting Standards) ปี ค.ศ. 2023 ทำให้การเปิดเผยข้อมูล ESG กลายเป็นข้อกำหนดสำหรับบริษัทที่มีถิ่นฐานในสหภาพยุโรป รวมทั้งสาขาของบริษัทนอกสหภาพยุโรปด้วย

ขณะที่ทิศทาง ESG ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยต่อจากนี้ไป คงไม่ต้องรอให้มีกฎหมายบังคับ เพราะเมื่อผลลัพธ์ทางธุรกิจดี จะเกิดความเชื่อมั่น และผลักดันการดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลายเป็นผลกระทบที่ดีทั้งกับกิจการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งโอกาสการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักกับการลงทุนที่ยั่งยืน

แต่กระนั้น มีรายงานผลสำรวจนักลงทุนทั่วโลกประจำปี 2566 ของ PwC (2023 Global Investor Survey) โดยเฉพาะนักลงทุนมากกว่า 9 ใน 10 หรือประมาณ 94% เชื่อว่าการรายงานขององค์กรเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมีการกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน

โดยเฉพาะนักลงทุน 3 ใน 4 กล่าวว่าความยั่งยืนมีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ขณะที่มากกว่าครึ่ง (57%) ระบุว่าการรายงานความยั่งยืนมีความชัดเจน และความสม่ำเสมอมากขึ้น เพราะมีความกังวลต่อเศรษฐกิจมหภาค และเงินเฟ้อที่ค่อย ๆ ลดลง

ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยสอบถามความคิดเห็นของนักลงทุน และนักวิเคราะห์จำนวน 345 รายจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแบ่งตามภูมิศาสตร์ ประเภทสินทรัพย์ และวิธีการลงทุน เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อบริษัทที่พวกเขาลงทุน

ผลสำรวจพบว่าแม้ว่าความกังวลด้านเศรษฐกิจมหภาค และเงินเฟ้อยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สุด แต่ก็ผ่อนคลายลงจากระดับสูงสุดในปี 2565 ในขณะที่ปี 2566 ความกังวลด้านความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risks) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่ 32%

ขณะเดียวกันการสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงภูมิทัศน์การลงทุนที่ขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดย 59% ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มมากสุดที่จะมีอิทธิพลต่อการสร้างมูลค่าของบริษัทต่าง ๆ ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการสำรวจ 61% กล่าวว่า

การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มาใช้เร็วขึ้นจะมีความสำคัญมาก ๆ เพราะความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญสำหรับนักลงทุน โดย 75% กล่าวว่า วิธีที่บริษัทจัดการความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน แม้ว่าจะลดลง 4% จากปีก่อนก็ตาม

“เจมส์ ชาลเมอร์ส” หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีระดับโลก PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า เรากำลังย้ายจากช่วงเวลาของการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไปสู่ช่วงเวลาที่นักลงทุนถามคำถามเฉพาะเจาะจง และยากมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการที่บริษัทต่าง ๆ จัดการกับปัญหาเหล่านั้นในเชิงกลยุทธ์ รวมไปถึงวิธีที่พวกเขาประเมินความเสี่ยงและโอกาส

“และสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจในบริบทนี้คือการรายงานขององค์กรจำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อไป เพื่อให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ สม่ำเสมอ และเปรียบเทียบได้แก่ นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ สามารถพึ่งพาได้ด้วย”

ที่สำคัญ ผลการสำรวจในปี 2566 ยังแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนมองการนำเอไอมาใช้มีความสำคัญต่อการสร้างมูลค่า ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการความเสี่ยง โดยนักลงทุน 61% กล่าวว่าการนำเอไอมาใช้งานอย่างรวดเร็ว มีความสำคัญมาก ๆ

“นักลงทุนระบุว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (59%) เป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มมากสุดที่จะมีอิทธิพลต่อวิธีที่บริษัทต่าง ๆ สร้างมูลค่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันนักลงทุนยังจัดอันดับให้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเกิดใหม่ รวมถึงเอไอ, เมตาเวิร์ส และบล็อกเชนอยู่ในลำดับความสำคัญ 5 อันดับแรก

เมื่อประเมินบริษัทต่าง ๆ โดย 86% มองว่าเอไอนำมาซึ่งความเสี่ยงอย่างมากตั้งแต่ระดับปานกลางถึงมาก ส่วนเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และความเป็นส่วนตัว การกำกับดูแล และการควบคุมไม่เพียงพอ (84%) ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (83%) และอคติและการเลือกปฏิบัติ (72%) ตามลำดับ”

“นัดยา พิคาร์ด” หัวหน้ากลุ่มธุรกิจการรายงานระดับโลก PwC ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า เราเห็นขั้นตอนสำคัญในการนำไปสู่การรายงานที่สอดคล้องกันมากขึ้นจากบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงต่อไป

ขณะเดียวกันนักลงทุนยังเรียกร้องให้มีการมีส่วนร่วมมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีที่บริษัทต่าง ๆ จัดการโอกาส และความเสี่ยงของเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generative AI เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

“ชาญชัย ชัยประสิทธิ์” ประธานกรรมการบริหาร PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันนักลงทุน และภาคธุรกิจไทยตื่นตัวและตระหนักถึงผลกระทบด้าน ESG เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่บริษัทขนาดกลางถึงขนาดเล็กอาจจะยังขาดความเข้าใจเชิงลึกในส่วนของรายละเอียดของการจัดทำรายงานความยั่งยืนอยู่บ้าง

ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่ได้รับการตรวจสอบอย่างสมเหตุสมผล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนก่อนนำข้อมูลไปใช้

“ภายใน 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า เราคาดว่าน่าจะเริ่มเห็นทั่วโลกเริ่มมีการตรวจสอบ และการให้คำรับรองจากผู้ตรวจสอบก่อนที่จะมีการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนภายหลังจากที่หน่วยงานกำกับของแต่ละประเทศมีการออกกฎระเบียบและมาตรฐานบังคับใช้ที่ชัดเจนแล้ว เฉพาะส่วนของประเทศไทย ความต้องการรายงานความยั่งยืนของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานกำกับออกกฎระเบียบข้อบังคับให้จัดทำรายงานที่เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน”

ถ้าเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ทุก ๆ บริษัทจะต้องทำคือศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของ ESG ต่อธุรกิจ และมาตรฐานของการจัดทำรายงานความยั่งยืน ซึ่งหากธุรกิจไหนตื่นตัวก่อน และดำเนินการครอบคลุมทุก ๆ มิติของ ESG ก็จะมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่น แต่อย่างที่ทราบดีว่าไม่มีกลยุทธ์ความยั่งยืนไหนที่ One Size Fits All และจะต้องถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารระดับบนลงมาสู่ฝ่ายอื่น ๆ ในองค์กร

เพราะเรื่อง “ความยั่งยืน” ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ต้องช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง