จุฬาฯ ชวนนักออกแบบต่อยอดกางเกงช้าง ทำงานกับช่างฝีมือท้องถิ่น

กางเกงช้าง credit จุฬาฯ

นักวิชาการจุฬาฯ ชวนนักออกแบบรุ่นใหม่ ต่อยอด “กางเกงช้าง” ทำงานร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่น รักษาความเป็นต้นฉบับ เสนอรัฐช่วยจัดหาเครื่องจักรคุณภาพสูง จ้างงานคนในประเทศ ผลักดัน Soft Power โปรโมตในกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ 

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 กางเกงลายช้าง ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายของชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่ในเวลานี้ ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องแต่งกายที่สะท้อนถึงความเป็นไทย แต่ยังเป็นตัวอย่างของการนำวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม การผสานความรู้ทางด้านสิ่งทอและการออกแบบ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์และสร้างความสำเร็จในตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ศ.ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแฟชั่นและนฤมิตศิลป์
ศ.ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแฟชั่นและนฤมิตศิลป์ กล่าวว่า กางเกงช้าง ไม่เพียงแต่เป็นการสะท้อนถึงสัญญะของความเป็นไทยผ่านลวดลายช้างที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย แต่ยังแสดงถึงการนำภูมิปัญญาของพื้นถิ่นมาผสมผสานกับการออกแบบสมัยใหม่ ใช้ผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศได้ดี เหมาะกับอากาศร้อนของไทย พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทั้งสบายและมีสไตล์ มีการพัฒนาสินค้าให้หลากหลายตั้งแต่กางเกงขาสั้น ขายาว จนถึงขาจัมป์ ช่วยเพิ่มโอกาสในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย รวมถึงการใช้สีสันที่ต่างกัน เช่น แดง เขียว ดำ น้ำเงิน เพื่อสร้างความโดดเด่นและดึงดูดความสนใจ

“การผลิตกางเกงช้างถือว่ามีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ส่งผลถึงการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากของฝากสู่การเป็นแฟชั่นไอคอนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องมีใส่กันในโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่เดินเที่ยวสบาย ๆ ตามตลาด จนถึงการใส่กางเกงช้างในห้างสรรพสินค้า ถือเป็นเสน่ห์แบบไทย ๆ ที่สวมใส่ได้ไม่เคอะเขิน”

Thai Trend “กางเกงช้าง”

ศ.ดร.พัดชาชี้ว่า ความสำเร็จของธุรกิจผู้ผลิตกางเกงลายช้าง และการกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติเป็นสิ่งยืนยันถึงความสำเร็จของกางเกงช้าง ทั้งนี้ การสนับสนุนจากรัฐในด้านการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมให้มีการพัฒนาลวดลายและกระบวนการผลิต จะช่วยให้กางเกงช้างมีคุณภาพสูงขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

การรับรองคุณภาพและการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งจะช่วยให้กางเกงช้างไม่เพียงแต่เป็นการสร้างงานให้กับชุมชน แต่ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัฒนธรรมไทย การเป็นเทรนดี้ (Trendy) ของคนทุกวัยและการเปิดทางให้กางเกงช้างเป็นสินค้าที่มีการตลาดไปยังต่างประเทศได้สำเร็จนับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับธุรกิจและวัฒนธรรมไทยให้ก้าวไปอีกขั้น

กางเกงช้าง credit จุฬาฯ

การพัฒนากางเกงช้างให้เติบโตและยั่งยืน ควรเน้นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ ใช้วัสดุที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ การร่วมมือกับชุมชนในการออกแบบลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งและการตลาดอย่างมีกลยุทธ์ รวมถึงการเจาะตลาดต่างประเทศด้วยการเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมไทยผ่านสินค้า

“การทำให้กางเกงช้างเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่มีความเป็นสากล ควรผสานความเป็นไทยอย่างแท้จริงกับเสน่ห์ที่ดึงดูดใจทั่วโลก การออกแบบควรทำให้เข้ากับทุกช่วงวัย โดยใช้วิธีการผลิตที่ยั่งยืนและเล่าเรื่องราวของมรดกวัฒนธรรมไทย การทำงานร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่นจะช่วยรักษาความเป็นต้นฉบับ ในขณะที่การตลาดแบบสร้างสรรค์ช่วยนำเสนอแบรนด์ให้กับผู้ซื้อที่กว้างขึ้น ทำให้กางเกงช้างเป็นทางเลือกของไลฟ์สไตล์สำหรับผู้คนทั่วโลกไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่”

พลิกวิกฤตสู่โอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไทย

ศ.ดร.พัดชากล่าวอีกว่า จากข้อกังวลในการเข้ามาของทุนจีนในตลาดกางเกงช้างของไทยทำให้ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งไหลไปยังประเทศจีนนั้น สถานการณ์นี้ไม่ควรถูกมองเป็นวิกฤต แต่เป็นโอกาส เพราะการผลิตที่เพิ่มขึ้นแสดงถึงความนิยมสูง ควรมุ่งเน้นการสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่าเพื่อแยกแยะและยกระดับสินค้าไทยในตลาดโลก

“กางเกงช้างได้กลายเป็นหนึ่งในไอเท็มแฟชั่นที่สำคัญ โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวและคนรุ่นใหม่ การผลักดันกางเกงช้างจากของฝากสู่การเป็นแฟชั่นไอคอนเป็นตัวอย่างของการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

แนะรัฐผลักดันสินค้าวัฒนธรรมสู่ Soft Power

ศ.ดร.พัดชาเสนอว่า รัฐบาลไทยสามารถใช้กางเกงช้างเป็น Soft Power โดยการนำเสนอในกิจกรรมทูตวัฒนธรรม สนับสนุนช่างฝีมือท้องถิ่น โปรโมตในเหตุการณ์แฟชั่นระดับโลก และใช้พื้นที่ดิจิทัลเล่าเรื่องราวความเป็นมาและความยั่งยืนของกางเกงช้าง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับไทยและสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น

รวมทั้งการจัดหาเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและจ้างงานคนในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับชุมชน พร้อมขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐและผู้ประกอบการ

“ทำอย่างไร ที่สามารถต่อยอดให้เกิด Demand เพื่อกำไรเหล่านั้นจะกลับมาช่วยสร้างงานสู่ชุมชน และนักออกแบบรุ่นใหม่

การที่นักออกแบบรุ่นใหม่ได้รับโจทย์ที่จะพัฒนาสัญญะของประเทศไทย ในแง่ของวิชาการแล้ว การหวงแหนการผลิตกางเกงลายช้างให้จำกัด จะเป็นเพียงการสร้างองค์ความรู้แต่ไม่เกิดมูลค่าในด้านอุตสาหกรรม เมื่อผลิตได้น้อยจะกลายเป็นของสะสมไม่ใช่การเติบโตอย่างยั่งยืน”

กางเกงช้าง credit จุฬาฯ

อย่างไรก็ตาม ดิฉันมองว่าเมื่อต่างชาติได้ช่วยเรา “กระแทก” เทรนด์ให้กางเกงช้างของไทยเป็นที่โด่งดังแล้ว เรายิ่งต้องคว้าโอกาสนี้เป็นพลังร่วมกันพัฒนาให้เติบโตมั่นคงไปอีก นักออกแบบรุ่นใหม่ควรหันมาต่อยอดตรงนี้ สร้างมูลค่า ในแง่ของลวดลาย identity ให้มีเรื่องราวและช่วยกันทำให้มีความครีเอทีฟมากขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสและขยายตลาดการใช้สอย ทำให้กางเกงช้างสามารถไปไกลได้อีก