งานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ “น้ำปลาซองเต้” ช่วยผู้ป่วยโรคไต-หัวใจ

ศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา
ศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา

จากรายงานผู้ป่วยของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2564 มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ระยะที่ 1-5 ทั้งหมด 1,007,251 ราย ซึ่งเป็นภาระในการจัดบริการสุขภาพ และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก ทั้งนั้นเพราะโรคไตพัฒนามาจากโรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคอ้วน, การสูบบุหรี่ และอื่น ๆ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ผู้ป่วยโรคไตจำนวนมาก จำต้องลดอาหารที่มีส่วนผสมของโซเดียม (เกลือ) และโพแทสเซียม เพราะหาไม่เช่นนั้น จะทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในที่สุด ซึ่งผ่านมา สถาบันโภชนาการหลายแห่งทั้งในประเทศ และต่างประเทศพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้นวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ และโภชนาการในการลดโซเดียม และโพแทสเซียมในปริมาณที่พอเหมาะ

เพราะดั่งที่ทุกคนทราบ โซเดียมมีอยู่ในอาหารเกือบทุกชนิด อาทิ กลุ่มอาหารธรรมชาติ เช่น ข้าว, แป้ง, เนื้อสัตว์, นม, ผัก และผลไม้ กลุ่มเครื่องปรุงรส เช่น เกลือ, ซีอิ๊ว, น้ำปลา, น้ำมันหอย และกลุ่มอาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารกระป๋อง, เนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารหมักดอง

ขณะที่โพแทสเซียมจะมีอยู่ในผัก ผลไม้ต่าง ๆ อาทิ แครอต, มะเขือเทศ, หน่อไม้ฝรั่ง, คะน้า, หัวปลี, ผักชี, มันฝรั่ง รวมถึงทุเรียน, กล้วย, ลำไย และผลไม้แห้งต่าง ๆ เช่น ลูกเกด และลูกพรุน

คำถามคือแล้วผู้บริโภคจะบริหารจัดการสุขภาพอย่างไร ? เพราะโซเดียม และโพแทสเซียม ล้วนผสมอยู่ในกลุ่มอาหารที่ “คนไทย” นิยมบริโภคทั้งสิ้น โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องปรุงรสหลักอย่าง “น้ำปลา” ก็นับเป็นส่วนผสมสำคัญของอาหารไทยทุกชนิดเสียด้วย

จนกระทั่ง “ศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา” ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และทีมงาน ทำการวิจัยเรื่อง “การผลิตน้ำปลาโซเดียมต่ำโดยใช้เทคโนโลยีแยกสารผ่านเยื่อด้วยไฟฟ้า” เมื่อปี 2552 ภาพแห่งความหวังจึงค่อย ๆ ชัดขึ้น

“ภาควิชาของเรามีบริษัทต่าง ๆ มาขอข้อมูล คำปรึกษา และคำวิจัยอยู่ประจำ จนกระทั่งมีบริษัทหนึ่งมาคุยกับเราว่า อยากทำน้ำปลาโซเดียมต่ำ ซึ่งเราทำงานร่วมกับเขาในระยะแรก ๆ โดยการขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ส่วนหนึ่ง

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งบริษัทเขาเป็นผู้สนับสนุน ตอนนั้นเราส่งนักศึกษาไปร่วมทำวิจัยด้วย จนที่สุดก็สามารถแยกสารผ่านเยื่อด้วยไฟฟ้าสำเร็จ เพราะปกติน้ำปลาจะมีปริมาณเกลือผสมอยู่ประมาณ 20-25% แต่จากการทดลองเราสามารถผลิตน้ำปลาที่มีปริมาณเกลือเพียง 14% เท่านั้นเอง”

“ถามว่าดีต่อสุขภาพไหม ดี แต่ไม่เหมาะสำหรับการบริโภค เพราะไม่มีรสชาติอะไรเลย ขณะเดียวกันก็ยังมีโพแทสเซียมเจือปนอยู่ในอัตราค่อนข้างสูง ซึ่งไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต และโรคหัวใจ ตอนนั้นทีมงานของเราวิจัยอยู่หลายครั้ง กระทั่งประสบความสำเร็จ

และบริษัทนั้นพยายามต่อยอดในทางธุรกิจ ลงทุนถึงขนาดซื้อเครื่องจักรเพิ่ม แต่ไม่รู้เป็นเพราะอะไร ที่สุดเขาขายบริษัทให้กับต่างประเทศ และบริษัทที่รับซื้อก็ไม่สนใจทำอะไร เครื่องจักรก็ทิ้งร้าง อีกอย่างเงินทุนส่วนหนึ่งเป็นของ สกว.ด้วย เขาก็ถามอยู่เรื่อยว่าต่อยอดในเชิงพาณิชย์หรือยัง”

ผลตรงนี้ จึงทำให้ “ศ.ดร.สักกมน” ปรึกษากับทางผู้บริหารมหา’ลัยเพื่อหาทางออก เพราะในปี 2555 ผลงานวิจัยเรื่อง “การผลิตน้ำปลาโซเดียมต่ำโดยใช้เทคโนโลยีแยกสารผ่านเยื่อด้วยไฟฟ้า” ก็ได้รับรางวัลจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และในปีเดียวกันก็ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติด้วย

จนสุดท้าย ผู้บริหารจึงเลือกวิธี Spin off Company คือตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา เพื่อแยกออกจากมหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อ บริษัท ซุพีเรียร์ โปรดักส์ อินโนเวชั่น จำกัด โดยมี “ศ.ดร.สักกมน” และทีมนักวิจัยถือหุ้นรวมกัน 95% ส่วนอีก 5% ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ถือหุ้น

ขณะที่โรงงานในการผลิตน้ำปลาก็อาศัยบริษัทแห่งหนึ่งแถวพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เป็นแหล่งผลิต

“ศ.ดร.สักกมน” บอกว่า…ตลอดระยะเวลา 15 ปี นับจากเริ่มทำวิจัย จนถึงตอนนี้เราต่อยอดธุรกิจไปได้ระดับหนึ่ง แม้จะไม่ใช่เชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ แต่มีการพัฒนาค่อนข้างเยอะ เพราะตอนหลังเราพยายามหาแหล่งหัวน้ำปลาที่ดีที่สุด จนสุดท้ายไปเจอบริษัทที่ผลิตหัวน้ำปลาชั้นดี

“โดยเราใช้หัวน้ำปลามาเข้ากระบวนการแยกสารผ่านเยื่อด้วยไฟฟ้า จนที่สุด เราสามารถผลิตน้ำปลาแท้ที่ลดโซเดียม และโพแทสเซียม 40% ซึ่งมีรสชาติเหมือนน้ำปลา แต่ผู้บริโภคที่เป็นผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ ที่แพทย์สั่งให้ลดเค็มก็สามารถบริโภคได้ โดยไม่เป็นอันตราย ทั้งยังดีสำหรับผู้บริโภคทั่วไปด้วย”

ฉะนั้น เมื่อถามว่าทำไมถึงใช้แบรนด์ “ซองเต้ ซอส” (SANTE’ Sauce) และมีกำลังการผลิตอยู่ประมาณเท่าไร

“ศ.ดร.สักกมน” บอกว่า SANTE’ เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า เพื่อสุขภาพที่ดี ความหมายโดยรวมคือ น้ำปลาเพื่อสุขภาพที่ดี ไม่มีอะไรซับซ้อน ส่วนกำลังการผลิตอยู่ประมาณ 1,000 ขวด/สัปดาห์ เพราะเราเป็นโรงงานขนาดเล็ก ขณะที่ช่องทางการขายมีอยู่ 2 ช่องทาง คือ ฟู้ดแลนด์ 20 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กับขายผ่านอีคอมเมิร์ชที่ลาซาด้า กับช้อปปี้

“สำหรับฟู้ดแลนด์ เราขายขวดละ 65 บาท ส่วนลาซาด้า กับช้อปปี้ ขวดละ 69 บาท แต่ถ้าลูกค้าไปกดคูปองส่วนลด เขาจะได้ราคาถูกกว่านี้อีก และตอนนี้ยอดขายเราไม่ได้สูงมาก เพราะลูกค้ายังไม่ค่อยรู้ว่ามีน้ำปลาชนิดนี้อยู่ในท้องตลาด อีกอย่างลูกค้าคิดว่าราคาค่อนข้างแพง

เพราะน้ำปลาของเราบรรจุเพียง 200 มล.เท่านั้นเอง ถ้าเทียบกับน้ำปลาปกติในท้องตลาด ขวดเขาจะใหญ่กว่าเรามาก แต่จริง ๆ แล้วถ้าเทียบกับคุณค่าทางโภชนาการในการรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะถ้าใครมีพ่อ-แม่ ญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคไต หรือโรคหัวใจ และชอบทานเค็ม ผมว่าซองเต้ ซอส ตอบโจทย์ทุกอย่างและไม่แพงเลย”

ขณะที่แผนการตลาด นอกจากจะไปออกบูทตามงานต่าง ๆ เราอาจใช้ช่องทางของมหา’ลัยที่มีความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนั้นเพื่อให้นักโภชนาการตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ของเรา ขณะเดียวกันเร็ว ๆ นี้จะมีการประชุมกับนักกำหนดอาหาร และนักโภชนาการ เราก็จะนำซองเต้ ซอส เข้าไปนำเสนอด้วย

ทั้งนั้นเพราะเชื่อว่าน้ำปลาที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยสามารถต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ไม่เพียงช่วยผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ ให้มีความหวังต่อการบริโภคมากขึ้น หากยังช่วยทำให้ผลงานการวิจัยแทนที่จะอยู่บนหิ้ง กลับถูกพัฒนาต่อยอดมาในเชิงพาณิชย์แล้ว

แม้จะยังไม่เป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ แต่เชื่อว่าอีกไม่นาน “SANTE’ Sauce” อาจจะกลายเป็นน้ำปลาทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศในที่สุด

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ : โรคไตเรื้อรัง