ทรูนำ AI เฝ้าระวังช้างป่า แก้ปัญหาอยู่กับ “คน” อย่างไม่ขัดแย้ง

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ปี พ.ศ. 2565 มีช้างป่ากระจายอยู่ใน 69 พื้นที่อนุรักษ์ แบ่งเป็น 38 พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และ 31 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยพบว่ามี 49 พื้นที่ที่เจอปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ และหากดูข้อมูลย้อนหลังช่วง 6 ปีผ่านมา พบว่ามีปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ จนมีผู้ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็นผู้บาดเจ็บ 116 คน และผู้เสียชีวิต 135 คน

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่อยู่อาศัยหรือป่าไม่เพียงพอกับจำนวนช้างป่าที่มีอยู่ประมาณ 4,000 ตัว ซึ่งปกติช้างป่าเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมทางนิเวศในพื้นที่กว้าง เมื่อขนาดของพื้นที่ไม่สัมพันธ์กับจำนวนช้างป่า จึงไม่แปลกที่พื้นที่ป่าจะไม่เพียงพอกับความต้องการของช้าง

สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอย่างรุนแรง และต้องการการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เช่น พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดทางภาคตะวันออก, พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย, อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น

ขณะที่กองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ (IFAW) รายงานว่า ทุกปีประเทศศรีลังกาจะมีช้างป่าเสียชีวิต 200 ตัว จากกรณีความขัดแย้ง ประเทศอินเดียมีช้างเสียชีวิตประมาณ 100 ตัว ส่วนช้างประเทศเคนยาเสียชีวิต 120 ตัวต่อปี นอกจากนั้นยังเกิดความสูญเสียของมนุษย์จากช้างในอินเดีย มีประมาณ 400 คนต่อปี ส่วนในเคนยา มีคนเสียชีวิตราว 200 คน ระหว่างปี 2553-2560

ดังนั้น ในโอกาสวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็น “วันช้างไทย” บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงตระหนักถึงความสำคัญของคนไทย และช้างป่า ด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่มาในการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G, 4G และ AI มาเป็นเครื่องมือช่วยจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง หรือ Human-Elephant Conflict (HEC)

ผ่านโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant Smart Early Warning System) ซึ่งร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ WWF ประเทศไทย ดำเนินการนำร่องในพื้นที่รอบเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาตั้งแต่ปี 2561

ประพาฬพงษ์ มากนวล
ประพาฬพงษ์ มากนวล

“ประพาฬพงษ์ มากนวล” หัวหน้าฝ่ายทรูปลูกปัญญา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดการกับความขัดแย้งระหว่างคน และช้างป่า สำหรับในมุมของภาคเอกชน บริษัทได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย (WWF) ทำการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่อสาร 5G, 4G และระบบ IOT และปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า พร้อมจัดสร้างศูนย์เฝ้าระวังช้างป่า เพื่อช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

วีรศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย
วีรศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย

ขณะที่ “วีรศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย” หัวหน้าศูนย์นวัตกรรม ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากการวิเคราะห์โจทย์ในการนำเทคโนโลยีมาออกแบบผ่าน 4 แกนหลักที่ผสานรวมกัน คือ 1.เรียลไทม์ (Realtime) 2.ปัญญาประดิษฐ์ (AI) 3.โซลูชั่นเครือข่าย และพื้นที่ครอบคลุม 5G (Network Solution & 5G Coverage) และ 4.อินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (Internet of Things) เพราะใจกลางของปัญหาคือ เราไม่รู้ช้างอยู่ไหน จะบุกมาเมื่อไร หรือรู้แต่ก็สายไปแล้ว ทำให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ดังนั้น เทคโนโลยีการสื่อสารที่ระบุพิกัด และแจ้งเหตุแบบเรียลไทม์ จึงสำคัญมาก ส่วนนี้ทรูจึงนำจุดแข็งมาออกแบบจากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ร่วมกับกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) ทำงานร่วมกัน รวมถึงช่วยวิเคราะห์ภาพ เพื่อระบุภาพช้างได้แม่นยำขึ้น

สำหรับขั้นตอนการทำงานของระบบเตือนภัยล่วงหน้า ตัวกล้องจะตรวจจับความเคลื่อนไหวที่มีการติดตั้ง SIM เพื่อส่งสัญญาณ 5G ผ่านเครือข่ายของทรูไปยังระบบ Cloud และใช้แอปพลิเคชั่น คชานุรักษ์ (Kajanurak) ที่นำเทคโนโลยี AI วิเคราะห์รูปร่างของช้าง ทำให้ระบบมีความแม่นยำมากขึ้น เพราะกล้องสามารถจับภาพเคลื่อนไหวทุกประเภท เช่น คน สัตว์ป่าอื่น ๆ

ในจุดนี้ AI จะช่วยคัดกรองก่อนแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังช้างป่า ซึ่งจะส่งข้อมูลพิกัดพบช้างต่อไปยังหน่วยผลักดันช้าง หรือตัวแทนหมู่บ้านที่ทำหน้าที่ผลักดันช้างผ่านแอปพลิเคชั่น คชานุรักษ์ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำการเฝ้าระวัง และผลักดันช้างป่าอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดความขัดแย้ง และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างคนกับช้างป่า

“ประพาฬพงษ์” กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทรูมีการขยายผล และนำไปใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งค่อนข้างวิกฤต เช่น พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ภายใต้โครงการคชานุรักษ์ ซึ่งครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา, จันทบุรี, ระยอง, ชลบุรี และสระแก้ว

ทรูดำเนินการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) ในพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมด 36 จุด เพิ่มและปรับปรุงเสาสัญญาณ เพื่อรองรับระบบสื่อสารให้ครอบคลุมมากขึ้น จัดสร้างศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังช้างป่า ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเฝ้าระวังช้างป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และชุมชนใน 5 จังหวัดที่เผชิญปัญหาความขัดแย้งกับช้างป่ามาอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงร่วมมือกับคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับระบบ Smart Early Warning เพื่อช่วยในการคัดกรองไฟล์ภาพช้าง แก้ปัญหาข้อจำกัดของ Data Storage ในระบบเมล์เซิร์ฟเวอร์ รวมถึงเป็นการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ของช้างแต่ละตัว ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการเตือนภัยมากยิ่งขึ้น

สำหรับโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า เริ่มพัฒนาระบบตั้งแต่ปี 2561 ทั้งยังมีส่วนช่วยเสริมการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่หน่วยผลักดันช้างป่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปี 2566 จากรายงานผลการดำเนินของระบบดังกล่าวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี พบการบุกรุกของช้างป่า 1,104 ครั้ง พืชผลได้รับความเสียหายเพียง 4 ครั้ง และการบุกรุกได้เกิดความเสียหายเพียง 0.39%

โดยระบบสามารถช่วยป้องกันความเสียหายได้ดีขึ้นเมื่อเทียบจากปี 2565 จากสถิติที่ระบบแจ้งเตือนพบว่าสามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถผลักดันช้างให้กลับเข้าป่า พร้อมลดความเสียหายได้เกือบ 100%