ดัชนีความยั่งยืน ดาวโจนส์ คือ ? (1)

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ CSR talk

โดย ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา

วันที่ 13 กันยายนที่จะถึงนี้ เราจะได้ทราบว่าบริษัทใดบ้างจากทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ประจำปี 2019 ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากทั่วโลก CSR Talk ในครั้งนี้เรามาทำความรู้จักดัชนีตัวนี้กันให้มากขึ้นว่าคืออะไร มีวัตถุประสงค์อย่างไรกันค่ะ

RobecoSAM นักลงทุนผู้แสวงหาความยั่งยืน

เริ่มต้นด้วยมาทำความรู้จัก RobecoSAM สถาบันผู้ออกแบบคำถาม เพื่อสำรวจความยั่งยืนของบริษัทกันก่อน โดย RobecoSAM ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 เป็นสถาบันนักลงทุนที่ให้ความสนใจในเรื่องการลงทุนเพื่อความยั่งยืนเท่านั้น ด้วยความเชื่อที่ว่าการรวมประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนกับการวิเคราะห์ผลประกอบการทางการเงินในแบบที่เคยทำกันมานั้น จะสามารถประเมินคุณภาพการบริหารจัดการบริษัท รวมไปถึงการประเมินศักยภาพในอนาคต และในที่สุดจะสามารถระบุโอกาสในการลงทุนที่สามารถสร้างคุณค่าและผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้

สร้างแบบประเมินและจัดอันดับสู่ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์

Advertisment

และปี 1999 คือเป็นปีแรกที่ RobecoSAM เริ่มทำการประเมินความยั่งยืนบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก โดยในแต่ละปี RobecoSAM จะเชิญบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกประมาณ 3,400 บริษัท จากทั้งสิ้น 60 อุตสาหกรรม เข้าร่วมประเมินความยั่งยืนผ่านการตอบแบบประเมินผล ที่เรียกว่า corporate sustainability assessment (CSA) โดยคำถามใน CSA จะแบ่งออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในแต่ละมิติจะมีข้อคำถามย่อยครอบคลุมการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่โครงสร้างของคณะผู้บริหาร แนวทาง นโยบาย ตลอดจนหลักปฏิบัติของการดำเนินธุรกิจในเรื่องต่าง ๆ ไปจนถึงการดูแลด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ รวม ๆ แล้วประมาณ 80-120 คำถาม (ไม่รวมคำถามย่อย)

ที่สำคัญคำถามจะแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เมื่อประเมินเสร็จสิ้นแล้วบริษัทที่มีคะแนนอยู่ใน top 10 percentile ของแต่ละอุตสาหกรรม จะได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในดัชนี DJSI ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลกว่า บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในดัชนีตัวดังกล่าวนี้มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องในระยะยาวให้กับนักลงทุนได้

Advertisment

แบบประเมินผล CSA นี้ จึงเปรียบเหมือนเครื่องมือที่ช่วยคัดกรองให้นักลงทุนได้มองเห็นบริษัทสามารถรับรู้และระบุถึงความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตามแนวโน้มของสถานการณ์โลก และอุตสาหกรรมของตนได้สามารถสร้างกลยุทธ์สำหรับรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นทั้งต่อตัวบริษัทเองและกับโลกใบนี้ ด้วยความเชื่อว่าบริษัทที่มีคุณลักษณะเช่นนี้จะสามารถมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้ นำมาซึ่งผลการดำเนินงานที่ดีทั้งในด้านการบริหารจัดการและผลกำไรต่อองค์กรในที่สุด นอกจากนี้ RobecoSAM ยังประเมินความก้าวหน้าของบริษัทในการลงมือปฏิบัติงานตามกลยุทธ์ต่าง ๆ รวมไปถึงคุณภาพในการรายงานถึงการทำงานในเรื่องนั้น ๆ อีกด้วย

เพราะอะไรองค์กรจึงควรเข้าร่วมประเมิน (หากได้รับการเชิญ) 

ปัจจุบันนักลงทุนที่ให้ความสนใจต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับแนวความคิดและวิถีปฏิบัติด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในแง่มุมต่าง ๆ ที่ถูกนำเสนอผ่านผลการวิจัย และรายงานก็มีออกมาอย่างมากมาย รวมไปถึงมาตรฐาน ตัวชี้วัด หรือกรอบการรายงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน มีการนำเสนออย่างนับไม่ถ้วน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าโลกให้ความสำคัญกับแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากเพียงใด

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสู่ความยั่งยืนนี้ไม่ได้มีกฎหรือแบบแผนการปฏิบัติที่ตายตัว แต่ละองค์กรต่างมีแนวทางสู่ความยั่งยืนที่ในแบบของตนเอง เปรียบเหมือนการวัดตัวเพื่อตัดชุดที่ใส่ได้พอดีสำหรับตัวเองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมาเป็นแนวทางเพื่อให้ทราบว่า องค์กรของเราดำเนินธุรกิจบนวิถีแห่งความยั่งยืนจริง ๆ หรือไม่ และแบบประเมินความยั่งยืน CSA นี้คือแบบประเมินที่ได้รับการยอมรับสูงสุดจากนักปฏิบัติ นักลงทุน และผู้บริหารทั่วโลกอีกด้วย

อาจเป็นเพราะคำถามในแบบประเมินนั้นได้รับการพัฒนามาจากข้อมูลที่บริษัทชั้นนำจากทั่วโลกตอบกลับมา โดยผู้ประเมินจะพิจารณานำคำตอบที่ถือว่าเป็น best practice หรือดีที่สุด และประเด็นหรือเหตุการณ์สำคัญทางธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในแต่ละปีมาเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงแบบประเมินผลในปีต่อ ๆ ไปให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ประเมินยังพร้อมรับฟังความเห็นของบริษัทที่เข้าร่วมรับการประเมิน หากคำถามข้อใดที่ดูไม่น่าจะเป็นประโยชน์ หรือไม่สามารถบ่งชี้ถึงสาระสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนพร้อมจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมมากขึ้น

ดังนั้น ข้อคำถามในแบบประเมินแต่ละปีจึงมีความแตกต่างจากปีก่อนหน้าประมาณ 10-15% นี่จึงเป็นแบบประเมินที่ทำให้ผู้ประเมินสามารถมองเห็นได้ว่า ในประเด็นหนึ่ง ๆ นั้นบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันจากทั่วโลกมีแนวนโยบายและหลักปฏิบัติที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร นี่เป็นข้อมูลสำคัญในการสร้างมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่เชื่อถือได้ และได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

บริษัทที่ร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน CSA นี้ จะสามารถประเมินและวิเคราะห์ได้ชัดเจนว่าบริษัทมีลักษณะการดำเนินธุรกิจอย่างไร ยังมีเรื่องใดอีกบ้างที่ควรต้องปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากหลาย ๆ คำถามในแบบประเมินนั้นสามารถเป็นแนวทางให้องค์กรได้พิจารณาว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่มีความเหมาะสม ครอบคลุมหรือมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ยังขาดการดำเนินการในเรื่องใดอีกบ้างหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้ประเมินย้ำเสมอกับผู้เข้าร่วมรับการประเมิน คือ อย่าลงมือทำสิ่งใดเพียงเพื่อจะสามารถตอบคำถามในแบบประเมิน CSA เท่านั้น แต่ขอให้ทำหากบริษัทเห็นว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทได้จริง ๆ

สำหรับองค์กรที่ไม่ได้รับการเชิญให้ร่วมตอบแบบประเมินด้านความยั่งยืนนี้อย่าได้วิตกกังวลไป ท่านสามารถหาความรู้และแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนผ่านรายงานการพัฒนาสู่ความยั่งยืน (sustainability report) ของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ของบริษัท หรืออาจเข้าไปหาความรู้ อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนได้ที่เว็บไซต์ของ RobecoSAM (http://www.robecosam.com) สถาบันผู้ประเมิน CSA ได้