นายจ้างไม่นำเงินที่หักส่งเข้ากองทุนประกันสังคมมาตรา 33 ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง ดังนั้น ลูกจ้างใน 13 จังหวัด 9 ประเภทกิจการ ยังมีสิทธิ์ได้เงินเยียวยา เรื่องเงินช่วยเหลือและเรื่องของหนี้เป็นคนละส่วนกัน
วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยผ่านช่อง NBT 2HD เมื่อเวลา 13.30 น. ช่วงหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นการเงินเยียวยามาตรา 33 ว่า กฎหมายประกันสังคมให้อำนาจนายจ้าง ทำหน้าที่เป็นผู้แจ้งว่าได้รับลูกจ้างเข้ามาทำงานกี่คน ชื่ออะไรบ้าง และให้ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง นายจ้างมีอำนาจหักค่าจ้างของลูกจ้าง เพื่อนำส่งเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้ลูกจ้างตามมาตรา 33 (ตามที่ ครม. วันที่ 18 พ.ค. 2564 พิจารณาเห็นชอบลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้อยู่ที่ 2.5% ของเงินเดือน ซึ่งเดิมทีถูกหัก 5%)
แต่หากนายจ้างไม่นำเงินที่หักส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง ดังนั้น ลูกจ้างใน 13 จังหวัด 9 ประเภทกิจการ ยังมีสิทธิ์ได้เงินเยียวยา เพราะเรื่องเงินช่วยเหลือเยียวยาและเรื่องของหนี้เป็นคนละส่วนกัน โดยสิ่งที่นายจ้างกระทำผิดเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นหน้าที่ของ สปส. ที่จะติดตามทวงถามเงินที่ค้างชำระเข้ากองทุน พร้อมกับมีค่าปรับตามกฎหมาย
“เราเข้าใจดีว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ส่งผลให้นายจ้างหลายรายได้รับผลกระทบเงินขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ขอให้นายจ้างขึ้นทะเบียน e-service เพื่อแจ้งว่าไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามมาตรา 33 ได้ โดยระบุให้ชัดเจนว่าลูกจ้างมีกี่คน และหยุดงานตั้งแต่วันที่อะไรถึงวันที่อะไร แล้วให้ลูกจ้างกรอกแบบ สปส.2-01/7 และแนบสมุดปัญชีออมทรัพย์ ส่งให้นายจ้างรวบรวมเพื่อนำส่ง สปส. ภายใน 3 วันหลังจากที่ยายจ้างลงทะเบียน e-service แล้ว เพื่อจะช่วยให้ลูกจ้างได้รับเงินเยียวยา ส่วนเรื่องเงินที่ค้างชำระเข้ากองทุนประกันสังคม ขอให้ติดต่อ สปส. เพื่อบันทึกเหตุผล และหากนายจ้างไม่พร้อม ก็ทำเรื่องขอผ่อนผันเนื่องจากความจำเป็น”
โดยช่องทางติดต่อมีดังนี้ เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ผ่านช่องทาง e-mail : [email protected] หรือทางโทรศัพท์มือถือสามารถดาวน์โหลดแอป SSO Connect หรือสอบถามผ่านการส่งข้อความในเฟซบุ๊ก www.facebook.com/ssofanpage ของสำนักงานประกันสังคม หรือโทร.สายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายนันทชัย อธิบายว่า เงินจากกองทุนประกันสังคมจะจ่ายทดแทนการขาดรายได้กรณีสุดวิสัยให้ลูกจ้างรายละ 50% ของเงินเดือน จ่ายสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท (ทั้งคนไทยและต่างชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33)
ส่วนนายจ้างมาตรา 33 ได้รับโครงการเงินเยียวของรัฐบาล 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้าง 1 คน (ลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน) และจะจ่ายให้ผู้ประกันตน “สัญชาติไทย” มาตรา 33 อีก 2,500 บาทต่อคน
ทั้งนี้ต้องเป็นกิจการใน 13 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรปราการ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ที่อยู่ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1.ก่อสร้าง 2.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3.ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 4.กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ 5.การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 6.การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 8.กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 9.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมกำลังเร่งอนุมัติจ่ายเงินว่างงานเหตุสุดวิสัย เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทา ความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ดังกล่าว
“คุณสมบัติของผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยนั้น ต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนใน 15 เดือนย้อนหลังก่อนวันที่ว่างงาน และไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 90 วัน”