“เทวินทร์”อดีตCEO ปตท. แจงข้อกังขา”กรณ์ จาติกวณิช”ในเฟซบุ๊กส่วนตัว

กรณี นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Korn Chatikavanij” ตั้งค่าสาธารณะ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ระบุว่าได้รับเชิญไปบรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาในยุค Digital Age” กับกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ของบริษัทในเครือปตท. โดยตอนหนึ่งของการบรรยาย ระบุว่า ปตท. ส่อขัดกฎหมายจัดตั้งปตท.และรัฐธรรมนูญ กรณีที่ใช้บริษัทลูกของตน คือ GPSC เข้าซื้อหุ้น 69% ในบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนชื่อ GLOW และขยายสาขากาแฟอเมซอนตามห้างและบนท้องถนนในหัวเมืองทั่วประเทศ แข่งกับชาวบ้านซึ่งไม่มีทางสู้ได้ด้วยว่ากำลังทุนต่างกัน แถมยังมีแผนจะทำโรงแรมด้วย ฉะนั้นในฐานะประธานนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นร้องเรียนต่อผู้มีอำนาจในสองกรณีดังกล่าว

ล่าสุด นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งเกษียณจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เข้าไปแสดงความเห็นในเฟสบุ๊กของนายกรณ์ รายละเอียดดังนี้

“ผมเกษียณจากปตท.แล้ว ไม่มีส่วนได้เสียใดๆ ขอให้ข้อเท็จจริงคุณกรณ์ Korn Chatikavanij ตามนี้นะครับ
1) กว่า 90%ของผู้ลงทุน Cafe Amazon คือรายย่อยครับ ไม่ใช่ ปตท.ลงทุน

2) โรงแรมตามปั๊มมีมานานแล้ว แต่ขาดมาตรฐานที่คนเดินทาง เช่น Sales, Auditors จะวางใจได้ ปตท.จึงหาพันธมิตรมาออกแบบและกำหนดมาตรฐานเหมือนที่ทำกันในต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้เดินทาง และจะเป็นการลงทุนโดยผู้ประกอบการรายย่อยเช่นกัน

3) Engie ขาย Glow ให้ GPSC เพราะเขาเปลี่ยนนโยบายมุ่งสู่ Renewables ในขณะที่ธุรกิจก๊าซเริ่มเปิดเสรี และปตท.กับ GPSC ดำเนินธุรกิจในลักษณะ Arm Length เพราะต่างก็เป็นบริษัทมหาชน สัญญาระหว่างกันที่มีนัยยะสำคัญถือเป็น connected transaction ที่ต้องให้ผู้ถือหุ้นอื่นเห็นชอบ ฮั้วกันไม่ได้ครับ

4) ธุรกิจน้ำมันและขายปลีกของปตท. (PTTOR) ไม่มีสิทธิพิเศษจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แข่งขันกับเอกชนอื่นรวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติบนสนามที่เท่าเทียมกัน และอยู่ระหว่างการนำเข้าจดทะเบียนและกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

5) หน้าที่ National Champion ที่ปตท.ทำอยู่คือ
– สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ให้คนไทยมีน้ำมันใช้ทุกแห่งหน ทุกเวลา
– พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ปั๊มให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรมสำหรับคนไทย
– ลงทุนและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจัดหาและจัดส่งก๊าซให้ผู้ใช้อย่างเพียงพอ ในราคาที่เป็นธรรม และมั่นคงในระยะยาว
– สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและรายได้ให้รัฐจากการลงทุนในธุรกิจโรงแยกก๊าซ โรงกลั่น ปิโตรเคมี
– กระจายเศรษฐกิจจากการมีส่วนร่วมของ SME (คู่ค้าและ dealers) และเกษตรกร ชุมชน ที่ปั๊มปตท.
– เป็นแกนนำ brand ไทยในปั๊มปตท. ไปลงทุนใน AEC และกำลังขยายไปนอกภูมิภาค
– ส่งเสริมและผลักดันงานวิจัย นวัตกรรม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยตั้งรร.กำเนิดวิทย์ สถาบันวิทยสิริเมธี และสนับสนุนตั้ง EECi ที่อ.วังจันทร์
– รณรงค์การดูแลสิ่งแวดล้อม รักษาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างเศรษฐกิจชุมชน ผ่านโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ โครงการ 84 ตำบลวิถีพอเพียง โครงการลูกโลกสีเขียว ป่าในกรุง บางกะเจ้า และโครงการแยกขยะ”

ขณะเดียวกัน นายกรณ์ ก็ได้แสดงความเห็นต่อจากคอมเมนท์ของนายเทวินทร์เช่นกัน “ขอบคุณคุณเทวินทร์ที่กรุณาแสดงความเห็นครับ ผมขอแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม อันดับแรกผมมองว่าในสถานภาพทั่วไปในปัจจุบัน ทุนใหญ่ได้เปรียบและกินพื้นที่เศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่ต้องพยายามลดความเสียเปรียบของรายย่อยที่มีโดยธรรมชาติ ดังนั้นการตีความในแต่ละกรณีต้องไม่ลืม ‘ภาพใหญ่’ นี้ และต้องตอบสังคมให้ได้ว่า ‘ตกลงกฎหมายมีไว้ช่วยใคร’ หากเราคิดจะช่วยขาใหญ่เราก็ปล่อยให้มีการตีความไปว่าบริษัทแม่ทำไม่ได้ ก็ให้ตั้งบริษัทลูกไปทำแทน เป็นต้น

แต่ถ้าเราคิดจะช่วยรายเล็กไม่ให้เสียเปรียบเกินไป เราก็ต้องตีความเพื่อให้โอกาสเขาแข่งขันได้จริง ทั้งหมดนี้ด้วยความชื่นชมปตท. และความสำเร็จของปตท. เพียงอยากเห็นปตท. ท้าทายตัวเองมากกว่านี้ครับ

คราวนี้ในประเด็นที่คุณเทวินทร์ชี้แจงมา ผมขอแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม
1. ถึงจะเป็น franchise ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังเป็นประโยชน์ของปตท. (แต่ก็ดีกว่าปตท. ทำเองทั้งหมด)

2. ผมเห็นด้วยว่าปตท. คงบริหารโรงแรม (และกิจการอื่นๆอีกแทบทุกประเภท)ได้ดีกว่าคนอื่นหลายคน แต่ไม่ได้หมายความว่าด้วยเหตุผลนี้ปตท. ควรมีสิทธิ์ทำทุกอย่างเอง

3. เหตุผลที่ Engie ขายหุ้นเป็นเรื่องและสิทธิของเขา (และราคาที่ GPSC เสนอซื้อนั้นหากไม่ขายก็ไม่รู้จะไปขายใครแล้วครับ) แต่หลักการว่าเราไม่ควรให้บริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจคืบเข้ามาชิงพื้นที่ของเอกชนยังคงอยู่เหมือนเดิมครับ

4. บางธุรกิจของปตท.อาจไม่มีสิทธิพิเศษโดยตรงจากการเป็นรัฐวิสาหกิจก็จริง แต่ที่มาของความเข้มแข็งของปตท. (ที่ทำให้ทำธุรกิจเหล่านี้ได้) มาจากสิทธิพิเศษการเป็นรัฐวิสาหกิจแน่นอน การกระจายหุ้นภายหลังในตลาดหลักทรัพย์จึงเสมือนเป็นเพียงการโอนความได้เปรียบนี้ไปให้กับเอกชน สรุปสุดท้ายคือผู้ประกอบการรายอื่นไม่ได้เกิดอยู่ดี

5. เห็นด้วยในหน้าที่ National Champion ตามที่ลำดับมาทุกประการครับ แต่อยากจะให้เน้นในเรื่องที่มีผลทางยุทธศาสตร์ของประเทศ มากกว่าที่จะทำในเรื่องที่คนอื่นเขาทำได้อยู่แล้ว”