เผยโฉมครั้งเเรก! “สตรีถ้ำลอดในไทย” อายุกว่า 13,000 ปี ขึ้นรูปใบหน้าจากชิ้นส่วนกะโหลก

กรกนก มาอินทร์ : เรื่อง

การค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคโบราณอายุกว่า 13,000 ปี จากการสำรวจที่เพิงผาถ้ำรอด เมื่อปี 2545 นำมาสู่โครงการวิจัยเชิงพื้นที่ระยะยาว เพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเเวดล้อมในอดีต เกี่ยวกับการปรับตัวทางกายภาพของคน เเละวัฒนธรรม โดยการขึ้นรูปหน้าของคนโบราณ นับเป็นครั้งเเรกในประเทศไทย

โดยงานวิจัยโครงการการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับสิ่งเเวดล้อมบนพื้นที่สูง ในอำเภอปางมะผ้า เป็นส่วนหนึ่งในงาน “25 ปี สกว. : สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” จัดขึ้นเพื่อสื่อสาร กระบวนคิด วิธีทำงานเเละผลงานวิจัย ความร่วมมือกับภาคีวิจัยเเละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการวิจัย เเละนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

ศิริลักษณ์ กัณฑศรี เลขาเเละผู้ประสานงานโครงการ เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ถึงโครงการการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับสิ่งเเวดล้อมบนพื้นที่สูง ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดเเม่ฮ่องสอน ซึ่งมีการสำรวจถ้ำทางธรณีวิทยา

ศิริลักษณ์ กัณฑศรี

โครงการสำรวจเริ่มตั้งเเต่ปี 2544 เเต่ชิ้นส่วนกะโหลกถูกค้นพบตอนปี 2545 เเละเริ่มทำการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง สิ้นสุดในปี 2559 โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสิ่งเเวดล้อมโบราณบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า ศึกษาลักษณะเเละความสัมพันธ์ของประชากรในอดีต

ผู้เริ่มโครงการนี้ คือ “รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช” ในขณะนั้นมีการสำรวจถ้ำ 2 เเห่ง คือ เพิงผาถ้ำรอด เเละเพิงผาบ้านไร่ ในจังหวัดเเม่ฮ่องสอน ทำให้ค้นเจอวัตถุต่างๆ รวมไปถึงโครงกระดูกส่วนกะโหลกของมนุษย์

ผู้ประสานงานโครงการ เล่าต่อว่า รศ.ดร.รัศมี ได้นำโครงกระดูกที่ค้นพบในปี 2545 นำมาขึ้นรูปเป็นใบหน้าคน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่อินโดนีเซีย เเละ วัชระ ประยูรคำ ศิลปินประติมากรรมชื่อดัง ซึ่งทั้งสองทำงานกันคนละที่ โดยใช้ฐานข้อมูลจากตัวกะโหลก

การทำงานของนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่อินโดนีเซีย ยึดจากคนหลากหลายเชื้อชาติซึ่งเป็นคนในปัจจุบันกว่า 700 คน เพื่อศึกษาดูว่าฐานกระโหลก ในเรื่องของเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ เเละคาดการณ์ผ่านโปรเเกรมคอมพิวเตอร์ ด้านฝั่ง วัชระ ประยูรคำ เป็นคนปั้นใบหน้า โดยใช้ฐานข้อมูลตัวเดียวกัน

ทั้งนี้ การคาดการณ์ภาพกะโหลกศีรษะจำลองผ่านโปรเเกรมคอมพิวเตอร์ เป็นการนำชิ้นส่วนของกระดูกใบหน้าเเละกะโหลกศีรษะนำมาถ่ายภาพรังสีทางทันตกรรมที่ใช้ในการวินิจฉัยพยาธิสภาพ โดยใช้เครื่องสเเกนจาก 3 เเห่ง คือ คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะทันตเเพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เเละศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง

ภาพที่สเเกนได้จะเเสดงผลทั้ง 3 ระนาบ เเล้วจึงนำชิ้นส่วนต่างๆ มาจัดเรียงตามตำเเหน่งที่ถูกต้องเเละต่อเข้าด้วยกันโดยใช้โปรเเกรมคอมพิวเตอร์ประเภท CAD (Computer Aided Design) โดยเปรียบเทียบกับกะโหลกศีรษะของคนไทยในปัจจุบันเเละมนุษย์โบราณสมัยวัฒนธรรมโลงไม้ที่ถ้ำผาเเดงน้ำลาง อ.ปางมะผ้า เเละเสริมสร้างส่วนที่หายไปของกะโหลกโบราณให้ดูมีสภาพสมบูรณ์

เเละในส่วนการทำจำลองกะโหลกศีรษะคนโบราณเป็นการนำภาพกะโหลกศีรษะจำลองในคอมพิวเตอร์ที่ได้จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะเเละวัสดุเเห่งชาติ (MTEC) มาสร้างโมเดลต้นเเบบ ซึ่งสามารถขึ้นรูปชิ้นงานสามมิติที่มีความละเอียดสูงเเละรวดเร็ว หลักการทำงานคือโปรเเกรมคอมพิวเตอร์จะเเบ่งโมเดลสามมิติที่ได้ออกเเบบเป็นชั้นๆ เเล้วขึ้นรูปที่ละชั้น เรียงต่อกันขึ้นไปจนได้ชิ้นงานเเบบจำลองกะโหลกศีรษะคนโบราณที่สมบูรณ์ โดยใช้วัสดุคือเรซิน เเละปูนปลาสเตอร์

งานวิจัยนี้เสร็จสิ้นในปี 2559 เมื่อนำงานจากฝั่งวิทยาศาสตร์เเละฝั่งศิลปะมาเปรียบเทียบกัน มีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม “ผู้ประสานงานโครงการ” ทั้งหมดเป็นการคาดคะเน อยู่บนฐานงานวิจัย อีก 10 ปี หากมีข้อมูลฐานวิจัยมากขึ้น ใบหน้าที่ได้อาจเปลี่ยนไปได้

นับเป็นความสำเร็จเเรกของงานวิจัย ที่มุ่งเน้นให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความหลากหลาย ทั้งด้านคน วัฒนธรรม เเละสิ่งเเวดล้อมในสมัยโบราณ อีกทั้งการขึ้นรูปใบหน้าคนโบราณอายุ 13,000 ปีนี้ เป็นความสำเร็จครั้งเเรกในไทยอีกด้วย