ครอบครัวสตาร์ก Game of Thrones ภาพสะท้อนสังคมชายเป็นใหญ่ในยุคกลาง

เกม ออฟ โธรนส์ (Game of Thrones) ซีรีส์จาก HBO ที่แฟน ๆ ทั่วโลกตั้งตารอคอย ได้ปล่อยซีซั่นสุดท้ายออกอากาศไปแล้ว ท่ามกลางกระแสตอบรับถล่มทลายเช่นเคย มียอดผู้ชมผ่านช่องทางถูกกฎหมายถึง 10 ล้านคน ยังไม่นับคนที่ดูผ่านช่องทางเถื่อน ซึ่งน่าจะเป็นจำนวนอีกมหาศาล

ในซีรีส์ศึกชิงบัลลังก์เหล็ก หรือชิงตำแหน่งกษัตริย์ผู้ครองทั้ง 7 อาณาจักรในดินแดนเวสเทอรอส มีตระกูลหลัก ๆ ที่มีบทบาทอย่างสูงมาก 3 ตระกูล ซึ่งตระกูลที่แฟน ๆ เอาใจช่วยมากที่สุดคงเป็นตระกูลสตาร์ก (Stark) ผู้ทรงคุณธรรมแห่งแดนเหนือ ที่โดดเด่นเรื่องการรักษาสัจวาจายิ่งกว่าสิ่งใด โดยมีพ่อ ลอร์ด เอ็ดดาร์ด “เน็ด” สตาร์ก เป็นต้นแบบอันสมบูรณ์แบบ เป็นทั้งนักรบผู้เก่งกล้า เป็นผู้ปกครองที่มีคุณธรรม เป็นพ่อและเป็นสามีที่ดี

ครอบครัวสตาร์กมีลูกชาย 3 คน ลูกสาว 2 คน และลูกชายนอกสมรสอีก 1 คน ซึ่งเกือบทุกคนมีบทบาทสำคัญในเรื่อง

นอกจากถูกเขียนให้เป็นตระกูลที่มีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินเรื่อง นัยหนึ่งที่ถูกซ่อนไว้ในตระกูลผู้ครองดินแดนเหนือตระกูลนี้คือ ภาพสะท้อนสังคมยุคกลาง (Middle Ages ช่วงเวลาระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5-15) ที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศอย่างมาก

คนดูอาจจะสนุกกับการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบทางการเมืองและการทหารจนมองไม่เห็นสิ่งนี้ แต่ผู้ที่บอกถึงนัยเรื่องนี้ไม่ใช่ใครอื่น เป็นเจ้าของบทประพันธ์นั่นเอง

จอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ติน (George R.R. Martin) นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค เจ้าของบทประพันธ์เรื่อง A Song of Ice and Fire ที่เป็นต้นเรื่องของเกม ออฟ โธรนส์ เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rolling Stone ว่า เรื่องราวของครอบครัวสตาร์กเป็นส่วนแรก ๆ ที่เขาเขียนเมื่อเริ่มแต่งนิยายเรื่องนี้ในปี 1991

จอร์จบอกว่า ตอนที่เขาสร้างครอบครัวให้ลอร์ดสตาร์ก เขาตั้งใจอยากให้เป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกหลายคน และเขายอมรับว่าเขาแอบโกงเล็กน้อยที่เขียนให้ลูก ๆ ของเน็ด สตาร์ก ไม่มีใครเสียชีวิตในวัยเด็ก ซึ่งเป็นไปได้ยากในความเป็นจริงของยุคกลางที่มักจะมีเด็ก ๆ เสียชีวิตตั้งแต่เด็กมาก ๆ

“ผมสร้างตัวละครแบรนขึ้นมาในบทแรก ผมเขียนว่าพวกเขาพบลูกหมาป่ากลางหิมะ ร็อบ จอน ธีออน ทั้งหมดอยู่ด้วยกันกับเขา พวกเขาเป็นเด็กผู้ชายที่ขี่ม้าออกไปกับพ่อ ไปดูคนโดนตัดหัว ข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กผู้ชายได้ออกไปข้างนอกเป็นภาพสะท้อนสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งสังคมยุคกลางมักเป็นอย่างนั้น ผมติดตามประวัติศาสตร์เรื่องนั้นอยู่ แต่ผมก็ต้องการตัวละครเด็กผู้หญิงด้วยเช่นกัน”

จอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ติน บอกอีกว่าเมื่อเขาสร้างวินเทอร์เฟลในบทถัดมา เขาต้องการจัดการกับบทบาทที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมีในสังคมแบบนี้ ดังนั้นเพื่อความคอนทราสต์ จึงสร้างพี่น้องผู้หญิงสองคนที่แตกต่างกันมาก ๆ ซานซ่าคือคนที่รับความเป็นผู้หญิงตามขนบมาทั้งหมด ขณะที่อาร์ยาไม่มีความเป็นผู้หญิงเลยสักอย่าง

“ยุคกลางเป็นยุคที่ผู้ชายเป็นใหญ่มาก โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์อะไรมากนัก พวกเธอถูกใช้เพื่อสร้างพันธมิตรโดยการแต่งงาน แน่นอนว่าผมกำลังพูดถึงผู้หญิงระดับสูง ส่วนผู้หญิงชาวนาชาวไร่ยิ่งมีสิทธิ์น้อยลงไปอีก แต่ผมมุ่งเน้นไปที่ตระกูลผู้สูงศักดิ์ ซึ่งเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้” เขาว่า

จอร์จบอกว่า ในเวลาเดียวกันนั้น ยุคนี้ยังเป็นยุคที่ความโรแมนติกเกิดขึ้นด้วย โดยเริ่มในราชสำนักฝรั่งเศสและเบอร์กันดี แล้วกระจายไปทั่วยุโรป รวมถึงราชสำนักเยอรมนี และยังคงเป็นรากฐานมากมายของสิ่งที่เรายังติดตามกันในปัจจุบัน อย่างเช่นต้นแบบของเจ้าหญิงดิสนีย์ หรือเจ้าหญิงทั้งหมดที่เราคุ้นเคยล้วนเป็นมรดกยุคโรแมนติกที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสในยุคกลาง

ด้วยความตั้งใจของจอร์จที่ “ต้องการจัดการกับบทบาทที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมีในสังคมแบบนี้” เราจึงได้เห็นตัวละครผู้หญิงในครอบครัวสตาร์กทำอะไรหลายอย่างที่สังคมมองว่า “เป็นเรื่องของผู้ชาย” ไล่มาตั้งแต่แม่ที่มีส่วนช่วยลูกชายเจรจาหาพันธมิตรในการรบ อาร์ยาที่จับดาบล้างแค้น รวมถึงซานซ่า ผู้หญิงที่เป็นดุจเจ้าหญิงก็กลายเป็นคนที่มีบทบาทด้านการปกครองและการต่อสู้ในตอนหลัง