“เอหิปัสสิโก” สารคดีสะท้อนปมพระธัมมชโย ส่อแววห้ามฉาย

ส่อแววห้ามฉาย ‘เอหิปัสสิโก’ สะท้อนปมพระธัมมชโย คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เรียกแจง 10 มี.ค.นี้ 

วันที่ 9 มีนาคม 2564 สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เปิดเผยว่า ภาพยนตร์สารคดีเชิงข่าว “เอหิปัสสิโก” (Come and See) ของ ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์จาก ‘2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว’ ซึ่งมีกำหนดเข้าฉายเร็ว ๆ นี้ ทางผู้สร้างได้ส่งภาพยนตร์ไปตรวจพิจารณา ที่สำนักพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางผู้สร้างได้รับแจ้งว่า คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ที่ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่รัฐจากภาคส่วนต่าง ๆ มีบางท่านที่ไม่อยากให้มีการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ จนวันที่ 8 มีนาคม ทางผู้สร้างได้รับแจ้งว่าให้เข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมการในวันพุธที่ 10 มีนาคมนี้

ภาพยนตร์สารคดีเชิงข่าวเรื่อง “เอหิปัสสิโก” ถ่ายทำเหตุการณ์ในปี 2560 เมื่อพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยได้เกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าทำการปิดล้อมวัดเพื่อจับตัวพระธัมมชโยไปดำเนินคดี ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศิษย์ของวัดที่ออกมาต่อต้านการจับกุม และรัฐบาลที่ระบุว่าทำตามกระบวนการยุติธรรม

ภาพยนตร์สารคดีเชิงข่าวเรื่องนี้ พาผู้ชมเข้าไปสำรวจอย่างเป็นกลางถึงมุมมองต่าง ๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านการสัมภาษณ์ฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายต่อต้าน รวมถึงสัมภาษณ์มุมมองของนักวิชาการที่มาตั้งข้อสังเกตต่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงรากฐานความเชื่อ ความศรัทธา และหาคำตอบถึงบทบาทของศาสนาและความเชื่อในสังคมไทย

นับตั้งแต่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 เป็นเวลา 13 ปี แต่ภายใต้ระบบเรตติ้งภาพยนตร์ การเซ็นเซอร์และการแบนภาพยนตร์กลับยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยมา ซึ่งในกรณีที่ภาพยนตร์สารคดีเชิงข่าวเรื่อง “เอหิปัสสิโก” มีแนวโน้มที่จะถูกแบนหรือเซ็นเซอร์นี้ ทางสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจะดำเนินการตรวจสอบและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

หลักเกณฑ์ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

ข้อมูลจากเว็บไซต์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ (iLaw) ได้สรุปไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2556 ถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการแบนหนัง พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

มาตรา 26 ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดด้วยว่าภาพยนตร์ดังกล่าวจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด

  1. ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู
  2. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป
  3. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป
  4. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป
  5. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป
  6. ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู
  7. ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร

ความใน (6) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดูซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสหลักเกณฑ์ในการกำหนดว่าภาพยนตร์ลักษณะใดควรจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 29  ในการพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้

ภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา 25 มิให้ถือว่าภาพยนตร์นั้นมีลักษณะที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง

กฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552

ข้อ 7 ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

  1. เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  2. สาระสำคัญของเรื่องเป็นการเหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนา หรือไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ปูชนียสถาน หรือปูชนียวัตถุ
  3. เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ
  4. เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
  5. สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์
  6. เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ

ตัวอย่างภาพยนต์ที่เคยถูกสั่ง “ห้ามฉาย”

  1. ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ถูกสั่งแบนตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มาตรา 29 ด้วยเหตุผลว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
  2. ภาพยนตร์เรื่อง Shakespeare must die ถูกสั่งแบนตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มาตรา 26(7) ประกอบกฎกระทรวงข้อ (3) ด้วยเหตุผลว่าก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ