
“เวียนหัว-บ้านหมุน” ทำอย่างไร หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จาก รพ.จุฬาฯ ชี้อาจเกิดจากโรค BPPV พร้อมคำแนะนำหลายวิธี ถ้านึกไม่ออกบริหาร “ทำท่าอินเดีย” 3 ท่าช่วยได้
เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีอาการเวียนหัว เวียนศีรษะ บ้านหมุน กันมาบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่เริ่มสูงวัย บางครั้งรู้สึกมึนงง การทรงตัวไม่ค่อยดี บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตามมา
เวลาถามไถ่จากผู้มีประสบการณ์ตรง หรือเคยเป็น และเคยไปรักษามาแล้ว ส่วนใหญ่มักจะบอกว่า “น้ำในหูไม่เท่ากัน”
ขณะที่ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุว่าอาการเวียนหัวอาจเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งความผิดปกติของระบบการทรงตัวในร่างกาย หรืออาจเกิดจากความเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น
สาเหตุของอาการเวียนศีรษะ
1.ความผิดปกติของหูชั้นใน หรือระบบสมองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทรงตัว
2.ความผิดปกติของระบบอื่น ๆ เช่น ระบบไหลเวียนโลหิต หรือสายตา
3.ฤทธิ์ข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด
4.ปัจจัยอื่น ๆ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ เมารถ หรือเมาเรือ
ซึ่งวิธีการตรวจต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและรักษา
ล่าสุดศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha แนะนำวิธีแก้อาการดังกล่าวให้ทุเลาลงไว้น่าสนใจ โดยหมอธีระวัฒน์ จั่วหัวเรื่องไว้ดังนี้
เวียนหัว บ้านหมุน ทำท่าอินเดีย อาจช่วยได้
หมอธีระวัฒน์กล่าวว่า อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน โดยที่ลักษณะเวียนเป็นครั้งละสั้น ๆ ประมาณหนึ่งอึดใจ ไม่เกิน 1 นาที และมักจะมี “ท่าประจำ” โดยที่หันศีรษะหรือตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง
ซึ่งถ้าพลิกกลับมาเป็นท่าตรงหรือด้านตรงข้าม อาการจะทุเลาลง
นอกจากนั้นถ้ากัดฟันทนไม่ตะแคงกลับหรือเปลี่ยนท่า อาการเวียนจะค่อย ๆ หายไปเอง
แต่ถ้าเป็นมาก มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย แต่ไม่มีเสียงดังในหู หรือหูได้ยินน้อยลงหรือหูดับ ถ้าฝืนลืมตาจ้องไปที่วัตถุนิ่ง ๆ สักพัก อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและไม่มีภาพซ้อน
อาการเวียนหมุนเหล่านี้ เกิดจากตะกอนน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือหินปูนหลุด หรือ Benign paroxysmal positional vertigo (BPPV) คือ อาการเวียนบ้านหมุนที่เกิดเป็นชั่วขณะ ขึ้นอยู่กับท่า และไม่อันตราย
การทำให้หายได้เร็ว ๆ ยิ่งขึ้นนั้น ก็คือการเชียร์ ให้มีการเคลื่อนไหวเร็ว ๆ หรือบริหารคือให้นั่งห้อยเท้าอยู่ข้างเตียง และล้มตัวอย่างเร็วไปทางด้านขวา ให้มีหมอนรองไว้ก็ดี (ระวังคอหัก) นิ่งสักพัก
หรือถ้ามีอาการเวียนเกิดขึ้นก็รอสักครู่ จากนั้นลุกขึ้นมานั่งใหม่ และล้มตัวตะแคงไปทางด้านซ้าย ถือเป็น 1 รอบ
ท่าบริหารลักษณะนี้อาจมีหลายท่าตามตำรา แต่อาจจะปฏิบัติที่บ้านยาก
ง่ายกว่าคือบริหาร ท่า อินเดีย สามท่า ด้วยกันคือ
- 1-พยักหน้าเร็ว ๆ
- 2-ส่ายหน้าเร็ว ๆ
- 3-เอียงคอซ้ายขวาเร็ว ๆ
ทั้งหมดนี้ไม่ต้องขยับคอมาก ทำได้บ่อย ๆ ไปประมาณ 1-2 อาทิตย์
โรค BPPV นั้น เกิดจากการที่มีตะกอนหลุดลอกออกมาจากเยื่อในหูชั้นใน และตกตะกอนลงในท่อน้ำ 1 ใน 3 ท่อ ทำให้ “หนัก” ไม่เท่ากัน ดังนั้น การเคลื่อนไหวในท่าต่าง ๆ นี้ จะเป็นการทำให้ตะกอนเหล่านี้ฟุ้งกระจายกลับเข้าไปในกระเปาะหูชั้นใน ซึ่งจะมีการดูดซึมต่อ
โดยปกติแล้วจะไม่ให้ใช้ยามาก เนื่องจากยาบรรเทาอาการเวียน เป็นการบรรเทา และเสมือนหยุดยาไม่ได้ ต้องใช้ต่อเนื่องกันนาน ๆ เป็นเดือน เป็นปี
อาการเวียน-หมุนแต่ละครั้ง สาเหตุอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นโรคในสมอง อาจจะเกี่ยวกับ เป็นเส้นเลือดคู่หลัง (เส้นเลือดในสมองมี 2 คู่ คู่หน้าคู่หลัง) ที่วิ่งเลาะผ่านกระดูกก้านคอเข้าไปในสมอง
โดยที่ถ้าขยับศีรษะหรือหมุนบิดคอ รุนแรง เนิ่นนาน จะทำให้เส้นเลือดตันทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ หรือเกิดจากเส้นเลือดสมองคู่หลังโก่งเข้าไปเบียดเส้นประสาทหูทรงตัว
หรือกระเปาะน้ำในหูชั้นในผิดปกติ กลายเป็น น้ำในหูไม่เท่ากัน ที่ต่อมามีเสียงดังในหู และการได้ยินลดลง
ดังนั้น ทุกครั้งต้องจำลักษณะอาการให้ได้ เนื่องจากขณะที่มาตรวจอาจจับผู้ร้ายไม่ได้เพราะไม่มีอาการแล้ว