หมอธีระวัฒน์ ชี้ งานวิจัยระบุ ชอบกินเนื้อสัตว์เสี่ยงตาย ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ไม่ช่วย

น.พ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

หมอธีระวัฒน์ชี้ งานวิจัยระบุชอบกินเนื้อแดงที่ไม่ได้มีการปรับปรุงหรือแต่งใด ๆ เสี่ยงตาย ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ ก็ไม่ได้ช่วย

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 น.พ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่องพฤติกรรมการชอบบริโภคเนื้อสัตว์ จะมีความเสี่ยงต่อโรคนานาชนิด ทั้งที่โรคเรื้อรัง และโรคมะเร็งบางชนิด โดยเนื้อหาในโพสต์ มีรายละเอียดต่อไปนี้

ชอบกินเนื้อ..ถึงกับเสี่ยงตาย ?

เป็นที่ทราบกันมานานพอสมควรแล้วว่า การกินเนื้อแดงอันประกอบไปด้วยเนื้อวัว หมู เนื้อแกะ เป็นต้น จะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคนานาชนิด ที่เป็นโรคเรื้อรังและอันตราย รวมทั้งการเกิดมะเร็งและการเกิดเป็นเบาหวาน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่จับตามองมากที่สุดจะเป็นเรื่องของความเสี่ยงของการเสียชีวิตโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคของเส้นเลือด ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ สมอง รวมทั้งเส้นเลือดทั่วร่างกาย (cerebrovascular diseases หรือ CVD) โดยรวมความผิดปกติของหัวใจ ทั้งหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ และโรคของเส้นเลือดหัวใจ (coronary heart disease) และโรคเส้นเลือดสมอง (Stroke)

มีข้อมูลที่ขัดแย้งกันในบางประเด็นในเวลาที่ผ่านมาก็คือ ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นมากเฉพาะกับการกินเนื้อแดงที่ผ่านการปรุงแต่ง (processed meat) โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตต่าง ๆ เช่น การรมควัน การหมัก การใช้เกลือ และวิธีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติและยืดอายุของอาหาร ที่รู้จักกันดีคือ ฮอตด็อก ไส้กรอก เบคอน แฮม เนื้อบรรจุกระป๋อง และเนื้อตากแห้ง ในขณะที่เนื้อแดงที่ไม่ปรุงแต่ง ไม่เป็นไร

นอกจากนั้น ความเสี่ยงยังอาจเกิดขึ้นร่วมกับการใช้ชีวิตและพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การออกกำลัง และการกินพืชผักผลไม้กากใยมากหรือน้อยด้วยหรือไม่

และยังจะเกี่ยวข้องกับยีนที่กำหนดพันธุกรรม ที่ทำให้ตัวการที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่เรียกว่า TMAO มีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ TMAO เป็นผลจากการที่จุลินทรีย์ในลำไส้ ทำการเปลี่ยนเนื้อแดงให้กลายเป็นสารอักเสบ และในปัจจุบันมีการพบว่ารหัสพันธุกรรมที่ผันแปร (SNP-single nucleotide polymorphisms) และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับ TMAO มี 10 ตำแหน่งด้วยกัน จากการศึกษา genome-wide association study (GWAS) เป็น genetic risk score ของ TMAO

ผลของการศึกษาที่มาจากการติดตามประชากรขนาดใหญ่ และเป็นเวลานาน จากคณะผู้วิจัยทั้งจากสหรัฐและจีน รายงานในวารสารทางด้านโภชนาการของยุโรป (European Journal of Nutrition) ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2022

พบว่าการกินเนื้อแดงที่ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งใด ๆ มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นของการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคของเส้นเลือดทั้งหมด และโรคเส้นเลือดสมอง และความเสี่ยงดังกล่าวไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ลดลงได้จากการปรับพฤติกรรม และไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ในขณะเดียวกัน การหันมากินเนื้อไก่ สัตว์ปีก อาหารธัญพืช กลับช่วยให้ลดความเสี่ยงการตายอย่างมากมาย

การศึกษานี้ควบรวมประชากร 180,642 คน ในระหว่างปี 2006 ถึง 2010 ที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวเกี่ยวข้องกับเส้นเลือด หรือมะเร็ง และทำการติดตามไปจนกระทั่งถึงปี 2018 โดยมีระยะเวลาโครงการติดตามเฉลี่ยอยู่ที่ 8.6 ปี

ผลของการศึกษามีการเสียชีวิต 3,596 รายด้วยกัน โดย 655 รายตายจากโรคเส้นเลือดและหัวใจทั้งหมด 285 รายจากโรคเฉพาะของเส้นเลือดหัวใจ และ 149 รายจากโรคเส้นเลือดสมอง

เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่กินเนื้อแดงน้อยที่สุด คือน้อยกว่า 1.5 ครั้งต่ออาทิตย์ กับกลุ่มที่กินเนื้อแดงมากที่สุด คือมากกว่าสามครั้งต่ออาทิตย์ จะพบว่ากลุ่มที่กินเนื้อแดงมากนั้น มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการตายด้วยโรคเส้นเลือดทั้งหมด 20% และด้วยโรคเฉพาะของเส้นเลือดหัวใจ 53% และโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดสมอง 101% (P for trend=0.04, 0.007, 0.02 ตามลำดับ)

และเมื่อวิเคราะห์โดย ถ้ามีการลดการกินเนื้อแดง เปลี่ยนเป็นไก่หรือสัตว์ปีก หรือธัญพืชจะมีความเสี่ยงต่อการตายของเส้นเลือด 9 ถึง 16%

การศึกษานี้ยังเน้นย้ำถึงการกินเนื้อแดงที่แม้ไม่ได้มีการปรับหรือปรุงแต่งใด ๆ ก็เสี่ยงตายอยู่ดี และแม้จะพยายามออกกำลัง ไม่สูบบุหรี่ก็ไม่ได้ช่วยให้ความเสี่ยงลดลง

ข้อจำกัดของการศึกษาอยู่ที่ไม่สามารถประเมินว่าถ้ากินอาหารพืช ผัก ผลไม้ ร่วมไปด้วยจะลดความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด

ผลของการศึกษานี้สอดคล้องกับความรู้ที่เราได้รับทราบมาเนิ่นนาน และพิสูจน์ซ้ำในการศึกษาขนาดใหญ่ที่ควบรวมประชากรทุกทวีป ที่มีเศรษฐานะและเชื้อชาติแตกต่างกันมากกว่า 100,000 คน ในปี 2017 แต่เราทำไม่ได้ หรือไม่ได้ตั้งใจที่จะทำ ว่าการกินอาหารหลักเป็นพืช ผัก ผลไม้กากใย โดยอัตราส่วนของผักผลไม้อยู่ที่สองต่อหนึ่ง และโปรตีนส่วนใหญ่นั้นมาจากพืช เช่น ถั่ว และสัตว์น้ำ เช่น ปลา โดยลดหรืองดเนื้อทั้งหมด รวมกระทั่งถึงการลดคาร์โบไฮเดรตก็คือ แป้งทั้งข้าว ข้าวเหนียว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง มันเทศ มันสำปะหลัง

ถึงท้ายสุดนี้คงคล้ายกับที่ได้เคยพูดมาก่อนหน้าและพูดในหมู่เพื่อนฝูงและรุ่นน้อง

มีหลายคนประสานเสียงกันว่า ร้องเพลง My Way กันดีกว่า นั่นก็คือ “กูจะกิน ก็เรื่องของกู”