สถาบันวัคซีนแห่งชาติออกแถลงการณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีลิ่มเลือดสีขาว

วัคซีน

สถาบันวัคซีนแห่งชาติออกแถลงการณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีลิ่มเลือดสีขาว White clot ยืนยันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติไม่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 พร้อมแนะ 3 ช่องทางตรวจสอบข้อเท็จจริงข่าวสารออนไลน์

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกเอกสารชี้แจงเรื่องลิ่มเลือดสีขาว หรือ White clot และวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA

สถาบันวัคซีนฯ ระบุว่า รูปสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะเป็นลิ่มเลือดสีขาวไม่ใช่ความผิดปกติของเลือดที่เกิดจากการฉีดวัคซีน mRNA แต่เป็นเพียงการตกตะกอนของโปรตีนส่วนประกอบของเลือดที่เกิดขึ้นภายหลังการตาย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่พบได้ปกติในผู้เสียชีวิต และพบมาตั้งแต่ก่อนการระบาดหรือมีการใช้วัคซีนโควิด-19

โดยสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดสีขาวนั้น มาจากเมื่อเสียชีวิตระบบหมุนเวียนของเลือดและระบบอื่น ๆ ในร่างกายจะหยุดทำงาน ทำให้เม็ดเลือดแดงจะตกตะกอนตามแรงโน้มถ่วงของโลก แยกชั้นออกจากน้ำเลือด โปรตีนที่ทำหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดจะแข็งตัวขึ้นตามธรรมชาติ ทำให้เกิดเป็นลิ่มโปรตีนสีขาว

สำหรับการพบลิ่มเลือดสีขาวในเลือดของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีโอกาสเป็นไปได้ตามหลักการทางโลหิตวิทยา โดยเมื่อเจาะเลือดออกมานอกร่างกายแต่ไม่เติมสารกันเลือดแข็งตัว และตั้งทิ้งไว้ระยะหนึ่งเลือดจะเริ่มแข็งตัวแยกชั้นออกมาเป็นชั้นลิ่มเลือด และชั้นน้ำเหลือง หากนำเลือดตามเงื่อนไขนี้ที่การแข็งตัวของเลือดยังเกิดขึ้นไม่สมบูรณ์มาปั่นด้วยความเร็วสูงเพื่อแยกส่วนประกอบ จะสามารถพบโปรตีนเส้นใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายกับลิ่มเลือดสีขาวได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวล และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทั่วโลกมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 13,000 ล้านโดส และแต่ละประเทศมีการติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์อย่างเป็นระบบ จนถึงปัจจุบันหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกยังคงแนะนำให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นปีละ 1 ครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของการป่วยรุนแรงจากโรคโควิด-19

สถาบันวัคซีนแห่งชาติขอให้ประชาชนเลือกรับข่าวสารจากแหล่งข้อมูลวิชาการที่เป็นทางการและมีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีช่องทางตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่มีการเผยแพร่ทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ชัวร์ก่อนแชร์ Fact Check Explorer ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านช่องทางเหล่านี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย