อิสราเอลชี้วัคซีนไฟเซอร์กันโควิด 95% หมอยงเตือนไม่ควรเทียบตัวเลข

ประสิทธิภาพไฟเซอร์
REUTERS/ Ronen Zvulun/File Photo

รายงานจากอิสราเอล หนึ่งในหลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนครบแล้วมากที่สุด เผย วัคซีนไฟเซอร์ป้องกันการติดโควิดมากถึง 95% ขณะที่หมอยงเตือนว่าไม่ควรนำตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีนมาเปรียบเทียบกัน พร้อมอธิบาย 4 เหตุผล

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 มติชน รายงานข้อมูลจากเอเอฟพีว่า จากการศึกษาวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์/ไบออนเทค ในสถานการณ์การแพร่ระบาดจริงที่อิสราเอลพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อมากถึง 95.3%

โดย 7 วันหลังจากได้รับวัคซีนโดสที่ 2 วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อมากถึง 95.3% และสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ 96.7% และหลังจากได้รับวัคซีนโดสที่ 2 แล้ว 14 วัน ประสิทธิภาพในการป้องกันจะเพิ่มขึ้นเป็น 96.5% และ 98% ตามลำดับ และช่วงเวลา 7 – 14 วันหลังจากได้รับวัคซีนโดสแรก วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกัน 57.7% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 77% แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันจะลดลงเมื่อได้รับวัคซีนเพียง 1 โดสจากที่กำหนดไว้ 2 โดส

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเผยแพร่สู่สาธารณะเรื่อง ประสิทธิภาพของวัคซีน ระบุว่า ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ พร้อมอธิบายเหตุผล 4 ข้อ ดังนี้

1) ความชุกของโรคในขณะทำการศึกษา ถ้าความชุกของโรคสูง ตัวเลขประสิทธิภาพจะต่ำกว่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวัคซีน Pfizer ขณะทำการทดลองถึงประสิทธิภาพ มีอุบัติการณ์ของโรคในประชากร ต่ำกว่า วัคซีน Johnson and Johnson ในขณะที่ทำการทดลองในอเมริกา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดสูงสุดในอเมริกา จึงมองดูตัวเลขแล้ววัคซีนของ Pfizer จึง มีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนจอห์นสัน เพราะเป็นการนับจำนวนผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงการศึกษา

2) ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ถ้าใช้ประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่า การศึกษาในประชากรกลุ่มเสี่ยงต่ำกว่า เพราะวัคซีนส่วนใหญ่ จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ป้องกันความรุนแรงของโรค เช่น วัคซีน Sinovac ที่ทำการศึกษาที่บราซิล ใช้กลุ่มเสี่ยงสูง คือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ได้ประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับ วัคซีนเดียวกันที่ทำการศึกษาในประชากรทั่วไป ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ในตุรกี ได้ตัวเลขประสิทธิภาพที่สูงกว่า การศึกษาในบราซิล มาก

3) การนับความรุนแรงของโรค ก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่ง วัคซีนของจีน Sinovac ทำการศึกษาในบราซิล ตัวเลขประสิทธิภาพ นับจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมาก เข้าไปด้วย หรือ ระดับความรุนแรงที่เรียกว่า WHO grade 2 คือติดเชื้อมีอาการ แต่ไม่ต้องการการดูแลรักษา (no need medical attention) ซึ่งตรงข้ามกับวัคซีนอีกหลายตัว ไม่มีการกล่าวถึงความรุนแรงของโรคที่ชัดเจน

4) สายพันธุ์ของไวรัส การศึกษาของ Pfizer และ Moderna ทำก่อน Johnson การทำทีหลังจะเจอสายพันธุ์ของไวรัสที่กลายพันธุ์ หลบหลีกวัคซีน ทำให้ภาพรวมของวัคซีนที่ทำก่อนมีประสิทธิภาพดีและไม่ทราบประสิทธิภาพต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ วัคซีนของจอห์นสันเห็นได้ชัดเจน การกลายพันธุ์ของไวรัสมีส่วนที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง การทำการศึกษาคนละเวลา จึงเป็นการยากที่จะมาเปรียบเทียบตัวเลขกัน

ถึงแม้ว่าจะทำในประเทศเดียวกัน เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ในการหลบหลีกประสิทธิภาพของ วัคซีน อยู่แล้ว วัคซีนของอินเดียทำการศึกษาที่หลังสุด และศึกษาในสายพันธุ์อินเดีย ก็ไม่สามารถที่จะไปเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ทำการศึกษาในอเมริกาใด้ ข้อมูลล่าสุดก็เห็นได้ชัดว่าวัคซีน Pfizer และมีประสิทธิภาพลดลง ประมาณ 20% ต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และถ้ามาเจอสายพันธุ์อินเดีย ก็อย่างที่มีข่าวฉีดวัคซีน pfizer มาแล้ว 2 เข็ม ก็มาติดเชื้อในอินเดีย เสียชีวิตในเวลาต่อมา