เปิดธุรกิจสีเทา ร้าน “สติ๊กเกอร์ไลน์” ขายกันถูก-ผิดกฎหมาย อีกมุมที่ลูกค้าไม่รู้…

รายงานโดย กรกนก มาอินทร์ / ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ธุรกิจ(ไม่)เล็ก” ในยุคที่โลกดิจิทัลเติบโตอย่างต่อเนื่อง ช่องทางยอดนิยมอย่างโซเชียลมีเดียได้ผุดธุรกิจหลายด้านออกมาทั้งน้อยใหญ่ เช่น แอปพลิเคชั่นแชทยอดนิยมอย่าง “ไลน์” (LINE) ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศไทยก็ได้ก่อให้เกิดธุรกิจเล็กๆ นั่นคือ “การขายสติ๊กเกอร์ไลน์” ที่มากันเงียบๆแต่ตลาดกลับโตเรื่อยๆ ในหมู่ผู้ซื้อผู้ขาย

ปัจจุบันเพียงเเค่ค้นหาในกูเกิ้ลด้วยคำว่า “ร้านขายสติ๊กเกอร์ไลน์” ผลลัพธ์คือมีจำนวนร้านค้าไม่น้อยที่ประกาศขายสติ๊กเกอร์ผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่การขายผ่านอินสตาเเกรม เฟซบุ๊ก โดยกลุ่มลูกค้ามีความหลากหลายในทุกกลุ่มตั้งเเต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงาน เเละแน่นอนตลาดยังโตในหมู่ผู้สูงวัยที่ต้องการจะส่งข้อความและส่งสติ๊กเกอร์หาเพื่อนฝูง-ลูกหลาน

แต่ท่ามกลางความมุ้งมิ้งของโลกสติ๊กเกอร์ไลน์นั้น ในอีกด้านหนึ่งของโลกธุรกิจซื้อขายสติ๊กเกอร์ กลับมีบางแง่มุมที่ไม่ได้ถูกพูดถึง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ พาไปหาคำตอบของธุรกิจนี้กับ เจ้าของร้านสติ๊กเกอร์ไลน์ที่ขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยคัดเลือกจากร้านที่มียอดติดตามหลักหมื่นขึ้นไป จากการติดต่อไป 10 ร้าน มีเพียง 2 ร้านเท่านั้นที่ยอมเปิดเผยข้อมูลตั้งเเต่เริ่มต้นจนมาเป็นร้านขายสติ๊กเกอร์ไลน์ว่าทำกันอย่างไรบ้าง

เชื่อว่าหลายคนคงเคยสงสัย เเม้จะเป็นธุรกิจราคาขายปลีกหลักสิบ แต่อย่าลืมว่าเมื่อรวมปริมาณผู้ซื้อ ซึ่งคือกลุ่มที่เล่นแอปฯไลน์จำนวนมาก “เงินจากธุรกิจเล็กๆนี้ก็เติบโตงอกงามขึ้นเรื่อยๆ”

เมื่อค้นคำว่า “สติ๊กเกอร์ไลน์” บนอินสตาเเกรมจะเจอร้านขายสติ๊กเกอร์จำนวนมาก

จุดเริ่มต้นของการเป็น “เจ้าของร้านขายสติ๊กเกอร์ไลน์”

นับหนึ่งของธุรกิจนี้ ต้องถามถึงที่มาที่ไป ต้นตอการขายเป็นอย่างไร โดยเราขอเเทนร้านค้าออนไลน์ที่เปิดขายสติ๊กเกอร์ไลน์ 2 ร้านว่า “ร้านแรก” เเละ “ร้านสอง” ที่ยอมเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเจ้าของ “ร้านแรก” ขายตั้งเเต่สติ๊กเกอร์ไปจนถึงธีมไลน์ บอกว่า “ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะทำรายได้เสริมด้านขายสติ๊กเกอร์ แต่เดิมเป็นคนชอบซื้อสติ๊กเกอร์อยู่แล้ว เลยลองเป็น ตัวแทนก่อน พอเริ่มมีทุนในการซื้อเหรียญ ก็หันมาเป็นคนส่งสติ๊กเกอร์ให้ลูกค้าโดยตรงแทน”

ขณะที่ “ร้านสอง” เริ่มเล่าถึงต้นตอธุรกิจนี้ ว่า เตรียมโทรศัพท์แอนดรอยด์กับเงินประมาณ 1,000-2,000 บาทในบัญชี เพื่อใช้ซื้อเหรียญ

จะเห็นว่าร้านเเรกเข้าสู่วงการในฐานะ “ตัวแทนจำหน่าย” สติ๊กเกอร์ไลน์ ซึ่งคำว่าตัวแทนในที่นี้ คือ การซื้อเหรียญหรือเติมเงินกับร้านค้าขายสติ๊กเกอร์ที่ขายมาก่อนหน้า ไม่ได้ซื้อผ่านช่องทางการของไลน์ (ไลน์ ไทยแลนด์ฯ) เมื่อจ่ายเงินซื้อเเล้วได้เหรียญมาในราคาที่ต่ำ ก็สามารถนำเหรียญที่มีจากต้นทุนต่ำ ไปซื้อสติ๊กเกอร์กับช่องทางการของไลน์เพื่อขายต่อให้ลูกค้าได้ รูปแบบนี้ รับรู้กันในหมู่ร้านค้าออนไลน์ที่เปิดขายสติ๊กเกอร์ว่าเป็นการเริ่มต้นธุรกิจเเบบไม่โปร่งใสนัก เพราะเหรียญที่ได้มาเป็นเหรียญไม่ถูกตามกติกา

เหรียญที่ไม่ได้มาจากช่องทางการของไลน์ มาพร้อมกับความไม่รู้ของลูกค้า

เมื่อเตรียมต้นทุนเพื่อซื้อเหรียญ ขั้นต่อไปคือ…….

“ร้านเเรก” เผยว่า “ตอนแรกที่เริ่มหัดส่งหรือขายสติ๊กเกอร์ไลน์ให้ลูกค้า ใช้วิธีซื้อเหรียญกับตัวแทนที่ทำแบบเดียวกันนี้ไปก่อนหน้า โดยราคาเหรียญที่ซื้อตอนนั้นถือว่าโอเคเลยก็ว่าได้ เพราะราคาซื้อไม่สูงเกินไป เติมเหรียญได้มา เราก็ไปซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์มาขายออกไป ก็บวกกำไรได้นิดๆ หน่อยๆ ต่อมามีการพัฒนาไปถึงขั้นมีร้านค้าอื่นๆเสนอขายเหรียญแบบ 1 ไอดีไลน์ (บัญชีไลน์) สามารถซื้อเหมาเหรียญได้สูงสุดถึง 3,300 เหรียญ เราก็เคยลองซื้อแบบนี้มาขาย โดยช่วง 5 เดือนแรกที่ลองถือว่าต้นทุนในการซื้อเหรียญมายังอยู่ราคาปานกลาง ไม่สูงเกินไป บวกลบ การซื้อแบบยกไอดีแลกเหรียญมาเลย ก็พอๆกับที่เคยซื้อเหรียญแบบเติมเงิน”

อย่างไรก็ตาม “ร้านแรก” เล่าเพิ่มเติมว่า หลังทำธุรกิจซื้อขายสติ๊กเกอร์ไลน์จากเหรียญที่ได้มาแบบที่ต้นตอไม่ได้ถูกตามเงื่อนไขของไลน์ ไทยแลนด์ สุดท้ายจึงหันมาทำการซื้อเหรียญแบบถูกต้องตามเงื่อนไขของไลน์ ไทยแลนด์ เพราะเกิดปัญหาในเรื่องของสติ๊กเกอร์ถูกดึงคืน รวมไปถึงราคาเหรียญไม่ต่างกันมาก โดยตัดเงินซื้อเหรียญแบบถูกกฎหมายผ่านทางบัตรเครดิต ซึ่งซื้อกับช่องทางการของไลน์โดยตรงจะสบายใจกว่า

สอดคล้องกับ “ร้านสอง” ซึ่งทางร้านมีวิธีในการซื้อเหรียญอย่างถูกเงื่อนไขตั้งแต่เริ่มธุรกิจ โดยซื้อเหรียญโดยตรงกับทางไลน์หลักเท่านั้น เเล้วหักเงินจากบัตรเครดิตที่ผูกไว้กับ Play Store นั่นเอง

ร้ายขายสติ๊กเกอร์ไลน์เสนอขายเหรียญยกไอดีในรูปแบบข้อความอัตโนมัติ

สำหรับรูปแบบซื้อขายของธุรกิจนี้ คือ ลูกค้าสามารถเข้าไปดูตามหน้าร้านออนไลน์ จะเป็นเฟซบุ๊ค หรืออินสตาแกรมก็แล้วแต่ ทำการเลือกลายสติ๊กเกอร์ เเล้วเเคปหน้าจอลายที่ต้องการ ส่งเข้าไปในไลน์ของร้านค้า ซึ่งบางร้านจะบอกราคาพร้อมบัญชีไว้เรียบร้อย ลูกค้าสามารถรวมยอดเเล้วโอนเงินได้เลย หลังจากนั้นรอให้ทางร้านส่งสติ๊กเกอร์มาให้ในรูปแบบของ “ของขวัญ”

โดยทาง “ร้านเเรก” เผยถึงวิธีการส่งสติ๊กเกอร์ไลน์ ที่เสมือนเป็นสินค้าให้กับลูกค้าว่า เมื่อลูกค้าเข้ามาสั่งซื้อจะส่งสติ๊กเกอร์ในรูปแบบของขวัญให้ลูกค้ากดรับ โดยทางร้านมีเหรียญที่ซื้อไว้แล้ว ซึ่งทางเราก็จะไปซื้อสติ๊กเกอร์จากไลน์หลักเพื่อส่งต่อให้กับลูกค้านั่นเอง

เช่นเดียวกับ “ร้านสอง” ที่บอกว่า ซื้อเหรียญเตรียมไว้เเล้ว หากลูกค้าสั่งเข้ามา ก็สามารถซื้อเเล้วกดส่งต่อไปเช่นกัน

การสั่งซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์/ร้านขายสติ๊กเกอร์ ส่งกลับคืนมาในรูปแบบ “ของขวัญ”

วิธีตรวจต้นตอเหรียญแลกสติ๊กเกอร์ไลน์ จากการดู “เรทราคา”

“เหรียญ” จึงเป็น “ปัจจัย” สำคัญ ในการคิดคำนวณราคาขายนั่นเอง

โดย”ร้านเเรก” อธิบายว่า “เหรียญมีทั้งต้นตอมาแบบถูกและผิด กรณีที่ถูก คือซื้อผ่านไลน์หลักโดยตรง ส่วนเหรียญที่ซื้อเเบบยกไอดีไลน์ ให้คิดได้ว่าอาจไม่ถูกต้อง

โดยอาจใช้วิธีสังเกตตรงช่วงราคาขาย เช่น หากร้านขายสติ๊กเกอร์ตั้งราคาขาย…

ถ้าสติ๊กเกอร์ลายนั้นราคา 50 เหรียญ เรทราคาที่ร้านสติ๊กเกอร์ออนไลน์ตั้งราคาขายจะอยู่ที่ 18 บาท 20 บาท จนถึง 25 บาท (ราคาที่ถ้าซื้อกับไลน์ทางการจะอยู่ที่ราว 30 บาท)

ถ้าสติ๊กเกอร์ลายนั้นรวมถึงธีมไลน์ราคา 100 เหรียญ เรทราคาที่ร้านสติ๊กเกอร์ออนไลน์ตั้งราคาขายจะอยู่ที่ 36 บาท 40 บาท จนถึง 50 บาท (ราคาที่ถ้าซื้อกับทางไลน์ทางการจะอยู่ที่ราว 55-60 บาท)

ถ้าธีมไลน์ราคา 150 เหรียญ เรทราคาจะอยู่ที่ 54 บาท จนถึง 75 บาท (ราคาที่ถ้าซื้อกับไลน์ทางการจะอยู่ที่ 80-90 บาท)

ตัวอย่างเรทราคาที่ทางร้านขายสติ๊กเกอร์ไลน์ตั้งเอาไว้
ตัวอย่างเรทราคาที่ทางร้านขายสติ๊กเกอร์ไลน์ตั้งเอาไว้

สำหรับผู้ซื้อที่อาจอยู่ในวงจรธุรกิจค้าขายเหรียญผิดเงื่อนไข โดยไม่รู้ตัว?

“ร้านเเรก” อธิบายว่า ลูกค้าที่ซื้อสติ๊กเกอร์ไปนั้น ให้สังเกตง่ายๆเลย หากซื้อผ่านช่องทางการของไลน์ จะไม่มีการดึงสติ๊กเกอร์ลูกค้าคืน (สติ๊กเกอร์แท้ 100% จะไม่มีวันหมดอายุ) แต่ก็มีบ้าง ที่ลูกค้าบางคนซื้อแบบถูกกฏหมาย แล้วโดนดึงก็มี เรื่องนี้ทางร้านมองว่า อาจเพราะซื้อสติ๊กเกอร์ในช่วงเวลาเดียวกันมาก เลยผิดพลาดกันได้เป็นเรื่องปกติ

“ถามว่าลูกค้าจะเชื่อใจได้อย่างไรว่าตอนนี้ใช้เหรียญแท้จริงๆแลกสติ๊กเกอร์ ลูกค้าบางคนก็คงไม่มาถามว่าเหรียญที่ทางร้านซื้อมานั้น ซื้อมาจริงๆ เเบบถูกกฎหมายใช่ไหม แต่หากลูกค้าขอดูหลักฐานทางเราก็พร้อมให้ดู เเละสามารถส่งให้ได้ใจแลกใจ มองกลับกันถ้าเราเป็นลูกค้า เราก็อยากซื้อแล้วใช้ได้ตลอดไม่อยากซือแล้ว ซื้ออีก โดนดึงสติ๊กเกอร์กลับคืน”ร้านแรกอธิบาย

พร้อมเล่าต่อว่า…ที่ทางร้านเลือกที่จะมาใช้เหรียญแท้ๆ ตัดเงินจากบัตรเครดิตจริงๆ เพราะตัวเราเองรู้อยู่แล้วว่า ในความเสียหาย ความเสี่ยงภายหลังนั้นเป็นอย่างไร หากเกิดกรณีสติ๊กเกอร์มีปัญหา ต้องโดนลูกค้าด่า เหวี่ยง วีน ถ้าแม่ค้ามีจรรยาบรรณ รักในการขายจริงๆ แคร์ความรู้สึกลูกค้าจริงๆ ก็จะส่งเคลมส่งคืนให้ลูกค้า ยอมที่จะขาดทุน ขายสติ๊กเกอร์ไลน์แต่ละครั้งต่อลูกค้าหนึ่งคน กำไรใช่ว่าจะได้ถึง 10-20 บาท แต่ได้ครั้งละต่อคน 2-3 บาท (หักต้นทุนแล้ว) ถามว่าคุ้มไหมกับการเคลมให้ลูกค้า บอกได้เลยไม่คุ้มเลย กำไร 2 บาท ขายได้ 10 ตัว = 20 บาท

“แต่ลูกค้าโดนดึง ส่งเคลม ตัวนี้ 30 บาท เคลม 10 ตัว 300 บาท !!! คือเเทบอยากปิดร้านหนีเลย ไม่อยากรับผิดชอบ ไม่อยากรับรู้ ไม่คุ้มเลยจริงๆ หน้าที่ก็คือหน้าที่ ความรับผิดชอบต้องมี ถ้าไม่อยากเสียลูกค้าประจำไป”เจ้าของร้านแรกกล่าว

 

ร้านขายสติ๊กเกอร์ไลน์ประกาศช่วงที่ “สติ๊กเกอร์” มีปัญหา

ด้วยธุรกิจขายสติ๊กเกอร์ไลน์มีจำนวน “ผู้เล่น” ในสนามนี้มากขึ้นทุกวัน ส่งผลให้มีการ ลด เเลก เเจก เเถม เพื่อดึงลูกค้า ตัดด้วยราคาสติ๊กเกอร์ไลน์ที่ถูกกว่ากัน แข่งกันแบบปาดหน้าเค้กเพื่อชิงลูกค้า ซึ่งความได้เปรียบของ “ต้นทุน” คือจุดเฉือนของธุรกิจนี้ นั่นทำให้ยังมีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ใช้วิธีซื้อเหรียญผิดเงื่อนไขเพื่อลดต้นทุนนั่นเอง

“ร้านเเรก” เผยว่า ต้นทุนอาจจะมาคนละแบบ บางคนอาจจะซื้อเหรียญแบบเหมายกไอดี หรือซื้อจากร้านรับเติมเหรียญที่ขายราคาส่งให้เรา เพื่อให้เราไปขายปลีกกับลูกค้าต่อไป ถ้าต้นทุนถูกก็จะขายถูกกัน ถ้าต้นทุนมาแพงก็ปรับราคาตามต้นทุน ส่วนของทางร้านขายตามราคา “ไลน์ สโตร์” เพราะต้นทุนมาสูง ไม่สามารถขายราคาถูกได้เหมือนร้านอื่น”

ตามมาด้วย “ร้านสอง” ที่ตอบว่า จะแพงหรือถูกอยู่ที่แต่ละร้านจะบวกกำไร

ซื้อมาขายไป กำไรเท่าไหร่กัน…

ธุรกิจนี้มาในเเบบ “ซื้อเขามา ขายต่อไป” กำไรเป็นสิ่งที่พ่วงมา “ร้านเเรก” บอกว่า “เมื่อทางร้านซื้อสติ๊กเกอร์จากช่องทางการของไลน์ จะถูกหักเหรียญตามจำนวนราคาสติ๊กเกอร์ที่ทางไลน์ตั้งเอาไว้ (สติ๊กเกอร์ 1 ลาย ราคา 50 เหรียญ ก็จ่ายเพียง 50 เหรียญเท่านั้น) ส่วนรายได้ไม่ได้แน่ไม่นอน ขึ้นอยู่กับว่าเดือนนั้นลูกค้าจะเยอะหรือน้อย”

ตรงกับข้อมูลจาก “ร้านสอง” ที่ว่า “ทางบริษัทไลน์หักแต่ค่าเหรียญ ไม่ได้มาเกี่ยวข้องในการหักเปอร์เซ็นใดๆ ส่วนกำไรต่อเดือนอยู่ที่ 5,000-6,500 บาท”

ภาพรวมธุรกิจแต่ละเจ้า ทำให้เห็นว่ารายได้ไม่ได้มาแบบปรู๊ดปร๊าดทีเดียว เเต่มาเรื่อยๆ โดยกลุ่มผู้บริโภค (ลูกค้า) ในธุรกิจนี้ยังไม่แน่ไม่นอน

สำหรับ “ร้านเเรก” บอกว่า ร้านขายสติ๊กเกอร์บางร้านขายตัดราคาเพื่อให้มีลูกค้าเยอะๆ อีกอย่างขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วยว่าจะเลือกใช้บริการแบบไหน ใครจะอำนวยความสะดวกให้ได้มากกว่ากัน แม่ค้าเป็นกันเองกับลูกค้าขนาดไหน

ด้าน “ร้านสอง” นั้น ประเด็นรายได้ เจ้าของร้านบอกมาเพียงว่า “ไม่ได้คำนวณ”

น้ำขึ้นช่วงไหน ถึงต้องรีบตัก

ทุกธุรกิจมีช่วงเวลาทองของตัวเอง เช่นเดียวกับธุรกิจนี้ที่สติ๊กเกอร์ไลน์ตัวฮอตที่ได้รับความนิยมมักจะเป็นสติ๊กเกอร์ที่มีคาแรคเตอร์กวนๆ และแน่นอนจะมีการจัดโปรโมชั่นลดราคา หรือปล่อยลายตัวที่ลูกค้าสนใจติดตามมาตลอด เช่น สติ๊กเกอร์ของน้องเปาเป่า, สติ๊กเกอร์ชุดนายต้นไม้, สติ๊กเกอร์ของหน้ากากนักร้อง เป็นต้น

สติ๊กเกอร์ดารายอดนิยม
สติ๊กเกอร์กวนๆ ที่ได้รับความนิยม

วงการนี้อยู่ยากไหม? รู้มวยคู่เเข่งกันเเค่ไหน

ทุกวงการย่อมมีคู่เเข่ง ไม่เว้นเเต่ธุรกิจเล็กๆ อย่างสติ๊กเกอร์ไลน์ “ร้านเเรก” เปิดเผยถึงคู่เเข่งว่า “ต้องเยอะแน่นอน เพราะบางร้านเริ่มจากการเป็นตัวแทนของร้านใหญ่ที่ขายอยู่ก่อนเเล้ว เมื่อมีลูกค้าเข้ามาสั่งซื้อก็ส่งออเดอร์ต่อให้ร้านใหญ่เป็นคนส่งสติ๊กเกอร์ให้ลูกค้า ลูกค้าเองไม่ได้เเย่งกัน เพราะการเลือกซื้อขึ้นอยู่กับตัวลูกค้า บางคนมีร้านที่ซื้อประจำอยู่เเล้ว สำหรับร้านเรานั้นบางวันไม่มีลูกค้าเลย เเต่ไม่ได้เครียดอะไรเพราะทำเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น”

ด้าน “ร้านสอง” นอกจากจะบอกว่า “คู่แข่งเยอะพอสมควร” ยังเผยเคล็ดดึงลูกค้าทิ้งท้าย “จะทำให้ลูกค้าสนใจ ต้องหมั่นลงรูป อัพเดตลายให้ลูกค้าดู พูดจาดีๆ

ฟังอีกมุมจากผู้ถือสิทธิ์สติ๊กเกอร์ไลน์ตัวจริง เสียงจริง “ไลน์ ไทยเเลนด์”

ถึงตรงนี้หลายคนคงพอเข้าใจกับการเป็นเถ้าเเก่น้อยในธุรกิจสติ๊กเกอร์ไลน์ อย่างไรก็ตาม “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” สอบถามเพิ่มเติมไปยัง “นายกณพ ศุภมานพ” หัวหน้ากลุ่มธุรกิจ B2C บริษัท LINE ประเทศไทย ซึ่งระบุว่า จริงๆแล้ว ไลน์ไม่มีร้านค้าของบุคคลทั่วไปสำหรับการจำหน่ายสติกเกอร์หรือไอเท็มต่างๆ นอกเหนือไปจาก สองช่องทางที่เป็น ร้านค้าทางการของไลน์ คือ 1. การซื้อจากร้านค้าสติ๊กเกอร์ในแอปพลิเคชั่น ไลน์ เเละ 2. ไลน์ สโตร์ www.store.line.me

“โดยการที่ซื้อผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ เป็นการซื้อเหรียญเพื่อนำเหรียญมาแลกซื้อสติ๊กเกอร์ หรือส่งสติ๊กเกอร์เป็นของขวัญให้กับผู้อื่นได้ โดยยิ่งซื้อเหรียญจำนวนมากจะได้เหรียญฟรีเพิ่ม เรียกว่า Bonus coins ราคาเหรียญที่ถูกที่สุดสามารถซื้อได้คือการซื้อเหรียญ 3,300 เหรียญ (รวมเหรียญโบนัส 900 เหรียญ)

ซึ่งราคาในแอปฯปัจจุบันอยู่ที่ 1,650 บาท (เมื่อบวกลบต้นทุนเเล้ว) จึงสามารถซื้อสติกเกอร์ราคา 50 เหรียญในราคา 25 บาท และ 100 เหรียญในราคา 50 บาท ดังนั้นจึงมีผู้ใช้งานไลน์บางคน ให้บริการซื้อสติ๊กเกอร์แล้วส่งเป็นของขวัญให้ผู้ซื้อที่ไม่สะดวกซื้อด้วยตนเอง โดยใช้ส่วนต่างของ Bonus coins ดังกล่าว ซึ่งกลุ่มผู้จำหน่ายสติกเกอร์ลักษณะนี้ถูกเรียกโดยผู้ใช้งานว่า…ร้านค้า”

จำนวนเหรียญพร้อมราคา *(+…) คือ Bonus coins ที่ได้รับเพิ่ม

ช่องโหว่ธุรกิจ…ที่ไม่เข้าตามตรอก ไม่ออกตามประตู

หัวหน้ากลุ่มธุรกิจ B2C อธิบายว่า การเข้าถึงสติ๊กเกอร์รวมไปถึงการติดต่อซื้อเหรียญจากทางไลน์ไม่มีข้อจำกัด ทุกคนสามารถเข้าถึงเเละซื้อเหรียญจากบริษัทได้ในราคาที่เท่ากันทุกคน แต่ร้านค้าที่มีเจตนาจะให้ใช้ช่องโหว่ต่างๆ จะมีการขายในราคาต่ำกว่าราคาปกติ ที่จำหน่ายทางช่องทางของไลน์เอง เมื่อระบบตรวจพบว่าเหรียญที่ใช้ซื้อสติกเกอร์ผิดเงื่อนไขของ Play Store และ LINE ระบบจะทำการระงับการใช้งานสติ๊กเกอร์ชุดนั้นจากบัญชีการใช้งานโดยอัตโนมัติ หากมีการส่งเป็นของขวัญให้บุคคลอื่น ก็จะระงับการใช้งานจากบัญชีของบุคคลนั้นด้วย โดยขึ้นว่าเป็นสติกเกอร์หมดอายุ หรือที่เรียกว่าสติกเกอร์ถูกถอดออก

ส่วนกรณีบุคคลที่ซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์ไปแล้วเกิดถูกระงับ หรือสติ๊กเกอร์หมดอายุแบบไม่มีสาเหตุนั้น นายกณพ กล่าวว่า สาเหตุทั้งหมดเกิดจากการที่ผู้ซื้อไม่ได้ซื้อผ่านช่องทางจำหน่ายที่เป็นทางการของไลน์ โดยซื้อผ่านบุคคลทั่วไปแล้วได้รับเป็นของขวัญ และผู้ที่เป็นคนจำหน่ายเป็นคนที่กระทำผิดกฎการซื้อสินค้าจาก Play Store จึงทำให้สติ๊กเกอร์ที่ซื้อไปโดยได้รับเป็นของขวัญมาถูกระงับการใช้งาน โดยผู้ซื้อไม่รู้เรื่องนี้และได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ ทางไลน์ ประเทศไทย ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยอดการซื้อจากบุคคลที่ทำตัวเป็นร้านค้ามีสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อผ่าน 2 ช่องทางที่เป็นทางการของไลน์อยู่แล้ว เพราะสะดวก ปลอดภัย และทางไลน์สนับสนุนให้ผู้ใช้งานซื้อผ่านช่องทางที่เป็นทางการของไลน์โดยตรงเท่านั้น

โดยมีการเพิ่มเติมช่องทางการชำระเงินให้ครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ใช้งานอีกจำนวนหนึ่งที่ยังซื้อสติกเกอร์ผ่านบุคคลอื่น เนื่องจากยังซื้อผ่านแอพหรือ LINE Store ไม่เป็น ซึ่งทางไลน์มองว่ากลุ่มผู้จำหน่ายที่ซื้อเหรียญอย่างถูกต้องเป็นผู้สนับสนุนทางธุรกิจที่ดีของไลน์ และจะมีมาตรการเพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อป้องกันความเสียหายให้ทั้งผู้ซื้อ ผู้ผลิตผลงานสติกเกอร์ รวมถึงไลน์

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงทิศทางการเติบโตของธุรกิจสติ๊กเกอร์ไลน์สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ได้รับคำอธิบายว่า ยอดขายของสติ๊กเกอร์ไลน์อาจไม่ได้สะท้อนภาพของเศรษฐกิจนัก เนื่องจากสติกเกอร์ไลน์ มีราคาไม่สูง ผู้ซื้อมีแนวโน้มซื้อใช้งานต่อเนื่อง เนื่องจากมีคอนเทนต์ใหม่ๆที่ตอบโจทย์การสื่อสารและความชอบของแต่ละคนออกมาเสมอ ประกอบกับจำนวนผู้ใช้งานไลน์ที่มากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของช่องทางการซื้อและชำระเงินผ่านพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ จึงทำให้ยอดขายสติกเกอร์ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันความนิยมในการใช้แอปพลิเคชั่นแชทไลน์ที่แพร่หลายทั่วประเทศ แม้ทางไลน์ ประเทศไทย จะเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบมากขึ้น แต่กลุ่ม “ผู้จำหน่ายสติ๊กเกอร์ไลน์” บางส่วน ยังหาช่องโหว่ โหนกระเเสไปกับตลาดได้ในยุคที่ผู้คนชื่นชอบส่งสติ๊กเกอร์กันทั้งวัน ทั้งคืน

 แต่ให้ดีในแง่ผู้บริโภคอย่างเรา ควรเลือกใช้บริการกับร้านค้าที่น่าเชื่อถือ และซื้อเหรียญอย่างถูกเงื่อนไขถูกกติกากับช่องทางหลักของไลน์จะดีที่สุด