ลงพื้นที่จริง ฟังเสียงชาวบ้าน คิดอย่างไร เมื่อ”หอชมเมือง”4.6พันล้านจะมาตั้งอยู่ข้างบ้าน!

รายงานโดย ศิริลักษณ์ หาพันธ์นา
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์

www.prachachat.net

เเลนด์มาร์คใหม่อลังการงานสร้างกำลังจะผงาดขึ้นริมเเม่น้ำเจ้าพระยากับ”หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร”
ที่คาดว่าจะเเล้วเสร็จใน 3 ปีนี้ ท่ามกลางกระเเสข้อถกเถียงเรื่องความโปร่งใส เอื้อประโยชน์เอกชน
งบประมาณเเละการไม่ประมูล

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตาม คือตั้งข้อสังเกตว่าการก่อสร้างดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนใกล้เคียง

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ลงพื้นที่จริง สำรวจบริเวณจุดสร้าง “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” บนที่ดินราชพัสดุเลขทะเบียนที่ กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เเบบทุกซอกทุกมุม พร้อมนั่งพูดคุยกับชาวบ้าน “ชุมชนมุสลิมสุวรรณภูมิ”

เสียงเล็กเสียงน้อยของประชาชนคนรากหญ้าที่อยู่อาศัยหลังคาชิดติดกันกับที่ดินเเห่งนี้มานานกว่า40ปีหลายชั่วอายุคนนั้นเป็นอย่างไรเเละอนาคตพวกเขาจะเปลี่ยนไปเเค่ไหนเมื่อหอชมเมืองขนาดใหญ่สูงกว่า459เมตรมูลค่า4.6 พันล้าน มาตั้งตระหง่านอยู่ข้างบ้าน ?

สะท้อนเสียงชาวบ้าน จับเข่าคุยกลุ่ม “เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย”

เราตามหาแหล่งที่จะก่อสร้าง “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” แห่งนี้ โดยเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส
ลงที่สถานี “กรุงธนบุรี” เเละต่อรถด้วยวินมอเตอร์ไซค์ในราคา 20 บาท ไม่กี่นาทีก็ถึงหน้าปากซอยเจริญนคร 7
โดยมีป้ายชุมชน “มัสยิดสุวรรณภูมิ” เป็นสัญลักษณ์

เดินตรงเข้าไปราว 100 เมตร ผ่านบ้านเรือนประชาชน อาคารพาณิชย์ความสูง 4 ชั้นเเละหอพักจำนวนหนึ่ง ร้านค้ารายทาง ชุมชนนี้คึกคักไม่เบา ผู้คนสัญจรเดินสัญจรตลอดเวลา

ทางเข้าชุมชนค่อนข้างเดินทางลำบาก รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ต้องเดินเท้าหรือขี่มอเตอร์ไซค์ เนื่องจากมีความเเออัดเเละคับเเคบ อีกทั้งยังชวน “หลงทาง” ไม่น้อย

เนื่องจากหากเดินตรงไปตามเเผนที่ก็จะเจอคำว่า “ทางตัน” เราอาจคิดว่าไปต่อไม่ได้เเล้ว จึงคิดจะเลี้ยวขวา…เเต่ทว่าไม่ใช่ เราต้องเดินตรงไปทางป้ายทางตันนั่นเเล เเละเดินเลี้ยวซ้ายอีกนิด ก็จะเจอกับที่ดินร้างแห่งนี้

เราจะพบพื้นที่สีเขียวหญ้าขึ้นรกชัด เเต่ก็ยังมีทางเดินที่สะดวกอยู่บ้าง ด้านข้างเด่นชัดโดยติดกับโครงการก่อสร้างโครงการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของเอกชนที่มีชื่อว่า “ไอคอนสยาม” ถูกกั้นด้วยลำรางสาธารณะ ประตูระบายน้ำวัดทองเพลง ด้านการสัญจรทางน้ำ ที่ดินเเห่งนี้อยู่ใกล้กับท่าเรือคลองสาน โดยริมฝั่งน้ำเรือหางยาวและเรือให้บริการต่างๆ มาจอดพักอยู่จำนวนหลายลำ


ทั้งนี้ โครงการไอคอนสยามเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยความร่วมมือของสยามพิวรรธน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (ในเครือเจริญโภคภัณฑ์)

โดยคุณป้า “สมสุข สมทรง” ประธานชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ เล่าให้ฟังว่าปัจจุบันชุมชนมีประชากรกว่า 300 คน 63 ครัวเรือนเป็นชาวมุสลิมประมาณ 90% ส่วนอีกราว  10 % เป็นชาวพุทธ โดยชุมชนเเห่งนี้มีประวัติความเป็นมากว่าศตวรรษ เริ่มต้นจากชาวมุสลิมจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดตราด อพยพมาอยู่ที่นี่จากนั้นจึงค่อยมีคนไทยเเละคนไทยเชื้อสายจีนทยอยเข้ามาอยู่อาศัย

ทั้งนี้ ชุมชนได้มีการคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน 7 คนเพื่อการปรึกษาหารือ ตัดสินใจในประเด็นต่างๆ
และมีมัสยิดเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน

สำหรับประเด็นการสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ทางชุมชนได้ร่วมประชาคมเเสดงความคิดเห็นกันมานานเเล้ว โดยพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่กว่า 80% เห็นด้วย ขณะที่ชาวบ้านที่เหลืออีก 20 % ไม่เห็นด้วย

สำหรับกลุ่มที่ “เห็นด้วย” จะเห็นเหตุผลว่าจะทำให้ชุมชนได้รับการพัฒนา อยากเปิดเป็นเเหล่งท่องเที่ยว เพิ่มรายได้เเละปรับภูมิทัศน์ชุมชน โดยป้าสมทรงเห็นว่าจะไม่มีการไล่ที่เเน่นอน เนื่องจากชาวบ้านมีโฉนดถูกต้อง

ด้าน “พี่จุ๋ม” เเม่ค้าขายมัสมั่นไก่ในซอยเจริญนคร 7 มากว่า 30 ปี กล่าวว่ารู้สึกปลื้มใจที่จะมีหอชมเมืองเกิดขึ้นที่นี่
อีกทั้งมีการเทิดพระเกียรติในหลวง ร.9 ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย

โดยมองภาพรวมว่าจะเป็นการยกระดับชีวิตชุมชน กระตุ้นการค้าขายเเละสามารถหารายได้จากหน้าบ้านตนเอง
โดยไม่ต้องเดินทางไปไหน ทั้งนี้ ทางไอคอนสยาม โครงการที่ก่อสร้างก่อนหน้าก็ได้เข้ามาพูดคุยและคอยดูแลปัญหาอยู่เสมอ เช่น พื้นดินในชุมชนทรุดก็มีการซ่อมแซมให้ด้วย


อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง ในส่วนของชาวบ้านที่ไม่มีโฉนดเป็นของตนเอง เเต่เช่าอยู่เป็นเวลานาน หากเอกชนเจ้าของที่ดินตัดสินใจขายในอนาคตด้วยความเป็นพื้นที่เจริญนั้นจะเป็นอย่างไร

ประธานชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิตอบว่า มูลนิธิฯบอกจะพัฒนาที่เเห่งนี้ให้ เเต่ก็ยังไม่มีความมั่นใจในจุดนี้
เนื่องจากยังไม่มีมาตรการชัดเจนเเละตนก็ยังไม่ทราบรายละเอียด จึงอยากให้ทางมูลนิธิหอชมเมืองฯ
เเละหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ช่วยดูเเลเรื่องนี้ หากมีการเซ็นสัญญาคำมั่นกันเป็นลายลักษณ์อักษรจะเป็นการดีมาก

จากนั้นผู้สื่อข่าว เดินตามหา “กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย” ที่ระบุไว้ว่ามีราว 20% พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีบ้านติดกับที่ดินราชพัสดุดังกล่าวในรัศมี ไม่เกิน 50 เมตร เเละเป็น “ชาวพุทธ” ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยของชุมชน
โดยพวกเขาจ่ายค่าเช่าบ้านให้เเก่บริษัทเอกชนผู้เป็นเจ้าของโฉนดในอัตราเดือนละ 300 บาท เเละเช่าอยู่มาเป็นเวลานานเเล้วกว่า 40 ปี

เเม้อยากให้มีการพัฒนา เเต่ก็มีความหวาดหวั่นว่าในอนาคตครอบครัวของพวกเขาจะถูกไล่ออก
เนื่องจากสภาพบ้านที่อยู่นั้นเเออัดเเละทรุดโทรม ไม่เหมาะเเก่การอยู่ใกล้หอชมเมืองที่มีความสวยงามอลังการ

“กินไม่ได้นอนไม่หลับเลย ตอนเเรกรู้ว่าจะสร้าง เเต่ไม่คิดว่าจะสูงใหญ่ขนาดนี้ เพิ่งเห็นจากข่าวในทีวี เราอยู่ที่นี่มานานเเล้วตั้งเเต่รุ่นพ่อรุ่นเเม่ กลัวว่าจะโดนไล่ออก เพราะที่เราอยู่นี่คือสลัม เราเองก็ไม่อยากจะให้นักท่องเที่ยวเห็นด้านที่ไม่พัฒนาหรอก เเต่ก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน กลัวว่าในอนาคตจะถูกไล่ที่ อยากให้รัฐช่วยเหลือด้วย “ ป้าอ้วน ประชาชนผู้อยู่อาศัยติดกับที่ดินดังกล่าวระบุ


ด้าน “พี่สุ” ผู้อาศัยอยู่ละเเวกเดียวกัน เสริมว่า “ขอให้รัฐบาลมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพ เเละผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีมาตรการเยียวยาดูเเล เเละให้ความชัดเจนในตอนนี้ไม่กังวลมาก เเต่อนาคตน่ากลัว ส่วนของเราเป็นคนกลุ่มน้อยของชุมชน เขาโหวตกันเราก็ยอมรับเเต่ก็อยากให้ฟังเสียงเราด้วย”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากอนาคตมีการเสนอที่อยู่แห่งใหม่ให้หรือให้เงินชดเชย ทางชาวบ้านจะยินยอมหรือไม่
พวกเขาตอบทำนองเดียวกันว่า “ถึงตอนนั้นก็ต้องดูก่อน เราอยู่ที่นี่มานาน หามาหากินกันเเถวนี้ เเต่ถึงตอนนั้นก็ต้องคิดทบทวนให้ดี”


โครงการเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ทันที เอกชนจ่ายค่าชดเชยให้ตำรวจน้ำ 50-60
ล้าน

สำหรับที่ดินผืนดังกล่าว ตั้งอยู่ในเขตคลองสาน ในซอยเจริญนคร 7 มีขนาด 4 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา
ราคาประเมินที่ 198 ล้านบาท เดิมทีเป็นที่ตั้งของกองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจน้ำ ปัจจุบันย้ายไปอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการจึงไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานานแล้ว

ซึ่งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เพื่อก่อสร้าง “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” มูลค่า 4,621 ล้านบาท โดยงบจากเอกชน และให้สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้โดยไม่ใช้วิธีประมูลตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

โดยกรมธนารักษ์ระบุเหตุผลที่ไม่เปิดประมูลว่า“โครงการนี้มีลักษณะเชิงสังคมไม่ใช่เชิงพาณิชย์เเละเป็นการดำเนินงานเเบบประชารัฐ”


ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ที่ดินเเห่งนี้ถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน เป็นที่ราชพัสดุทั่วไปที่รัฐบาลและเอกชนสามารถขอซื้อ หรือเช่าได้ โดยราคาปกติเมื่อเอกชนเจ้าใดก็ตามจะเช่าเพื่อการพาณิชย์ที่ดินเเห่งนี้ถูกประเมินไว้ที่ราคา 4 เเสนบาทต่อเดือนตามอัตรา 40% ของราคาประเมินที่ดิน และจะเพิ่มขึ้น 15% ในทุกๆ 5 ปี

“ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาริม 2 ฝั่งเจ้าพระยา และมีเอกชนรวมกลุ่มเสนอโครงการ
โดยวันที่เซ็นสัญญาและเริ่มดำเนินโครงการจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ ไม่ต้องรอครบ 30 ปี
เเละเอกชนจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตำรวจน้ำอีกราว 50-60 ล้านบาท”
อธิบดีกรมธนารักษ์ระบุ

อย่างไรก็ตามเมื่อสภาพที่ดินเเละสิ่งเเวดล้อมไม่เอื้ออำนวยเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า
“การบริหารจัดการพื้นที่” ใกล้เคียงจะเป็นอย่างไร ทั้งด้านการสัญจรเข้า-ออก
เเละจะกระทบความเป็นอยู่ของชาวบ้านถึงขั้นต้องถูกไล่ที่ในอนาคตหรือไม่
หากความศิวิไลซ์ระดับประเทศมารวมตัวกันที่นี่

คาดสร้างเสร็จใน 3 ปี ปั่นเงินสะพัด 4.6 หมื่นล้านใน 30 ปี หวังดูดนักท่องเที่ยว 4,000
คนต่อวัน

อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุว่า โครงการสร้างหอชมเมืองเเห่งนี้คาดว่าจะเเล้วเสร็จในช่วง 3 ปี รัฐจะได้รับผลประโยชน์จากสะพัดตลอดระยะเวลา 30 ปี ราว 46,857 ล้านบาทในภาพรวมของเศรษฐกิจที่จะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเเละกระตุ้นการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วยอีกทั้งยังสามารถส่งเสริมทัศนียภาพริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นเเลนมาร์กใหม่เมืองไทยพร้อม ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาติไทยเเละพระมหากษัตริย์

เเละหากดำเนินการโครงการนี้แล้วเสร็จจะสามารถเปิดรับผู้เข้าชมวันละ4,000คนเเบ่งเป็นรอบละ400คนเปิดวันละ10รอบโดยคาดว่าจะมีผู้มาเยือนทั้งสิ้น 1.1-1.4 ล้านคนต่อปี



เบื้องต้นประมาณการราคาตั๋วที่เข้าชมคนละ 750 บาทต่อคน ส่วนคนไทยลด 50%  หรือคนละ 375 บาท สำหรับการเดินทางจะเน้นการทางเรือ ส่วนทางบกในอนาคตทางมูลนิธิหอชมเมืองฯ อาจจะมีการเจรจากับทาง “ไอคอนสยาม” ที่ตั้งอยู่ติดกันเพื่ออำนวยความสะดวกด้านที่จอดรถ เป็นต้น

ด้านเทคโนโลยีและความรู้ขั้นสูงทั้งทางด้านการออกแบบ วิศวกรรมและการบริหารจัดการที่ล้ำสมัย
ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการก่อสร้างอาคารสูงด้วยหลักการ Zero Discharge และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น
จะเปิดให้นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมเรียนรู้ในขั้นตอนการก่อสร้าง
เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา

ทั้งนี้  มูลค่าโครงการกว่า 4,621 ล้านบาทเศษ จะแบ่งเป็น ค่าการลงทุนก่อสร้าง 4,422 ล้านบาท และเป็นค่าที่ราชพัสดุ 198 ล้านบาทเศษ  ซึ่งรัฐบาลระบุว่า แหล่งเงินทุนโครงการมาจากเงินทุนของมูลนิธิหอชมเมืองฯ
จะเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินราว 2,500 ล้านบาทและเงินบริจาคจากภาคเอกชนราว 2,100 ล้านบาท
โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จะนำไปบริจาคให้องค์กรสาธารณะกุศลต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิหอชมเมืองฯ

-เเบบจำลอง

สำหรับ “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ตั้งเเต่ปี 2557 เป็นการรวมตัวของกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่กำลังสร้างโครงการ “ไอคอนสยาม” (Icon Siam) ที่มีที่ดินอยู่ใกล้เคียงกัน
อันประกอบด้วย 1.เครือเจริญโภคภัณฑ์ 2.บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ 3.บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้
ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ปัจจุบันประธานกรรมการมูลนิธิดังกล่าวคือ  “นายพนัส สิมะเสถียร” กรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาโครงการไอคอนสยาม ที่อยู่ใกล้ที่ดินแปลงนี้

โดยทางมูลนิธิฯ ระบุว่าร่วมมือองค์กรและสถาบันเอกชนกว่า 50 องค์กร ผลักดันโครงการแสงแห่งความภาคภูมิ
จะจัดแสดงในภูมิสถานแห่งความดีที่ทุกภาคส่วนร่วมแสดงพลังสร้างสรรค์ในรูปแบบสถาปัตยกรรมหอชมเมืองที่มีความสูง459เมตรซึ่งรวมกันเป็นเลข”9″หมายถึงความเจริญก้าวหน้าผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตั้งแต่เดือนกรกฎาคม2559

“แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากการจุดเทียนชัยถวายพระพรเป็นภาพลักษณ์ประดุจเทียนชัยแห่งสยามอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการร่วมแรงร่วมใจของคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน” 

“หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร”กำลังจะกลายเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในประเทศไทยเเละหากสำเร็จจะเป็นหอคอยที่สูงอันดับ6ของโลก (คลิกอ่าน เปิด 10 อันดับหอคอยสูงที่สุดในโลก “หอชมเมืองกรุงเทพ” สูงเเค่ไหน เมื่อเทียบกับนานาชาติ? )

มหาโปรเจ็กต์ที่จะเชิดหน้าชูตาเมืองไทยแห่งนี้ จะเดินหน้าไปเช่นไร
ต้องจับตา…(อย่ากระพริบ) !

คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลากกระเเส “หอชมเมืองกรุงเทพ”
4.6พันล.เเจงวุ่นปมไม่ประมูล เทียบนานาชาติ โดดเด่นเเค่ไหน?

ครม.เคาะสร้าง “หอชมเมืองกรุงเทพ”
มูลค่า 4.6 พันล้าน บนที่ราชพัสดุ-คัดเลือกเอกชน ไม่ใช้วิธีประมูล

3ปีเสร็จ!
ธนารักษ์เดินหน้า”หอชมเมืองกรุงเทพ” ดึงนทท.4พันคน/วัน ชาวบ้านหวั่นไล่ที่ในอนาคต

คำอธิบาย 3 ข้อว่า
“หอชมเมืองกรุงเทพ”
ทำไมไม่ใช้งบแผ่นดิน-ทำไมไม่ต้องเปิดประมูล