หนังตะลุงไม่มีวันตาย คุยกับ”วาที ทรัพย์สิน” ทายาทหนังตะลุงดังเมืองคอน ศิลปะที่ต้องสืบสาน

โดย ศิริลักษณ์ หาพันธ์นา
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.prachachat.net

เมื่อกล่าวถึงการแสดงพื้นบ้านที่สะท้อนให้เห็นแก่นแท้ของวัฒนธรรมท้องถิ่นในทุกมิติ “หนังตะลุง” นับเป็นสุดยอดศิลปะทางปัญญาที่อยู่คู่ชาวปักษ์ใต้ สืบทอดรุ่นต่อรุ่นมายาวนาน

ด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตผู้คน สิ่งสร้างความบันเทิงของเราเปลี่ยนไปและเข้าถึงได้ง่ายกว่า ทำให้การที่จะได้ชมหนังตะลุงสักครั้งนั้นกลายเป็นเรื่องยาก…ยิ่งกว่ายาก แถมยังมีราคาแพง สิ่งเหล่านี้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของคนรุ่นใหม่ว่าจะสามารถอนุรักษ์ “หนังตะลุง” ให้คงไว้ได้อย่างไร

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” พูดคุยกับ “วาที ทรัพย์สิน” ทายาทแห่ง บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงแห่งแรกของไทย แหล่งมรดกทางศิลปวัฒณธรรม ต้นแบบ “หนังตะลุงเมืองคอน” แห่งนครศรีธรรมราช

เขาเติบโตมาในบ้านของนายหนังตะลุงระดับตำนานของเมืองนครฯ เป็นลูกชายคนโตของ “สุชาติ ทรัพย์สิน” ผู้ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ปี 2549 หลังถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องหนังตะลุงให้ลูกศิษย์มามากมายนับไม่ถ้วน

“ยุคนั้นพ่อเขาแกะหนังตะลุงคนเดียว แต่ความต้องการซื้อรูปหนังมีมาก แม่ก็มาช่วยในการระบายสี เป็นจุดเริ่มต้นสอนให้ลูกทุกคนช่วยงานครอบครัว เรียนรู้เรื่องหนังตะลุง และก็มีการรวบรวมช่างที่เป็นศิษย์ของพ่อมาช่วย งานหนังตะลุงจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมชุมชนในขณะนั้น”

กลิ่นเส้นหนังวัว เสียงเครื่องมือแกะหนังจากผลงานอันเลื่องชื่อของนายหนังสุชาติ เป็นเหมือนเสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ดำรงอยู่สืบไป วาทีเล่าย้อนถึงแรงบันดาลใจของพ่อที่ได้รับจากพระกระแสรับสั่งของในหลวง ร.9 ที่ทรงขอบใจที่รักษาศิลปะการแกะหนังตะลุงไว้ เมื่อครั้งพวกเขาได้แสดงหนังตะลุงถวายในปี 2527  “ขอบใจที่รักษาของเก่าไว้ แล้วก็ขออย่าหวงวิชา จงช่วยเผยแพร่ต่อไป”

หลังจากพ่อได้รับพระราชดำรัสดังกล่าว กลับมาถึงบ้านความคิดของพ่อก็เปลี่ยนไป จากแต่ก่อนนายหนังสุชาติ จะมีเงื่อนไขในการรับศิษย์ โดยผู้จะมาเรียนนั้นจะต้อง “มีแวว” เช่นต้องขับกลอนให้ฟังก่อนว่าเสียงดีหรือไม่ หรือคนที่อยากแกะรูปหนังก็ต้องลองวาดตัวไอ้เท่งให้ดูก่อนว่าผ่านหรือไม่ แต่หลังจากนั้นก็กลายเป็นว่า

“ขอเพียงให้ได้เผยแพร่โดยไม่เลือกศิษย์ และพ่อก็ได้ถ่ายทอดวิชาจนถึงวาระสุดท้ายของพ่อ”

อาจารย์วาที กล่าวถึงการแสดงหนังตะลุงให้ฟังว่า การแสดงแต่ละโชว์ในสมัยก่อนใช้เวลาถึง 5-8 ชั่วโมง มีคณะหนังตะลุงในสมัยนั้นถึง 500 คณะ แต่เป็นที่นิยมไม่ถึง 10 % โดยการแสดงแต่ละครั้งต้องมีความร่วมมือจากคนหลายคนและมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งนายหนัง นักดนตรี เครื่องดนตรี ฉากประกอบ บทกลอนและมุกตลกต่างๆ สิ่งสำคัญ คือรูปหนัง ตัวหนังตะลุงที่นายหนังใช้เชิด ซึ่งมีหลายประเภท และมีการลำดับความสำคัญต่างกัน อีกทั้งมีเอกลักษณ์และจุดเด่นที่ต่างกันด้วย

“บทตลก คือเสน่ห์ของหนังตะลุง ยิ่งเรื่องราวมีสีสันมากก็ยิ่งสร้างความประทับใจให้คนดู โดยส่วนใหญ่จะหยิบยกเอาประเด็นสังคมในช่วงเวลานั้นๆ มาแสดง ทั้งเรื่องการเมือง ข่าวสารบ้านเมือง เรื่องราวความบันเทิงที่เป็นจุดสนใจ  โดยจะมีการสอดแทรกด้วยการเสียดสีผ่านการแสดงให้เข้าใจง่าย นายหนังตะลุงคนไหนมีลูกเล่นแพรวพราว ก็จะเป็นที่จดจำและมุกตลกนั้นๆ ก็จะถูกนำไปเล่าขานไม่รู้จบ”

เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงของ “หนังตะลุง” จากอดีตจนถึงปัจจุบัน อาจารย์วาทีกล่าวว่า ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของรูปหนังที่มีการเเต่งกายตามเเฟชั่นสมัยใหม่ เช่น รูปหนังมีการใส่ชุดเอวลอย ใส่สายเดี่ยวได้ เปลี่ยนตามเนื้อเรื่อง

และการเปลี่ยนเเปลงอีกอย่างคือเรื่องดนตรี จากในอดีตมีการใช้ดนตรีเครื่องห้า สมัยนี้มีการนำดนตรีสากลมาประยุกต์เข้ากับดนตรีเครื่องห้า เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนเเปลง ส่วนมุกตลกและบทกลอนก็เปลี่ยนไปตามกระแสสถานการณ์

สำหรับพิพิธภัณฑ์ บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน จัดแสดงรูปหนังตะลุงภาคใต้ที่มีอายุกว่า 100 ปี รวมถึงรูปหนังตะลุงจากภูมิภาคอื่นๆของไทย และรูปหนังนานาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตรูปหนังคุณภาพส่งออกขายไปยังต่างประเทศ  จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านที่หาชมได้ยาก พร้อมกันนั้นผู้เข้าชมยังจะได้ดูการสาธิตการแกะตัวหนังตะลุง ดูการเล่นหนังตะลุงแบบใกล้ชิดอีกด้วย

โดยเคยได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมเเละโบราณสถานดีเด่น ปี 2539 เเละรางวัลเเหล่งท่องเที่ยวนันทนาการเพื่อการเรียนรู้ ปี 2553

“เราอยู่ในอาชีพการสอน (เป็นอาจารย์ที่ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช) จึงอยากปรับบ้านให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้วย เป็นที่บ่มเพาะความรู้หนังตะลุง ด้วยการทำพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต และสอนให้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย อยากทำให้เป็นวิทยาทาน เพื่ออุดมการณ์ของพ่อ…

…ยิ่งทำยิ่งจน (หัวเราะ) ผมว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้มีความหลากหลายในหน้าที่การงาน นอกเหนือจากการสอนในมหาวิทยาลัย พ่อสอนเสมอว่าถ้าทำงานเพื่ออุทิศ สิ้นชีวิตชื่อก็ยังอยู่ ผมอยากสืบสานให้หนังตะลุงคงอยู่”

อาจารย์วาที กล่าวอีกว่า การอนุรักษ์หนังตะลุงต่อไป จะมีความร่วมมือ 3 ส่วน คือจากฝั่งทายาท ศิลปินในตระกูลหนังตะลุง ซึ่งมีการอนุรักษ์อยางต่อเนื่องอยู่เเล้ว ส่วนที่สองคือสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่เผยเเพร่ความรู้ เเละสามคือการอนุรักษ์โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจ

“การต่อยอดรุ่นต่อรุ่น ในตอนนี้ไม่มีปัญหา หนังตะลุงไม่ตายเเน่นอน …เยาวชนผู้สืบสานรุ่นใหม่เกิดขึ้นเยอะ เเละจะพัฒนาไปได้เรื่อยๆ”

สำหรับใครที่สนใจเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน” สามารถเดินทางโดยรถยนต์ผ่านสนามหน้าเมืองมุ่งหน้าไปวัดพระธาตุวรมหาวิหาร ผ่านศาลากลางจังหวัด หอนาฬิกา โดยสังเกตไฟกระพริบเลี้ยวซ้ายเข้าซอยพานยม จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามถนนศรีธรรมโศก เข้าสู่ซอยศรีธรรมโศก3 พิพิธภัณฑ์จะอยู่ด้านขวามือ หรือใช้บริการรถสองแถวสายหัวถนน-สนามกีฬาแล้วลงหน้าซอยพานยมเดินทางต่อไปประมาณ 5 นาที เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 09.00 น.- 17.00 น. เข้าชมฟรีทุกวัน ติดต่อโทร. 075-346-394