นาซาสนใจ “เกาะเกิดใหม่” หวังใช้ศึกษาดาวอังคาร

ภาพ-NASA-Damien Grouille/Cecile Sabau

“ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาปาย” เกาะเกิดใหม่จากการระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำเมื่อ 3 ปีก่อน ในพื้นที่ทะเลนอกชายฝั่งราชอาณาจักรตองกา มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ หลังจากที่พ่นเถ้าถ่านขึ้นสูงถึง 9,100 เมตร เกาะแห่งนี้ผ่านการเปลี่ยนแปลงหลากหลายในช่วงแรกเกิด จนหลายคนคิดว่าคงหายไปกับกระแสน้ำในอีกไม่นาน อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกาที่ติดตามวิวัฒนาการของเกาะแห่งนี้มาโดยตลอด เชื่อว่ามันจะยังคงต่อไปได้อีกหลายปี

นาซาให้ความสนใจเกาะเล็กๆ ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 120 เมตร แห่งนี้ด้วยสาเหตุหลายประการ ที่สำคัญที่สุดก็คือ “ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาปาย” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าฮุงกา ฮาปาย นั้นเป็นเกาะที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟเป็นครั้งแรกในยุคที่มีดาวเทียมใช้ในการตรวจสอบวิวัฒนาการได้แล้ว

นอกจากนั้น เจมส์ การ์วิน นักวิทยาศาสตร์ของนาซา ยังระบุด้วยว่า การศึกษารายละเอียดของ ฮุงกา ฮาปาย อาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำความเข้าใจถึงบทบาทของน้ำบนพื้นผิวของดาวอังคารว่าส่งผลกระทบต่อแผ่นดินขนาดเล็กที่ก่อตัวขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟอย่างไรในยุคเริ่มแรกของดาวอังคาร ซึ่งได้ทิ้งร่องรอยให้พบเห็นอยู่เยอะมากบนพื้นผิวดาวอังคารในตอนนี้ แผ่นดินขนาดย่อมเหล่านั้น ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการก่อตัวขึ้นของสิ่งมีชีวิต เพราะมีสภาพอบอุ่น เค็ม และเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน เปลี่ยนแปลงไม่หยุดหย่อน

จากการเฝ้าติดตามของนาซาผ่านดาวเทียม พบว่าในช่วง 6 เดือนแรกที่กำเนิดขึ้นมา “ฮุงกา ฮาปาย” ไม่มีเสถียรภาพเลย ลักษณะของมันเปลี่ยนชนิดวันต่อวัน ขนาดหดเล็กลงจนทีมเฝ้าสังเกตคาดว่าคงหายไปในไม่นาน แต่เมื่อน้ำเค็มทำปฏิกิริยากับเถ้าถ่านได้เต็มที่ เนื้อดินของเกาะก็แน่นขึ้นและคงสภาพมั่นคงในที่สุด

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซาตั้งเป้าศึกษาเรียนรู้องค์ประกอบทางเคมีที่ชัดเจนที่ช่วยให้เกาะแห่งนี้รวมทั้งอาณาบริเวณโดยรอบแน่นหนามั่นคงสามารถต้านทานการกัดกร่อนได้ต่อไป

นักวิทยาศาสตร์ของนาซาประเมินว่า “ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาปาย” น่าจะอยู่ได้ระหว่าง 6-30 ปี

 

ที่มา มติชนออนไลน์