“บางแสน21 ฮาล์ฟมาราธอน 2018” งานวิ่งมาตรฐานระดับโลก IAAF Bronze Label นักวิ่งระดับโลกตบเท้าร่วมทำลายสถิติคับคั่ง

“บางแสน21 ฮาล์ฟมาราธอน 2018” สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการวิ่งไทย ในฐานะงานแรกและงานเดียวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก IAAF Bronze Label Road Race โดยในปีนี้มีนักวิ่งเข้าร่วมงานกว่า 15,000 คน พร้อมนักวิ่งชั้นนำ(Elite Runners) ระดับโลกร่วมแข่งขันสร้างสถิติใหม่คับคั่ง

งานวิ่งไทยมาตรฐานโลก IAAF แห่งแรกและแห่งเดียวของไทย

นายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และในฐานะผู้อำนวยการจัดการแข่งขัน (Race Director) เปิดเผยว่า รู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จของงานวิ่ง “บางแสน 21 ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน IAAF Bronze Label ซึ่งเป็นผลจากความตั้งใจและความพยายามของคณะผู้จัดทุกฝ่ายที่ต้องการผลักดันให้งานวิ่งของไทยก้าวไกลไปสู่มาตรฐานโลก ได้สำเร็จเป็นงานแรกและงานเดียวของไทยจากสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ  (International Association of Athletics Federations ) หรือ IAAF ที่มีการรับรองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา  โดยเป็นสนามที่ 2 ของอาเซียน โดยทั่วโลกมีการจัดงานวิ่งเป็นแสนงาน แต่มีงานที่ได้รับการรับรองจาก IAAF เพียง 114 แห่งเท่านั้น

“ดังนั้น งานวิ่ง “บางแสน 21” จึงถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการวิ่งไทย ที่มีการจัดงานตามมาตรฐานระดับสากลตามข้อกำหนดของ IAAF  ไม่ว่าจะเป็น การได้รับการรับรองมาตรฐานระยะวิ่งจาก IAAF และสมาคมมาราธอนและการแข่งขันระยะไกลนานาชาติ (AIMS) เรียบร้อยแล้ว ได้รับการรับรองการจัดการแข่งขันจากสหพันธ์กรีฑาแห่งเอเชีย (AAA) และสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (AAT)  การปิดการจราจร 100% ตลอดการแข่งขัน มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน มีจุดบริการน้ำ เครื่องดื่มเกลือแร่ ขนม ผลไม้ ทุกๆ 2 กิโลเมตร และมีระบบการตัดตัวนักวิ่ง (Cut-off) นอกจากนี้ยังมีการทำประกันอุบัติเหตุ วงเงินรักษาพยาบาล 100,000 บาทให้กับนักวิ่งทุกคน รวมถึงมีการสุ่มตรวจการใช้สารกระตุ้น (Anti-Doping) เป็นต้น”

ใบเบิกทางให้เมืองไทยก้าวไปสู่ Sport Tourism

สิ่งที่เห็นได้ชัดจากงานวิ่งบางแสน 21 ครั้งนี้ บรรยากาศในพื้นที่คึกคักมาก ทั้งร้านอาหารและโรงแรมต่างๆเต็มทุกที่ นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม (นายกตุ้ย)  นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี  กล่าวว่า การได้รับการรับรองมาตรฐาน IAAF Bronze Label จะทำให้สนามนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์และเป็นใบเบิกทางที่ดี ให้กับประเทศไทยที่จะก้าวไปสู่การเป็นเมือง Sport Tourism ให้นักวิ่งทั่วโลกรู้จักและอยากมาวิ่งที่เมืองไทยให้เป็นสนามที่สำคัญของการแข่งขันมาราธอนเเหมือนสนามระดับเมเจอร์ เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะไปถึงจุดนั้นได้ เพราะเรามีข้อได้เปรียบทั้งเรื่องอากาศที่สามารถแข่งขันได้ตลอดทั้งปี

“เชื่อว่าจะเป็นอีกแนวทางสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี เพราะงานวิ่งใหญ่ๆระดับโลกแต่ละงานมีเงินหมุนเวียนหลายพันล้านบาท ที่สำคัญมากกว่านั้น เราหวังให้งานวิ่งที่เราจัดเป็นการส่งความสุขและสร้างพลังและแรงบันดาลใจให้กับคนที่เข้าร่วมกิจกรรมรวมถึงผู้ติดตามเพื่อที่จะนำสปิริตมาราธอนที่ต้องมีความพากเพียรพยายามและอดทนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อพัฒนาตนเองและประเทศชาติต่อไปได้” นายณรงค์ชัย กล่าว

เตรียมพร้อมแพทย์ฉุกเฉินมาตรฐานโลก

หนึ่งในข้อกำหนดสำคัญสำหรับงานวิ่งที่ได้มาตรฐานจาก IAAF จะต้องเป็นงานวิ่งที่มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ทันสมัยและสามารถเข้าช่วยผู้บาดเจ็บได้ทันท่วงที ในเรื่องนี้ ดร.นพ.เกษม ใช้คล่องกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ในฐานะผู้อำนวยการด้านการแพทย์ (Medical Director) งานวิ่งบางแสน21 ฮาล์ฟมาราธอน 2018  เปิดเผยว่า ทางทีมแพทย์มีการเตรียมพร้อมสำหรับงานนี้อย่างเต็มที่ โดยได้จัดเตรียมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ชีพฉุกเฉิน อาสาสมัครทีมนักกายภาพบำบัด และแพทย์แผนไทย รวมกว่า 300 คน ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่ทาง IAAF ระบุไว้

นอกจากนี้ยังมีจุดบริการทางการแพทย์หลักทุก 4 กิโลเมตร และจุดปฐมพยาบาลทุก 2 กิโลเมตร รถพยาบาลและรถกู้ภัยฉุกเฉินจำนวน 10 คัน จากโรงพยาบาลชั้นนำ และทีมกู้ภัยหลายแห่ง เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด นั่นคือ หุ่นยนต์ปั๊มหัวใจอัตโนมัติ หรือ LUCAS เพื่อสแตนบายในงานบางแสน21ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถปั๊มหัวใจได้ทุกที่ทุกเวลา และทางทีมแพทย์ได้มีบริการตรวจคลื่นหัวใจสำหรับกลุ่มเสี่ยงฟรี และได้จัดเตรียม โรงพยาบาลเคลื่อนที่ (Medical Center) สามารถให้บริการทางการแพทย์เช่นเดียวกับเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่รอไม่ได้ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลในลำดับต่อไป ซึ่งนับเป็นการจัดเตรียมบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับโลก

ใช้เทคโนโลยี Big Data/AI ดันบางแสน 21 เป็นงานวิ่งที่ไฮเทคที่สุด

จุดเด่นอีกด้านของงานบางแสน 21 คือ มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการจัดการบริหารงานวิ่ง ซึ่งเป็นงานที่มีผู้ร่วมงานจำนวนมากกว่า 15,000 คน  ด้วยการใช้ Big Data/AI เข้ามาช่วย ตั้งแต่การรับสมัครจนถึงการเข้าเส้นชัย ที่ใช้ระบบดิจิทัลทั้งหมด

ดร.บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไทยดอทรัน จำกัด และเป็นผู้เชี่ยวชาญการประมวลหาภาพด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Image processing)  เปิดเผยว่า ไทยรันได้สร้าง Technology FaceX โดยแบ่งเป็น Face ID ซึ่งเป็นระบบจดจำใบหน้า เพื่อเพื่อช่วยในการตรวจสอบยืนยันตัวบุคคลของนักวิ่ง า โดยประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการใช้ระบบ Face ID แบบครบวงจรแบบนี้ ซึ่งนักวิ่งทุกคนลงทะเบียนผ่าน BIB ที่มีการจดใบหน้า ทำให้การ Check in เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพียงแค่เดินผ่านกล้องและระบบสแกน QR quote เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการบันทึกสถิติและประวัติทางการแพทย์ของนักวิ่ง เพื่อที่ในกรณีได้รับบาดเจ็บก็สามารถช่วยเหลืออย่างถูกต้องทันท่วงที นอกจากนี้ยังสร้าง ระบบ Face Search ซึ่งเป็น  ระบบการค้นหารูปถ่ายด้วยรูปภาพใบหน้าของนักวิ่ง และหมายเลข BIB ผ่าน https://photo.thai.run/ ซึ่งเป็นเหมือน Photo Stock ของสังคมนักวิ่ง  เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้นักวิ่งสามารถหารูปของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

นักวิ่งระดับโลกร่วมชิงชัยคับคั่ง

ทั้งนี้ไฮไลท์สำคัญของงานบางแสน 21 คือ การเปิดตัวนักวิ่งระดับโลก (Elite Runners) จาก 6 ประเทศ คือ เคนย่า มองโกเลีย โรมาเนีย ยูเครน ยูกันดา และจีน ที่มีสถิติการวิ่งระดับ Silver และ Gold มาร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก อาทิ เช่น  Robert Wambua MBITHI (ชาย) จากเคนย่า (สถิติฮาล์ฟมาราธอน 1:01:00 ชม.) Ben SIWA (ชาย) จากยูกันดา (สถิติฮาล์ฟมาราธอน 1:01:56 ชม.) และ Chemtai RIONOTUKEI (หญิง) จาก เคนย่า (สถิติฮาล์ฟมาราธอน 1:12:47 ชม.)

นอกจากนี้ยังมีดาวรุ่งทีมชาติไทยอาทิ เช่น  โทนี่ เพนย์ (ชาย) (เจ้าของสถิติมาราธอนประเทศไทย 2:16:56 ชม.)  สัญชัย นามเขต (ชาย) (สถิติฮาล์ฟมาราธอน 1:07:50 ชม.) และ เจน วงศ์วรโชติ (หญิง) (เจ้าของสถิติฮาล์ฟมาราธอนหญิงประเทศไทย 1:15:24 ชม.) เป็นต้น ที่ตั้งเป้ามาร่วมทำลายสถิติประเทศไทยในครั้งนี้ด้วย โดยบริษัท ไทยดอทรัน จำกัด  Innovation Partner ของงานวิ่ง บางแสน21ได้ตั้งรางวัลโบนัส สำหรับนักวิ่งไทยที่สามารถทำลายสถิติฮาล์ฟมาราธอนประเทศไทยได้ในครั้งนี้ ด้วยเงินรางวัล สูงถึง 100,000 บาท

นักวิ่งไทยสุดปลื้ม ได้วิ่งเคียงบ่าเคียงไหล่นักวิ่งระดับโลกในสนามของไทย

ขณะเดียวกันงานบางแสน 21 ยังเป็นการรวมตัวกันของนักวิ่งระดับแนวหน้าทีมชาติของไทย ทั้ง  เจน วงศ์วรโชติ นักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย และ โทนี่ เพนย์ นักวิ่งหนุ่มลูกครึ่งไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งทั้งสองคนอยู่ในระหว่างการฝึกซ้อมเพื่อเก็บตัวลงแข่งทัวร์นาเมนท์สำคัญในปปีหน้า เมื่อได้ทราบข่าวว่าประเทศไทยมีสนามที่ได้รับมาตรฐานโลกจาก IAAF และสามารถนำสถิติจากงานนี้ไปยื่นในการแข่งขันอื่นๆได้  ต่างบินตรงจากแคมป์ฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมงานดังกล่าวทันที

โดย เจน เปิดเผยว่า รู้สึกภูมิใจที่ประเทศไทยมีสนามวิ่งที่ได้มาตรฐานโลก เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้คนได้เข้าถึงสนามมาตรฐานโลก โดยไม่ต้องเดินทางไปเก็บสถิติถึงต่างประเทศแต่สามารถวิ่งที่นี่ได้เลย

โทนี่ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้ร่วมงานนี้เชื่อว่านักวิ่งทุกคนที่เข้าร่วมงานนี้ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อที่จะได้เวลาที่ดีที่สุด เชื่อว่าบรรยากาศในการแข่งขันจะมีแรงผลักดันจากนักวิ่งแนวหน้าของโลกที่มารวมตัวกันในงานนี้น่าจะช่วยให้ทำเวลาที่ดีได้

ขณะที่ ณัฐวุฒิ – ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม สองพี่น้องฝาแฝด กล่าวว่า รู้สึกดีใจได้ร่วมงานนี้ เพราะเป็นงานที่มีนักวิ่งระดับโลกมาร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งแม้ว่าเราสองคนอาจจะอายุน้อยที่สุด แต่ไม่รู้สึกกดดันเป็นแรงผลักดันมากกว่าว่าสักวันเราจะไปถึงจุดนั้นได้

สัญชัย นามเขต กล่าวว่า รู้สึกดีใจแทนนักวิ่งคนไทยทุกคนที่ได้เข้าร่วมงานบางแสน 21 ซึ่งถือว่าเป็นงานวิ่งระดับโลกงานแรกของไทย  เพราะจะเป็นโอกาสที่ทุกคนจะได้วิ่งเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักวิ่งระดับโลก

นักวิ่งปอดเหล็กจากเคนยา กวาดแชมป์บางแสน 21

ทั้งนี้บรรรยากาศการแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอนบางแสน 21 เป็นไปอย่างสนุกสนาน  โดยทางผู้จัดงานได้มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันซึ่งมีกองเชียร์ร่วมลุ้นจำนวนมาก  โดยเฉพาะการวิ่งของกลุ่ม Elite Runners ซึ่งวิ่งนำมาโดยตลอด ไฮไลท์ของการแข่งขัน ประเภททั่วไป (โอเวอร์ออล) ชาย จามิน อีกาย เอ็นเกาคอม ปอดเหล็กจาก เคนย่า วิ่งเข้ามาเป็นคนแรก ด้วยเวลา 1.04.55 ชม. คว้าแชมป์ไปครอง รวมถึงอันดับที่ 2 และ 3 จากเคนย่า เช่นกัน ด้วยสถิติ 1.05.06 ชม. และ  1.05.59 ชม. ตามลำดับ

เซอร์ไพรส์ “บิ๊ก” ณัฐวุฒิ ครูพละหนุ่ม ทำลายสถิติ 12 ปีฮาล์ฟมาราธอนของไทย

อย่างไรก็ตามในประเภททั่วไป (โอเวอร์ออล) ชาย มีนักวิ่งไทยเกาะกลุ่มเข้ามาด้วยคือ “บิ๊ก” ณัฐวุฒิ อินนุ่ม นับเป็นคนไทยที่ทำเวลาได้ดีที่สุด วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 8 ของโอเวอร์ออล ชาย ด้วยเวลา 1.07.17 ชม. ทำลายสถิติฮาล์ฟมาราธอน ประเทศไทย ในรอบ 12 ปี ของ บุญถึง ศรีสังข์ ปอดเหล็กทีมชาติไทย ที่เคยทำไว้ 1.07.35 ชม. ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ปี 2549 โดย บริษัท ไทยดอทรัน จำกัด Innovation Partner ของงานวิ่ง บางแสน21 ได้มอบรางวัลโบนัส 100,000 บาท ให้แก่ ณัฐวุฒิ ด้วย

โดย “บิ๊ก”  ณัฐวุฒิ เปิดเผยว่า ดีใจมากที่สามารถทำลายสถิติได้สำเร็จ ก่อนการแข่งขันจะเริ่ม ไม่ได้คาดหวังว่าจะทำได้ เนื่องจากทำงานประจำเป็นครูสอนพลศึกษา ไม่มีเวลาซ้อมเต็มที่ แต่หาเวลาซ้อมยามว่างช่วงเช้าและเย็นเท่านั้น   อย่างไรก็ตามในช่วง 3-4 กิโลเมตรสุดท้าย วิ่งคู่มากับนักวิ่งเคนย่า ซึ่งเขามีส่วนสำคัญมาก ช่วยกระตุ้นตนตลอด ทำให้ตนวิ่งตามเขาทัน เหมือนช่วยดึงเราไปด้วย กระทั่งทำลายสถิติได้สำเร็จ

สำหรับประวัติเบื้องต้นของ  “บิ๊ก” ณัฐวุฒิ อินนุ่ม เป็นพี่น้องฝาแฝด คู่กับ เบล  ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม อายุ 24 ปี โดยทั้งคู่เริ่มวิ่งมาราธอนมานานกว่า 9 ปี ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษา โดยการผลักดันจากคุณครูในโรงเรียนให้สองพี่น้องฝาแฝดร่วมวิ่งด้วยกันและทำเวลาได้ดีมาตลอด ปัจจุบันทั้งคู่เป็นครูสอนพละศึกษา ในระดับประถมศึกษา ในจังหวัดชลบุรี

เตรียมยื่นขอ IAAF Silver Label ดันเป็นงานวิ่งระดับท็อปเอเชีย

ด้านฝ่ายจัดการแข่งขันสุดปลื้มการกระแสตอบรับจากนักวิ่งและคนในพื้นที่ เตรียมยื่นสหพันธ์กรีฑานานาชาติ เสนอพิจารณายกระดับมาตรฐานเป็นงานวิ่งระดับ IAAF  Silver Label ต่อไป

โดย นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม  กล่าวว่า การจัดวิ่ง บางแสน 21 ครั้งนี้พิเศษกว่าทุกปี เนื่องจากเป็นการฉลอง รางวัล ไอเอเอเอฟ บรอนซ์ เลเบล (IAAF Bronze Label) ที่เพิ่งจะได้มาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยปีนี้มีการพัฒนาหลายๆด้าน ทั้งสถานที่ บุคลากร รวมถึงมีการเชิญนักวิ่ง ระดับ Silver และ Gold มาร่วมแข่งขัน และหลังจบงานนี้ ทางฝ่ายจัดการแข่งขันเตรียมจะเสนอขอรางวัล ไอเอเอเอฟ ซิลเวอร์ เลเบล (IAAF Silver Label) ต่อไป

นายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และในฐานะผู้อำนวยการจัดการแข่งขัน (Race Director) กล่าวว่า เชื่อว่าหากไทยได้ Silver Label น่าจะทำให้ทั้งโลกจับตามองประเทศไทย ในฐานะที่วงการวิ่งทั่วโลกกำลังบูม และประเทศไทยมีองค์ความรู้ในการยกระดับงานวิ่งไทยให้เทียบเท่างานวิ่งระดับโลกในเวลาอันสั้น เพราะในระดับ  Bronze Lable เราใช้เวลาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นใช้เวลาอย่างน้อย 7 ปี และหากเราสามารถทำ Silver Label ในปีถัดไปได้ เชื่อว่าวงการวิ่งของโลกจะมองประเทศไทยเป็นซูเปอร์สตาร์และมองเห็นประเทศไทยเป็นสนามใหม่ที่อยากจะมาร่วมวิ่งสักครั้งของชีวิต และเราจะพยายามไปถึง IAAF Gold Label ในอีก 4 ปีข้างให้สำเร็จ เพื่อให้งานวิ่งไทยเป็นระดับท็อปของเอเชียและของโลกต่อไป