ภาคเอกชน-ภาครัฐขยับ ปรับแนวคิดสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ชาวประมงกำลังทอดแหเพื่อจับสัตว์น้ำ ในทะเลสาปดัล (Dal Lake) โดยมีวิวพระอาทิตย์ตกอยู่เบื้องหลัง ภาพถ่าย ณ เมืองศรีนคร รัฐจัมมูและแคชเมียร์
ชาวประมงกำลังทอดแหเพื่อจับสัตว์น้ำ ในทะเลสาปดัล (Dal Lake) ในเมืองศรีนคร รัฐจัมมูและแคชเมียร์ Photo by TAUSEEF MUSTAFA / AFP

ททท.เผยนักท่องเที่ยวสนใจประเด็นความยั่งยืนมากขึ้น เตรียมขับเคลื่อนผู้ประกอบการโอบรับแนวคิดสีเขียว ด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวขยับ ผสานแนวคิดภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทายหลังยุคโควิด

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลของ ททท. พบว่า นักท่องเที่ยวจากตลาดยุโรปให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดย ททท.ได้ทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

หนึ่งในแผนงานของ ททท. ที่เตรียมขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว คือ มุ่งเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เพิ่มความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเตรียมพิจารณาเพิ่มเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการ ในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขาย อาทิ Roadshow, Tradeshow

โดยผู้ประกอบการต้องมีโปรแกรมการจัดการอย่างยั่งยืนในทรัพย์สิน โครงการด้าน CSR, BCG หรือได้รับใบรับรองหรือรางวัลอย่างน้อยหนึ่งรายการ เช่น Green Hotel, Green Leaf Hotel, No Single Use Plastic Hotel, Thailand Tourism Awards เป็นต้น อีกทั้งเตรียมส่งเสริมสินค้าและบริการท่องเที่ยว Responsible Tourism Product ผ่านการจัดกิจกรรม FAM Trip

ฝั่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้พยายามส่งเสริมประเด็นความยั่งยืนของการท่องเที่ยวหลังยุคโควิด และมีแผนหาพื้นที่นำร่องส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน (Low Carbon) ในประเทศไทย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการศึกษานำร่องพื้นที่ท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ในพื้นที่เขาหลัก และเกาะคอเขา จังหวัดพังงา ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญในการปรับใช้แนวคิดเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) คือ ต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ ชาวบ้านในพื้นที่มีความคิดไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนความคืบหน้าล่าสุด องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ได้มีการพูดคุยกับทางพื้นที่แล้ว คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในปี 2566

ด้านผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เข้าร่วมงานประชุม Phuket Hotels for Islands Sustaining Tourism หรือ PHIST ครั้งที่ 5 งานประชุมด้านการท่องเที่ยวและการบริการอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน พร้อมหารือการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว และแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในปัจจุบัน

นายบิล บาร์เน็ต (Bill Barnett) กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์ โฮเทล เวิร์คส์ (C9 Hotelworks) กล่าวว่า ฟอรั่ม PHIST 5 ในปีนี้ มุ่งเน้นและเจาะลึกถึงแนวโน้มที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอโซลูชั่นการดำเนินงานให้กับเจ้าของโรงแรมและเจ้าของธุรกิจที่ใช้งานได้จริงในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ และพิสูจน์ให้เห็นถึงอนาคตในอีกหลายปีข้างหน้า

นางสาวโฮป อุย (Hope Uy) กรรมการผู้จัดการ เซาท์ ปาล์ม รีสอร์ท ปางเลา ฟิลิปปินส์ ระบุว่า เกาะต่าง ๆ เช่น ปางเลาและภูเก็ต ต่างรู้สึกถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่รุนแรงกว่าจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำจืด การกำจัดของเสีย การฟอกสีปะการัง ทางออกเดียวที่ยั่งยืนคือการทำงานร่วมกันกับชุมชนและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

ภายในงาน PHIST 5 มีกิจกรรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการมากมายที่จัดขึ้นในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การเงินสีเขียวสำหรับโรงแรม โรงแรมที่ไม่มีขยะ วัสดุเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การท่องเที่ยวชุมชน การดำเนินงานของโรงแรมอย่างยั่งยืน การฟื้นฟูมหาสมุทร

“การพัฒนาสู่ความยั่งยืนอาจเห็นผลในระยะยาว แต่ผู้ประกอบการและทุก ๆ คน ต้องเรียนรู้และเข้าใจแนวคิดดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด” นายบียอร์น คอราจ นายกสมาคมโรงแรมภูเก็ต กล่าวทิ้งท้าย