
เปิดงบฯทำมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย 5 ปี 135 ล้าน ททท.เผยสร้างอิมแพ็กต์ปีละ 200 ล้าน ยกระดับมาตรฐานอาหารไทย กระจายรายได้ซัพพลายเชนด้านอาหาร
วันที่ 6 เมษายน 2566 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า การจัดทำคู่มือ “มิชลิน ไกด์” ประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโต อีกทั้งยังเพิ่มคุณค่าให้กับประสบการณ์การท่องเที่ยวโดยรวม ซึ่ง “อาหาร” มีอิทธิพลที่ช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเยือนประเทศไทย
เผยมิชลิน ไกด์ สร้างรายได้ 200 ล้าน
ข้อมูลจาก ททท.พบว่า ผลที่ได้รับจากโครงการมิชลินไกด์ไทยแลนด์ (ผู้ประกอบการร้านอาหารมิชลินในประเทศไทย) สามารถสรุปได้ดังนี้
การเพิ่มขี้นของรายได้และจำนวนลูกค้าของร้านอาหาร
ผู้ประกอบการระบุว่า รายได้เพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงตั้งแต่ ร้อยละ 10-200 โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 30-40 นอกจากนี้ บางร้านก็มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว เช่น ร้าน PRU จากเดิมก่อนได้รางวัลมีลูกค้าน้อยมาก แต่หลังได้รับรางวัลมีการจองคิวเต็มหลายเดือนล่วงหน้า
การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างลูกค้าร้านอาหาร
จำนวนของลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยพบว่าวัยของลูกค้ามีความหลากหลายมากขึ้นเปลี่ยนไปจากเดิม และร้านที่อยู่ในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะเห็นการเพิ่มขึ้นของลูกค้าชาวต่างชาติอย่างชัดเจน
ในขณะที่ร้านที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ถึงแม้การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอาจไม่มากนัก แต่สามารถสังเกตเห็นถึงการเพิ่มขึ้นของลูกค้าคนไทยกลุ่มใหม่ ๆ ซึ่งมักเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ
ส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านอาหารในหลากหลายระดับ
ในมุมของร้านอาหาร การมีมาตรฐานมิชลิน ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจร้านค้ามากขึ้น พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ของจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สำรวจ ว่าเป็นจังหวัดที่มีอาหารอร่อย และอาจมีวัตถุดิบ-เมนูอื่นที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก
กระจายรายได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง
การที่ร้านอาหารมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น ผู้จัดหาวัตถุดิบให้ร้านค้า เกษตรกร ชาวประมง ผู้เลี้ยงสัตว์ ช่วยกระจายรายได้ให้คนในชุมชน ขณะที่ร้านค้าบริเวณใกล้เคียงได้รับประโยชน์จากการที่ลูกค้ามาทานอาหารบริเวณนั้นมากขึ้น
นอกจากนี้ ประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อได้ลองรับประทานอาหารมิชลินมีแนวโน้มบอกต่อราว 98% และมีแนวโน้มออกเดินทางเพื่อไปรับประทานอาหารร้านอื่นต่อ 94% สร้างรายส่วนเพิ่มเฉลี่ยต่อคนต่อทริปจากการรับประทานอาหาร 325 บาท และรายได้ส่วนเพิ่มสำหรับค่าใช้จ่ายด้านอาหารจากการดำเนินโครงการ Michelin Guide Thailand ปี 2565 ประมาณ 223.34 ล้านบาท
ทุ่ม 100 ล้าน สัญญา “มิชลิน” 5 ปี
นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง ททท.และมิชลิน ไกด์ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านอาหารแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อีกทั้งยังช่วยยกระดับมาตรฐานอาหารไทย ให้ทัดเทียมกับมาตรฐานระดับโลก
“ไม่นานมานี้ เราได้เพิ่มมิชลิน ไกด์ ภาคอีสาน ซึ่งครอบคลุม 4 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี และนครราชสีมา แม้ว่าจะยังไม่มีร้านอาหารใดได้รับดาวมิชลิน แต่ก็มีร้านอาหารจำนวนมากที่ได้รับการจัดอันดับเป็นร้านบิบกูร์มองต์ และในอนาคตก็อาจมีร้านอาหารที่ได้ดาวมิชลินก็ได้” นายฉัททันต์กล่าว
ส่วนการเพิ่มพื้นที่สำรวจร้านอาหารของทีมงานมิชลินนั้น ทาง ททท.สามารถเสนอไปยังมิชลินได้ทุกปี ซึ่งกระบวนการจะอยู่ที่การพิจารณา และจำนวนผู้ตรวจสอบของทางมิชลิน
ทั้งนี้ ททท.ได้ทำสัญญาระยะยาว 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2569 กับบริษัท Michelin Travel Partner France วงเงิน 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 135,300,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 USD=33 บาท) ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายสัญญาฉบับปัจจุบัน มีจำนวนเท่ากับสัญญาฉบับก่อนหน้า ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ปี 2560-2564