คอลัมน์ : สัมภาษณ์
ใกล้เป็นรูปเป็นร่างแล้วสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่มีกำหนดเปิดประชุมสภาและเลือกประธานสภาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งคาดการณ์กันว่าประเทศไทยน่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566
คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในหลายภาคส่วนเริ่มทำการบ้านและขยับตัวตามไทม์ไลน์ของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เช่นกัน เพราะยังเชื่อมั่นเหมือนเดิมว่าการท่องเที่ยวคือ “เครื่องยนต์” หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
“สุรวัช อัครวรมาศ” รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ในฐานะผู้คลุกคลีในวงการท่องเที่ยวมากกว่า 30 ปี ถึงประเด็นที่อยากนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่ เพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาจัดทำแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศต่อไป ดังนี้
“สุรวัช” บอกว่า ส่วนตัวยังยืนยันว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาได้เร็วและดีที่สุด เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกเซ็กเมนต์
ดังนั้น ในโอกาสที่ประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารเร็ว ๆ นี้ จึงขอนำเสนอแนวคิดที่มองว่าเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต และอยากให้รัฐบาลนำข้อเสนอนี้ไปกำหนดในแผนยุทธศาสตร์ใหญ่สำหรับขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของประเทศใน 9 ประเด็นหลัก
ชงมี พ.ร.บ.ดูแลความปลอดภัย
ประกอบด้วย ประเด็น 1 มีพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายใหม่อีก 1 ฉบับสำหรับให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ใช้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการควบคุมมาตรฐานสินค้าและบริการที่ให้บริการนักท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยว รถ เรือ ร้านอาหาร ฯลฯ หรือซัพพลายไซด์ทั้งหมด โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นที่ตั้ง
เนื่องจากงานด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวมีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ควบคุมดูแลได้เพียงแค่บริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปควบคุมดูแลหรือตรวจจับในเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยได้
ยกตัวอย่างเช่น รถตู้ 4 ล้อทั่วไป กรมการขนส่งฯระบุที่นั่งไว้ 12 ที่นั่ง แต่หากนำมาใช้สำหรับรับนักท่องเที่ยวที่นั่งต้องไม่เกิน 8 ที่นั่ง เนื่องจากรถตู้รับนักท่องเที่ยวมีสัมภาระที่ต้องขนด้วย หรือกรณีของเครื่องเล่นที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอื่น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็ต้องมีอำนาจในการควบคุมดูแลมาตรฐานความปลอดภัยได้ด้วย เป็นต้น
“วันนี้หลายประเด็นไม่ชัดเจน เช่น เครื่องเล่นซิปไลน์, ดำน้ำ และกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ของหน่วยงานอื่น ให้อยู่ภายใต้การดูแลของ พ.ร.บ. ใหม่นี้ด้วย สินค้าและบริการใดไม่ผ่าน พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้”
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็ต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานในรูปแบบของการให้สิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ เช่น มาตรการด้านภาษี การส่งเสริมด้านการตลาด ฯลฯ เนื่องจากการทำมาตรฐานมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
แก้ “ระบบภาษี” บริษัทนำเที่ยว
ประเด็น 2 แก้ไขระบบภาษีของบริษัทนำเที่ยวที่ดี โดยรัฐบาลควรยกเว้นภาษีแวต หรือให้บริษัทนำเที่ยวเคลมแวตคืนได้เช่นเดียวกับธุรกิจส่งออก เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเตอร์ที่ดึงเงินเข้าประเทศเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และมีระบบบัญชีที่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
“บทบาทของบริษัทนำเที่ยวเป็นเพียงตัวกลาง หรือเป็นนายหน้าให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว เงินที่นักท่องเที่ยวซื้อแพ็กเกจทัวร์จะถูกกระจายไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ที่พัก, ร้านอาหาร, รถนำเที่ยว ฯลฯ เหลือเป็นรายได้เพียงแค่ประมาณ 5-8% เท่านั้น ไม่ใช่รายได้จากยอดขายที่เข้ามาทั้งหมด”
รวมถึงแก้ไข พ.ร.บ.นำเที่ยว เพราะปัจจุบันการจดทะเบียนเปิด-ปิดบริษัทนำเที่ยวง่ายเกินไป โดยในบางประเทศที่ทำกันอยู่จะระบุให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้จัดการบริษัทต้องมีประสบการณ์ในด้านการท่องเที่ยว เช่น เป็นมัคคุเทศก์มาไม่ต่ำกว่า 3 ปี หรือหากเป็นผู้ที่เคยอยู่ในองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต้องมีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือกำหนดให้ 1 คนจดทะเบียนเปิดบริษัทได้ 1 บริษัท เป็นต้น
“ทุกวันนี้นอมินีเต็มตลาดไปหมด ประเด็นนี้จะทำให้เราควบคุมและป้องกันธุรกิจที่เป็นนอมินีได้ แน่นอนว่าในระยะแรกอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการบ้าง แต่มั่นใจว่าจะเป็นผลต่อดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระยะยาว”
เร่งตั้ง “กองทุนท่องเที่ยว”
ประเด็น 3 จัดตั้งกองทุนเพื่อการท่องเที่ยว และรีบดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมท่องเที่ยว หรือที่สังคมเรียกว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ให้เร็วที่สุด เพื่อนำมาดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเงินที่ได้จากการจัดเก็บส่วนหนึ่งต้องนำไปซื้อประกันชีวิตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติตามข้อบังคับของกฎหมาย
แต่ส่วนตัวอยากเสนอให้กองทุนบริหารจัดการเรื่องการดูแลนักท่องเที่ยวเอง ไม่ต้องซื้อประกัน แต่กองทุนจะทำหน้าที่ดูแลแทนบริษัทประกันเหมือนตอนที่เรายังมีกองทุนเยียวยานักท่องเที่ยว
และเพื่อนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บไปดูแลสถานที่ท่องเที่ยว พัฒนาบุคลากร พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หรือจัดสรรส่วนหนึ่งไว้สำหรับเป็นกองทุนให้คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกู้ยืมได้ด้วย
หนุนใช้ “เทคโนโลยี-บิ๊กดาด้า”
ประเด็น 4 ส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและข้อมูล (บิ๊กดาต้า) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศมีระบบจัดเก็บข้อมูลและบริหารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
เช่น การใช้แอปพลิชั่นเข้ามาช่วยบริหารจัดการ และมาควบคุมมาตรฐานการทำงานของภาคท่องเที่ยว รวมถึงความปลอดภัย
“วันนี้ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวถือเป็นหัวใจสำคัญที่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญและต้องลงทุน เพราะที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่ทำแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น”
“ส่งเสริม-พัฒนา” แรงงาน
ประเด็น 5 ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงมีมาตรการดึงดูดแรงงานเข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว เริ่มตั้งแต่การศึกษาในระดับมัธยมฯ อาชีวศึกษา และระดับปริญญาตรี
มีนโยบายฝึกอบรมที่ชัดเจน มีสถานศึกษาที่ดีรองรับการฝึกงาน รวมถึงสนับสนุนทุนการศึกษา และในกรณีที่แรงงานไม่พอ ควรอนุญาตให้เปิดรับแรงงานจากต่างชาติเข้ามาเสริมได้ในบางตำแหน่งงาน
สร้าง Home Port รับ “ครูซ”
ประเด็น 6 ลงทุนสร้างท่าเรือหลัก หรือ home port ท่าเรือเริ่มต้นขนาดใหญ่รองรับการท่องเที่ยวทางเรือครูซที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยยังไม่มี และปัจจุบันในภูมิภาคอาเซียนมี home port เพียงแค่ 2 แห่งคือ สิงคโปร์และฮ่องกงเท่านั้น
“บ้านเรายังมีแค่ท่าจอดเรือยอชต์ ส่วนเรือครูซมีเพียงท่าเรือแวะพัก หรือที่เรียกว่า port of call เท่านั้น ยังไม่มีท่าเรือเริ่มต้นสำหรับครูซ ผมจึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุน”
ขณะเดียวกัน สถานศึกษาก็ต้องมีหลักสูตรสำหรับรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวทางเรือด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญด้านภาษา และหลักสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวโดยตรง
ลงทุน Man-Made Attraction
ประเด็น 7 สนับสนุนการลงทุนแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ดัดแปลงหรือสร้างขึ้น (man-made attraction) โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน อาทิ สวนสนุก สถานบันเทิง ฯลฯ เนื่องจากปัจจุบันจุดขายหลักของการท่องเที่ยวไทยคือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นหลัก
ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย สามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
“ส่วนหนึ่งคือการดึงมาจากต่างประเทศ อีกส่วนหนึ่งคือสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อเป็นแม็กเนตดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับโลกได้มากขึ้น”
หนุนเปิด “กาสิโน” ในประเทศ
ประเด็น 8 สนับสนุนให้มีการลงทุนในธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ขนาดใหญ่ หรือกาสิโน สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวนี้จะเข้ามาช่วยสร้างความเจริญในพื้นที่ที่มีการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการกระจายรายได้
“ต้องยอมรับว่าวันนี้ประเทศเพื่อนบ้านเราเปิดกันหมดแล้ว ก็น่าจะถึงเวลาที่บ้านเราควรเปิดแล้วโดยให้เอกชนลงทุนแล้วรัฐบาลลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ได้”
“สุรวัช” บอกว่า สำหรับพื้นที่ที่เหมาะกับการลงทุนนั้นส่วนตัวมองว่าควรเปิดคือจังหวัดเมืองรอง เพื่อกระจายความเจริญ และกระจายนักท่องเที่ยวและกระจายรายได้ออกไปสู่เมืองรองให้มากขึ้น เช่น ภาคอีส่าน ภาคเหนือ เป็นต้น
เชื่อมโยงการตลาดทุกกระทรวง
“สุรวัช” บอกอีกว่า สำหรับประเด็น 9 จะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการตลาด โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และทุกกระทรวงที่มีภารกิจด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงภาคเอกชน ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการอย่างแท้จริง
เช่น เชื่อมโยงกับภาคการเกษตร ภาคชุมชน กีฬา ฯลฯ และสนับสนุนให้ใช้ชุมชนเป็นสถานที่จัดประชุมสัมมนา
รวมถึงผลักดันการท่องเที่ยวเชิงปริมาณ ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวทั่วโลกมีหลายเซ็กเมนต์ เช่นเดียวกับซัพพลายไซด์ของประเทศก็มีหลากหลายเซ็กเมนต์เช่นกัน
ที่สำคัญ รัฐบาลควรให้การสนับสนุนในด้านเงินทุน เนื่องจาก “คนท่องเที่ยว” คือตัวกลางในการสร้างรายได้เข้าประเทศ และเพื่อทำให้ “การท่องเที่ยว” ตอบโจทย์ในด้านการกระจายรายได้ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง