คลังหนุน “การบินไทย” เปิดเส้นทาง “ตุรกี-ยุโรปตะวันออก” เพิ่มโอกาสท่องเที่ยวไทย

การบินไทย

คลังชี้กรณี “การบินไทย” จับมือ “เตอร์กิชแอร์ไลน์” เปิดเส้นทางบินใหม่สู่ตลาด “ตุรกี-กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก” ช่วยเพิ่มโอกาสส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย

วันที่ 8 สิงหาคม 2566 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากการแถลงข่าวของบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ที่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ระหว่างบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) และเตอร์กิชแอร์ไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมการทำธุรกิจแบบ Joint Venture ของทั้ง 2 สายการบิน

รวมทั้งบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) จะเริ่มให้บริการเที่ยวบินไปยังนครอิสตันบูลในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ในฐานะสายการบินที่เป็นประตูสู่ประเทศไทยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและออสเตรเลีย และจะเป็นการเปิดประตูไปสู่ประเทศตุรกี กลุ่มประเทศที่มีอาณาเขตติดกับตุรกี กลุ่มประเทศแอฟริกา และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก

ทั้งนี้ เมื่อประกอบกับการประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 29.5 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ 1.25 ล้านล้านบาท

โดยในช่วงที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจีนค่อนข้างมาก ซึ่งหากนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้เดินทางมาประเทศไทยตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยได้ จึงจำเป็นที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะต้องเร่งหาตลาดใหม่และกระจายฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง

“ดังนั้น การเปิดเส้นทางบินใหม่ของบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ระหว่างกรุงเทพฯ และนครอิสตันบูล จะมีส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งการกระจายฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เนื่องจากนครอิสตันบูลตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระหว่างเอเชียและยุโรป ซึ่งการเดินทางระหว่างกันของประชาชนทั้ง 2 ประเทศมีความสะดวก เนื่องจากได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศ ถ้าพำนักอยู่ในประเทศนั้น ๆ ไม่เกิน 30 วัน”

อีกทั้งสนามบินของนครอิสตันบูลจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางไปยังตลาดใหม่ ๆ ของประเทศที่มีอาณาเขตเชื่อมโยงกับตุรกี เช่น กรีซ จอร์เจีย บัลแกเรีย อาเซอร์ไบจาน กลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก และกลุ่มประเทศแอฟริกาอีกด้วย

โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยและตุรกี (ประชากร 85 ล้านคน และมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 906 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน 2566) มีนักท่องเที่ยวจากประเทศตุรกี กลุ่มประเทศที่มีชายแดนติดกับตุรกี กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก และกลุ่มประเทศแอฟริกาเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 1.04 ล้านคน ขยายตัวกว่าร้อยละ 711.62 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมั่นใจว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยจะยังคงมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยจากการอันดับของสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard Economics Institute) เปิดเผยว่า

ในปี 2566 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยมของเอเชีย-แปซิฟิกที่นักท่องเที่ยวต้องการมาเยือนและพักแรมมากที่สุด ซึ่งการเปิดเส้นทางบินใหม่ของบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ระหว่างกรุงเทพฯและนครอิสตันบูล จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้สร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศตุรกีและประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มยุโรปตะวันออก รวมทั้งประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามต่อไป