กรมการท่องเที่ยวปักหมุดไทยขึ้น 1 ใน 5 ปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวมุสลิม

นทท.มุสลิม

“กรมการท่องเที่ยว” เปิดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีพัฒนานักท่องเที่ยวมุสลิม มุ่งเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง หลังฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย พร้อมยกระดับผู้ประกอบการไทย หวังปักหมุดไทยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวมุสลิมภายในปี 2570

นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมทั่วโลกเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 10 ของนักเดินทางทั้งหมด มีความต้องการเฉพาะ เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตของประชากรสูง และมีข้อกำหนดคล้ายคลึงกัน คือ ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการเดินทางที่แตกต่างกันไป ตามอายุ เพศ และวัตถุประสงค์ของการเดินทาง กรมการท่องเที่ยวจึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา และเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ รวมถึงศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันฮาลาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมการค้า การท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน จัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม ระยะ 5 ปี (2566-2570)

ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การยกระดับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อเข้าสู่มาตรฐาน 2.การพัฒนาสินค้า บริการ และกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิม 3.สนับสนุนการนำเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมุสลิม 4.บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม และ 5.เพิ่มโอกาสทางการตลาด และสร้างการรับรู้ความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม

จาตุรนต์ ภักดีวานิช
จาตุรนต์ ภักดีวานิช

ทั้งนี้ เพื่อเป็นทิศทางในการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะ 5 ปี สร้างเอกภาพและความร่วมมือในการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ และกระบวนการผลิตสินค้าและบริการตลอดห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และยกระดับการเข้าสู่มาตรฐานการบริการสำหรับกลุ่มตลาดนี้โดยเฉพาะ

นายจาตุรนต์กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์สำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมดังกล่าวนี้เป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันอย่างยั่งยืนของรัฐบาล โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต ประกอบกับที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผลมาจากการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีปี 2565 
ที่ผ่านมา

โดยก่อนโควิด-19 ประเทศไทยได้จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว
มุสลิม ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก โดยในช่วงปี 2560-2562 มีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 875,043 คน 767,318 คน และ 727,318 คน ตามลำดับ สร้างรายได้ 72,739.64 ล้านบาท 61,795.44 ล้านบาท และ 57,381.19 ล้านบาท ตามลำดับ

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมโลก อยู่ในอันดับที่ 4 ของประเทศที่ไม่ใช่รัฐอิสลาม (กลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม หรือ Non-OIC) โดยประเทศ 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ อังกฤษ และไต้หวัน

นอกจากนี้ยังพบว่า นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจากตะวันออกกลาง รวมทั้งจากประเทศมุสลิมและประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญต่อประเทศจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ทั่วโลก

“ในปี 2561 นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมมีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวทั่วโลกประมาณ 1.89 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.87 ล้านล้านบาท และคาดว่าภายในปี 2567 จะใช้จ่ายสูงถึง 2.74 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.51 ล้านล้านบาท”

นายจาตุรนต์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจากตะวันออกกลางนั้นพบว่า ประเทศที่เติบโตที่สำคัญที่สุด คือ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เลบานอน และคูเวต โดยพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมในประเทศไทยมีแรงจูงใจหลายประการ เช่น ต้องการพักผ่อนและสัมผัสสถานที่ใหม่ ๆ หลีกหนีจากความร้อนในฤดูร้อน

อยากเรียนรู้และสัมผัสวัฒนธรรมใหม่ ชอบการจับจ่ายซื้อสินค้า ฯลฯ รวมถึงชอบรับประทานอาหารไทย นิยมเลือกโรงแรมมากกว่าที่พักอื่น ๆ “เราได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 5 ของจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมภายในปี 2570” นายจาตุรนต์กล่าว