นกแอร์ เสี่ยงดีเลย์ถึงมกราคม 2567 เหตุยังนำเครื่องที่ซ่อมกลับมาบินไม่ได้

เครื่องบินสายการบินนกแอร์จอดอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง

นกแอร์เสี่ยงดีเลย์-ยกเลิกเที่ยวบิน ธันวาคมนี้-มกราคม 2567 เหตุอากาศยานไม่เพียงพอ ยังนำเครื่องที่ซ่อมกลับมาบินตามแผนไม่ได้ สั่งแก้ปัญหา ให้ส่งต่อผู้โดยสารไปสายการบินอื่น ๆ

วันที่ 27 ธันวาคม 2566 รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เปิดเผยว่า CAAT ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอากาศยานไม่เพียงพอต่อการให้บริการของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ประจำสัปดาห์ที่ 5 เดือนธันวาคม 2566

จากกรณีผู้โดยสารสายการบินนกแอร์ยังคงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเวลาทำการบิน เที่ยวบินล่าช้า และถูกยกเลิกเที่ยวบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ในฐานะหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุม และส่งเสริมการดำเนินงานของกิจการการบินพลเรือนให้เป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรฐานสากล จึงเชิญบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมประชุมเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566

โดยการประชุมดังกล่าว พบว่าในเดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนมกราคม 2567 บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ยังไม่สามารถนำอากาศยานที่ซ่อมบำรุงกลับมาทำการบินได้ตามแผน ส่งผลให้แต่ละวันอาจเกิดปัญหาเที่ยวบินล่าช้าสะสม และต้องทำการยกเลิกเที่ยวบินในบางเส้นทาง เนื่องจากอากาศยานไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติการบิน

CAAT เน้นย้ำให้บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เร่งแก้ไขปัญหาใน 3 ระยะ ดังนี้

1.การแก้ไขปัญหาระยะสั้น : ในกรณีที่อากาศยานไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติการบิน CAAT ให้บริษัทเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินแก่ผู้โดยสาร โดยการส่งต่อผู้โดยสารไปยังสายการบินอื่น ๆ เพื่อลดปัญหาผู้โดยสารตกค้าง และให้บริษัทดูแลอากาศยานที่ปฏิบัติการบินอยู่ให้มีสภาพพร้อมปฏิบัติการบินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับช่วงที่มีความต้องการเดินทางสูง

รวมถึงเน้นย้ำให้บริษัทดูแลสิทธิของผู้โดยสารอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการคืนค่าโดยสารที่ต้องดำเนินการภายใต้กรอบเวลาตามกฎหมาย และต้องหลีกเลี่ยงการยกเลิกเที่ยวบินแบบกะทันหัน นอกจากนี้ ต้องแจ้งผู้โดยสารให้ทราบกรณีมีการเปลี่ยนแปลงเวลาเที่ยวบิน หรือยกเลิกเที่ยวบินโดยเร็วที่สุด

2.การแก้ไขปัญหาระยะกลาง : CAAT เน้นย้ำให้บริษัทเร่งติดตามอากาศยานที่อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงให้กลับมาปฏิบัติการบินได้ตามแผน โดยฝ่ายสมควรเดินอากาศและวิศวกรรมการบิน และฝ่ายมาตรฐานปฏิบัติการบิน CAAT พร้อมดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยด้านการบิน เพื่อให้บริษัทสามารถนำอากาศยานกลับมาให้บริการโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ CAAT ได้เน้นย้ำให้บริษัทซ่อมบำรุงอากาศยานตามข้อกำหนดความปลอดภัยของบริษัทและเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด

3.การแก้ไขปัญหาระยะยาว : บริษัทได้ส่งแผนจัดหาอากาศยานมาให้บริการเพิ่มเติมแล้ว ซึ่ง CAAT กำลังดำเนินการพิจารณา เพื่อให้สายการบินสามารถจัดหาอากาศยานมาให้บริการได้ทันต่อความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร

โดย CAAT เน้นย้ำให้จัดหาอากาศยานที่มีความเหมาะสมเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ทั้งนี้ CAAT จะดำเนินการตรวจสอบความพร้อมและจำนวนของอากาศยานที่สามารถให้บริการได้จริงรวมถึงนำข้อมูลเที่ยวบินล่าช้าที่เกิดขึ้นมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการจัดสรรเวลาการบิน (Slot) ก่อนการอนุญาตการบินในฤดูกาลต่อไป เพื่อลดโอกาสการเกิดผลกระทบต่อผู้โดยสารเนื่องจากอากาศยานไม่เพียงพอ