“การบินไทย” หนุนฮับการบิน ยกระดับ A320 สู่ฟูลเซอร์วิส

การบินไทย

หลังประกาศปิดตำนาน “ไทยสมายล์” พร้อมโอนเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำเข้าฝูงบินของการบินไทยตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคาดว่าจะเรียบร้อยทั้งหมดในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ล่าสุด “การบินไทย” ทุ่มจัดงาน “Smoother Connection…Broader Network” ONE THAI > ONE FLY เพื่อตอกย้ำว่านับจากนี้เป็นต้นไป การบินไทยจะทำการบินภายใต้แบรนด์ “THAI” และรหัส TG เพียงแบรนด์เดียว ทั้งเส้นทางบินระหว่างประเทศและเส้นทางบินภายในประเทศ และเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางบินอย่างไร้รอยต่อ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

เสริมแกร่งเครือข่ายการบิน

“ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการบินไทย ระบุว่า ในเชิงกลยุทธ์แล้วเครื่องบิน A320 จำนวน 20 ลำดังกล่าวที่รับมอบเข้าสู่ฝูงบินของการบินไทย จะทำให้การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องบินแบบลำตัวแคบ จากเดิมที่มีเฉพาะเครื่องแบบลำตัวกว้างเท่านั้น รวมทั้งทำให้การบินไทยแข็งแกร่งและสร้างสีสันมากขึ้นใน 3 ประเด็นใหญ่

ประกอบด้วย 1.มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเส้นทางบินและเครื่องบินมากขึ้น 2.เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานเครื่องบินมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเครื่องบิน A320 ที่เคยทำการบินโดยไทยสมายล์มีจำนวนใช้งานเฉลี่ยประมาณ 9 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อนำมาเขย่ารวมกันจะทำให้จำนวนการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10-11 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของการใช้เครื่องบินลดลง และ 3.การต่อเชื่อมผู้โดยสารจากทั่วโลกภายใต้เครือข่ายของการบินไทย รวมถึงสายการบินพันธมิตรที่ขนผู้โดยสารเข้าสู่กรุงเทพฯ

ชาย เอี่ยมศิริ
ชาย เอี่ยมศิริ

หนุน กทม.ฮับการบิน

เรียกว่า นอกจากการบินไทยจะบริหารจัดการเครื่องบินได้แบบยืดหยุ่นขึ้นแล้ว ยังมีจำนวนที่นั่งรองรับความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสารมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะจากการจำหน่ายบัตรโดยสารในรูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายเที่ยวบิน หรือ Network Sale รวมไปถึงยังมีประสิทธิภาพการแข่งขันด้านการบริหารจัดการต้นทุนด้วย

และย้ำว่า ทั้ง 3 ประเด็นนี้จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ในอนาคตอันใกล้ของ “การบินไทย” ที่พยายามจะทำให้เป็นสายการบินที่มีเน็ตเวิร์กเพียงพอกับการสนับสนุนให้กรุงเทพฯ โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็น “ฮับการบิน” ตามนโยบายรัฐบาล

เขย่าสลอตบินเชื่อมใน-ตปท.

ขณะเดียวกันการบินไทยยังมีแผนบริหารตารางบิน หรือสลอตเวลาให้สามารถเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างเส้นทางบินระหว่างประเทศและเส้นทางบินภายในประเทศให้มีเวลาน้อยที่สุด และกำหนดสลอตการบินระหว่างวันของเส้นทางบินภายในประเทศให้สามารถรองรับกับสลอตการบินของสายการบินไทยและสายการบินพันธมิตร

เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารจากทั่วโลกได้รับความสะดวกในการเดินทางต่อเครื่องเส้นทางภายในประเทศ โดยการบินไทยจะทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนอย่างใกล้ชิด ทั้งบริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) สำนักงานการบินพลเรือน ฯลฯ

อัพเกรด A320 สู่ฟูลเซอร์วิส

“กรกฏ ชาตะสิงห์” ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์การบินไทย เสริมว่า ปัจจุบันเครื่องบิน A320 ที่ได้รับการโอนย้ายมาจากไทยสมายล์นั้น บริษัทได้นำไปปฏิบัติการการบิน เส้นทางภายในประเทศ 8 เส้นทาง ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น กระบี่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ (สงขลา)

เส้นทางในกลุ่มประเทศ CLMV 4 ประเทศ ได้แก่ พนมเปญ และเสียมราฐ (กัมพูชา) เวียงจันทน์ (ลาว) ย่างกุ้ง (พม่า) โฮจิมินห์ และฮานอย (เวียดนาม) และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อาทิ ปีนัง (มาเลเซีย) กาฐมาณฑุ (เนปาล) โคลอมโบ (ศรีลังกา เริ่ม 31 มีนาคม 2567) และเกาสง (ไต้หวัน) เป็นต้น

ปัจจุบันแบ่งรูปแบบการให้บริการเป็น 2 รูปแบบ คือ ชั้นประหยัด (Economy) และอีโคโนมีพลัส (Economy Plus) โดยชั้นอีโคโนมีพลัส จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป (จำหน่ายตั๋วโดยสารแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง)

จากนั้นการบินไทยจะปรับปรุงที่นั่งบนเครื่อง A320 ให้มีที่นั่งแบบชั้นธุรกิจ (Royal Silk Class) แทนการเว้นที่นั่งตรงกลางแบบเดิม จำนวน 12 ที่นั่ง และ Economy Class 144 ที่นั่ง รวม 156 ที่นั่ง

พร้อมติดตั้งระบบ Wireless IFE เพื่อให้บริการสื่อสาระบันเทิงบนเครื่องบิน (In-flight Entertainment) โดยผู้โดยสารสามารถนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัว อาทิ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเลต มาเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อรับชมสาระความบันเทิงได้ตามต้องการ

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานของโปรดักต์และบริการของเครื่อง A320 ให้เป็น “ฟูลเซอร์วิส” เทียบชั้นและเป็นมาตรฐานเดียวกับเครื่องลำตัวกว้างของการบินไทย

เร่งหาเครื่องใหม่เสริมฝูงบิน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของอุตสาหกรรมการบินในขณะนี้คือ ความสามารถในการจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินให้สอดคล้องกับความต้องการการเดินทางของตลาด

ประเด็นนี้ซีอีโอการบินไทยบอกว่า ปีนี้การบินไทยมีฝูงบินการบินรวม 79 ลำ (รวม A320) โดยในแผนระยะสั้นนั้นจะทยอยรับมอบเครื่องบินใหม่เข้ามาอีก 26 ลำ ในจำนวนนี้จะรับมอบในปี 2568 จำนวน 8 ลำ ทั้งรุ่นลำตัวกว้าง 14 ลำ และรุ่นลำตัวแคบ

“ปัญหาใหญ่ทุกสายการบินตอนนี้คือ เครื่องบินในตลาดไม่เพียงพอ อย่างการบินไทยเองก็มีเครื่องบินที่ทยอยหมดสัญญาเช่าไปเรื่อย ๆ ถ้าการบินไทยเองไม่จัดหาเพิ่ม อีก 8-9 ปีเราจะเหลือเครื่องบินเพียงแค่ 51 ลำ”

นั่นหมายความว่า หากจะให้มีฝูงบินจำนวน 79 ลำเท่าวันนี้ การบินไทยต้องเร่งจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมถึง 28 ลำ ขณะที่ในช่วง 3 ปีนี้ในตลาดไม่มีเครื่องบินออกมาเลย ใครที่สั่งจองไปยังต้องรอการส่งมอบ 3-4 ปี

เป้าหมายในวันนี้ของการบินไทยจึงไม่ใช่แค่การมุ่งหารายได้ สร้างกำไรเท่านั้น แต่ยังต้องไปแย่งชิงเพื่อจัดหาเครื่องบินมาเสริมฝูงบินในระยะยาวเพื่อขยายเครือข่ายการบินให้ครอบคลุมมากที่สุด และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ในอนาคตด้วย