ทอท. มุ่งสู่ Green Airport ตอบโจทย์ Net Zero Carbon

Green Airport

ไม่เพียงแต่การวางแผนขยายศักยภาพ (Capacity) ในการรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตต่อเนื่องในอนาคตเท่านั้น ที่ผ่านมา บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT ยังมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นสนามบินที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Carbon ภายในปี 2570

โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ท่าอากาศยานภายใต้การดูแลทั้ง 6 แห่ง เป็นท่าอากาศยานสากลชั้นนำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเริ่มโครงการพลังงานทดแทนในท่าอากาศยาน โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีปริมาณการใช้ไฟฟ้ามาก

ใช้พลังงานแสงอาทิตย์

“ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้ข้อมูลว่า ทอท.ได้เริ่มโครงการโดยร่วมกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) ดำเนินการโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาอาคารผู้โดยสาร (Solar Rooftop) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 นำไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้หมุนเวียนภายในท่าอากาศยาน

ซึ่งจะเป็นโครงการที่ขับเคลื่อนให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก้าวสู่การเป็นสนามบินต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Airport แห่งแรกในไทย

“ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเรามีแผนว่าจะทำโรงงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โดยใช้พื้นที่หลังคาเทอร์มินอล และพื้นที่ที่เป็นบ่อน้ำ และที่บริเวณข้างรันเวย์ สร้างเป็นจุดกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารวม 60 เมกะวัตต์ (ปัจจุบันได้ 10 เมกะวัตต์) โดยเป้าของเราคือภายใน 4 ปีการใช้พลังงานในช่วงกลางวันทั้งหมดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด”

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์

หากเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย 4 ปี นอกจากจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Airport แล้วยังช่วยให้ท่าอากาศยานแห่งนี้ประหยัดต้นทุนพลังงานได้ประมาณ 20%

“ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเรามีต้นทุนค่าพลังงานอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน ก็จะลดลงประมาณ 20 ล้านบาทต่อเดือน”

หลังจากที่มีปริมาณพลังงานไฟฟ้าเพียงพอสำหรับกลางวันแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ จะขยายเพิ่มอีก โดยอาจกักเก็บพลังงานไว้ในรูปของไฮโดรเจน หรือแบตเตอรี่สำหรับสำรองพลังงานไว้ใช้ในช่วงกลางคืนต่อไป

ครบ 6 สนามบินภายใน 4 ปี

Green Airportสำหรับอีก 5 ท่าอากาศยานที่เหลือนั้น ทอท.ก็มีแผนติดตั้ง Solar Rooftop ในระยะต่อไปเช่นกัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ทั้งในส่วนของหลังคาอาคารผู้โดยสาร บริเวณข้างรันเวย์และบ่อน้ำ ซึ่งเบื้องต้นมีเป้าหมายเดียวกันคือ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดในช่วงเวลากลางวัน

ทั้งนี้การลงทุนจะพิจารณาการติดตั้งตามจำนวนการใช้พลังงานของแต่ละท่าอากาศยาน เช่น ท่าอากาศยานภูเก็ต จำนวน 30 เมกะวัตต์ ท่าอากาศยานดอนเมือง จำนวน 20 เมกะวัตต์ เป็นต้น

โดยภายในระยะเวลา 4 ปีจากนี้ภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.จะต้องใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ทั้งหมด

“เราพยายามที่จะก้าวไปสู่ Net Zero Carbon เพราะเชื่อว่าในอนาคตสนามบินทั่วโลกจะมีมาตรการเรื่อง Net Zero Carbon และการวัดในเรื่องของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งอาจจะไปถึงจุดที่ว่าถ้าสนามบินไหนไม่มีมาตรการที่ดีในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม สายการบินจากยุโรปและอเมริกาอาจจะไม่เลือกบินเข้ามาก็ได้ อันนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารท่าอากาศยานต้องตระหนัก”

โละรถสนามบินเป็นรถไฟฟ้า

นอกจากนี้ ทอท.ยังมีนโยบายเปลี่ยนรถในสนามบินทั้งหมดเป็นระบบยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อไม่ให้เกิดควันเข้าไปยังอาคารผู้โดยสารกรณีที่รถบริการจอดรอผู้โดยสารที่ใช้บัสเกต (Bus Gate)

 

โดยตั้งเป้าว่าภายใน 2 ปีต้องเปลี่ยนรถที่ให้บริการในสนามบินทั้งหมดเป็นยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงรถเมล์ที่มาจอดหน้าอาคารผู้โดยสาร ขสมก.ก็ต้องเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าเช่นกัน

ติดตั้ง EV Charge สุวรรณภูมิ

ล่าสุด ทอท.ได้นำรถแท็กซี่ไฟฟ้ามาให้บริการแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้งได้ติดตั้งสถานี EV Charge สำหรับรถแท็กซี่ไฟฟ้าสมาชิก ณ บริเวณลานจอดรถระยะยาว โซน E ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

“ดร.กีรติ” ระบุว่า ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะเริ่มให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนมาใช้ EV Taxi เพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงแรก ทอท.ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีให้บริการเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สาย โดยการอัดประจุแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charge) ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 40 kW ต่อเครื่อง จำนวน 16 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง สำหรับรองรับการให้บริการแก่รถแท็กซี่ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

ขณะเดียวกันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งเครื่อง DC Fast Charge ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 360 kW ต่อเครื่อง จำนวน 10 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับการให้บริการแก่รถบริการรับ-ส่งผู้โดยสาร (Shuttle Bus) รถบริการสาธารณะ รถส่วนกลาง และรถส่วนงานของ AOT ภายในพื้นที่ Support Facilities บริเวณตรงข้ามศูนย์บริหารการขนส่งสาธารณะ

รวมถึงมีโครงการติดตั้ง EV Charging Station ทั้งในพื้นที่ Airside, Landside และ Custom Free Zone รวม 7 จุด เพื่อรองรับแนวโน้มที่ยานยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยมในวงกว้าง ตามทิศทางที่ทั่วโลกหันมาสนใจการใช้ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดอีกด้วย

“หากมีการเปลี่ยนรถยนต์ที่ให้บริการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้เป็นรถไฟฟ้า (EV) ได้ จะทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50 ล้านตันต่อปี”

โดยย้ำว่า ทอท.ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยขับเคลื่อน “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” สู่การเป็นต้นแบบ Green Airport หรือท่าอากาศยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของไทยและเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน